ESG bond ไทยฮอต ปี64 แห่ระดมทุน 1.53 แสนล้าน

22 ม.ค. 2565 | 05:28 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ม.ค. 2565 | 13:08 น.

ESG bond ไทยฮอต คาดปี 65 เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังปี 64 มียอดคงค้างพุ่ง 2 เท่าตัวจากปีก่อน แตะ 1.53 แสนล้านบาท เผยยังเหลือบจ.ในดัชนีหุ้นยั่งยืนไทยอีกมาก ยังไม่หันมาระดมทุนด้วย ESG bond เชื่อตอบรับดีทั้งผู้ออกและผู้ลงทุน

การเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลให้หลายประเทศตระหนักและ มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงเกิดข้อตกลงระดับโลกในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ซึ่งการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ “COP 26” เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา มีข้อตกลงที่ยังคงพยายามควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มสูงกว่า 1.5 องศาเซลเซียส

 

รัฐบาลและบริษัทเอกชนต่างเร่งลงทุน เพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตเพื่อให้ทันตามข้อตกลงที่ได้ให้ไว้ ทำให้มีความต้องการเงินทุนจำนวนมหาศาล  ซึ่งหนึ่งในแหล่งการระดมทุนที่ได้รับความสนใจก็คือ การออกตราสารหนี้ด้านความยั่งยืน หรือที่เรียกว่า ESG (Environmental, Social and Governance) bond ซึ่งในประเทศไทย จะเห็นการเติบโตอย่างชัดเจน มีการออกจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน นักลงทุนก็ให้การตอบรับอย่างดีเช่นกัน

สำหรับ ESG bond ประกอบด้วยตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) ตราสารหนี้เพื่อพัฒนาสังคม (Social Bond) และตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) โดยในปี 2564 มีการออก ESG bond สูงถึง 152,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 77% จากปี 2563 ที่มีมูลค่าการออกทั้งสิ้น 86,400 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น Green Bond 28,700 ล้านบาท  Social Bond 4,000 ล้านบาทและ Sustainability Bond 120,000 ล้านบาท

ESG bond ไทยฮอต ปี64 แห่ระดมทุน  1.53 แสนล้าน

ในปีที่ผ่านมา กระทรวงการคลังและการเคหะแห่งชาติได้ระดมทุนเพิ่มเพื่อใช้เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ด้วยการออก Sustainability Bond และ Social bond มูลค่ารวม 82,100 ล้านบาท ส่วนในด้านของภาคเอกชนก็มีผู้ออก ESG bond รายใหม่ๆ หันมาระดมทุน เช่น บมจ. บีซีพีจี (BCPG) ออก Green bond มูลค่า 12,000 ล้านบาท บมจ. ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ออก Sustainability bond มูลค่า 6,000 ล้านบาท และ บจ. โตโยต้า ลีสซิ่ง (TLT) ออก Green bond มูลค่า 2,000 ล้านบาท

 ขณะเดียวกันในปี 2564 ยังมี ESG bond ประเภทใหม่ที่เรียกว่า  Sustainability-Linked Bond (SLB) หรือ ตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืนซึ่งมีเงื่อนไขให้ผลตอบแทนขึ้นอยู่กับตัวชี้วัดและเป้าหมายโดยรวมของบริษัทที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยผู้ออกจะกำหนดเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่ต้องการบรรลุผลสำเร็จและเชื่อมโยงความสำเร็จกับการจ่ายอัตราดอกเบี้ย

 

สำหรับผู้ออก SLB รายแรกคือ บมจ. ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) มูลค่ารวม 11,000 ล้านบาทเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขึ้นทะเบียนดัชนีหุ้นยั่งยืนของโลกในส่วนของตลาดหุ้นเกิดใหม่(DJSI Emerging Market) และเพิ่มการตรวจการณ์ด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกหรือ มีผู้สังเกตุการณ์ตรวจสอบบนเรือประมง

 

นับเป็น SLB รุ่นแรกของไทยหลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ประกาศหลักเกณฑ์การออก SLB เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม ตามมาด้วยบมจ. อินโดรามา เวนเจอร์ส เป็นรายที่ 2 ด้วยวงเงิน 10,000 ล้านบาท เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มอัตราการรีไซเคิลขวด PET

 

ทั้งนี้การระบาดของโควิด-19 ในปีนี้ ยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สนับสนุนให้ตลาด ESG bond ในไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากการที่รัฐบาลมีความต้องการระดมทุน เพื่อรับมือและเยียวยาผลกระทบจากโควิด กระทรวงการคลังได้ออก Sustainability Bond มูลค่ารวม 50,000 ล้านบาทในปี 2563 ถือเป็นครั้งแรกของรัฐบาลไทยและยังถือเป็น Sustainability Bond รุ่นแรกในภูมิภาคอาเซียนที่ออกโดยรัฐบาล และได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างล้นหลาม มีความต้องการซื้อเกินกว่าวงเงินประมูลถึง 3 เท่า

 

นอกจากนั้น ยังมีรัฐ วิสาหกิจอีก 2 แห่งคือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรและการเคหะแห่งชาติที่ออก Green bond มูลค่า 6,000 ล้านบาท และ Social bond 6,800 ล้านบาท เมื่อรวมกับการออกของภาคเอกชน คือบมจ.ปตท. บมจ. โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ และ บมจ. ราช กรุ๊ปทำให้ปี 2563 มียอดการออก ESG bond ที่ 86,400 ล้านบาท สูงกว่าปี 2562 เกือบ 3 เท่า

 

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย หรือ ThaiBMA เปิดเผยถึงแนวโน้มการออก ESG bond ในปี 2565 ว่า คาดว่าจะได้รับความสนใจและออกมากกว่าปี 2564 นอกจากจะเป็นไปตามทิศทางของโลกที่พบว่า การระดมทุนด้วย ESG bond จะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนจำนวนมาก

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย

 นอกจากนั้น จากจำนวนบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์(ตลท.)ในดัชนีหุ้นยั่งยืน(SETTHSI)ล่าสุดที่มี 99 บริษัทนั้น มีเพียง 11 บริษัทเท่านั้นที่ระดมทุนด้วยการออก ESG bond ดังนั้นจึงยังมีโอกาสอีกมากที่บริษัทที่เหลือจะหันมาระดมทุนด้วยการออก ESG bond เพราะแนวโน้มทั้งผู้ออกและนักลงทุนต่างตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม สังคมและความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง

 

ก่อนหน้า Krungthai COMPASS ประเมินว่า การระดมทุนด้วย ESG bond ของไทยจะเห็นการเติบโตในทิศทางเดียวกับทั่วโลก ตามการให้ความสำคัญเรื่อง ESG ของภาคเอกชนและแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อน ประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ปี 2564-2569 โดยประเมินว่าจะทำให้เกิดการลงทุนเพิ่มอย่างน้อย 8.2 แสนล้านบาทในช่วง 5 ปีข้างหน้า ขณะที่ฝั่งสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.)เองมีแผนที่จะออก Sustainability Bond ต่อเนื่อง เพื่อให้มียอดเงินคงค้างขั้นต่ำอยู่ในระดับ 1 แสนล้านบาทและยังจะเร่งสนับสนุนให้รัฐวิสาหกิจออก Green Bond และ Social Bond มากขึ้นด้วย

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 1 ฉบับที่ 3,751 วันที่ 23 - 26 มกราคม พ.ศ. 2565