ในขณะที่ประเทศยักษ์ใหญ่ในตะวันออกกลาง พยายามโดดเดี่ยว “กาตาร์” ด้วยการตัดสัมพันธ์ทางการทูต เหตุจากปัญหาด้านความมั่นคง ความคุกรุ่นของสงครามการก่อการร้าย
ทว่า “กาตาร์” ที่ได้รับฉายาว่า “ไข่มุกแห่งเปอร์เซีย” ยังเดินหน้าสร้างความเข้มแข็งในทุกมิติ ปักธงเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจ เพื่อแข่งขันกับ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่มีทั้งกรุงดูไบ และอาบูดาบี
กาตาร์และเมืองหลวงโดฮา เปิดทุกประตูเชิญนักลงทุนทุ่มประชาสัมพันธ์ดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ พร้อมเสนอตัวจัดอีเวนต์ ใหญ่ระดับโลกอย่างต่อเนื่อง และที่กำลังเตรียมความพร้อมสูงสุดคือ การเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2022
ด้วยการทุ่มทุกสรรพกำลังจากคนในประเทศและว่าจ้างมืออาชีพระดับโลก เพื่อแสดงศักยภาพให้ชาวโลกเห็น นอกจากความฮือฮาในการสร้างสนามฟุตบอลติดระบบปรับอากาศ ต่อสู้กับอุณหภูมิที่ร้อนจัดแล้ว (แต่เห็นว่าจะย้ายการแข่งขันไปจัดช่วงปลายปีที่อากาศเย็นลง) รัฐบาลยังตั้งเป้าหมายนำรถยนต์ไร้คนขับออกมาให้บริการในปีเดียวกันนี้
กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของกาตาร์ (Qatar Investment Authority -QIA) จับมือกับยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมยานยนต์โลก “โฟล์คสวาเกน” จากเยอรมนี เพื่อนำรถโดยสารพลังงานไฟฟ้าแบบไร้คนขับ Level 4 เข้ามาให้บริการภายใต้โครงการ “Project Qatar Mobility”
เป้าหมายของโครงการนี้คือ การพัฒนาระบบขนส่งอัตโนมัติและพลิกโฉมอนาคตของการเดินทาง ด้วยการนำรถบัสและรถโดยสารขับเคลื่อนด้วยระบบอัตโนมัติมาใช้ในเชิงพาณิชย์ในปี 2022 เป็นต้นไป ด้วยความร่วมมือจากหลายพันธมิตรทั้ง โฟล์คสวาเกน คอมเมอร์เชียล วีเคิล, สแกนเนีย, MOIA ผู้พัฒนาบริการด้านการเดินทางในเครือโฟล์คสวาเกน กรุ๊ป ประสานงานกับ AID-Autonomous Intelligent Driving ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการพัฒนายานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติที่จะรวบรวมซอฟต์แวร์ หุ่นยนต์ AI และผู้เชี่ยวชาญด้านยานยนต์จากทั่วโลก เพื่อพัฒนาระบบไร้คนขับ
แน่นอนว่าโครงการนี้จะได้เห็นในการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ซึ่งกาตาร์จะเป็นประเทศแรกในโลกที่ใช้ระบบขนส่งสาธารณะขับเคลื่อนอัตโนมัติด้วยพลังงานไฟฟ้าและปล่อยมลพิษเป็นศูนย์
QIA และโฟล์คสวาเกน จะร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบดิจิทัลที่จำเป็น เพื่อบูรณาการยานพาหนะแบบไร้คนขับเข้ากับเครือข่ายขนส่งสาธารณะที่มีอยู่เดิมในโดฮา โดยรถพลังงานไฟฟ้าของโฟล์คสวาเกนรุ่น ID. BUZZ AD สามารถรับส่งผู้โดยสารสูงสุด 4 คนในย่านเวสต์เบย์ในรูปแบบกึ่งประจำทาง ส่วนรถบัสของสแกนเนียจะรองรับผู้โดยสารได้มากกว่า
โครงการนี้จะสร้างระบบนิเวศแบบองค์รวม เพื่อรองรับยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ รวมถึงการสร้างกรอบกฎหมายที่เหมาะสม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเมืองอัจฉริยะ และการส่งผ่านองค์ความรู้ ซึ่งสามารถใช้เป็นแม่แบบในการพลิกโฉมการเดินทางในเมืองทั้งในกาตาร์และประเทศอื่นๆ ในโลก ขณะที่การทดสอบรูปแบบปิดจะเริ่มปี 2020 จากนั้นถึงจะพร้อมให้บริการจริงปี 2022
“เพื่อความก้าวหน้าของเมืองต่างๆ เราจำเป็นต้องอาศัยนวัตกรรมใหม่ๆ โดยเทคโนโลยีการขนส่ง AI ที่ปราศจากมลพิษจะช่วยพัฒนาการเดินทางในเมือง แก้ปัญหารถติด และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และเชื่อมั่นว่ากาตาร์จะเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีใหม่ การพัฒนาโซลูชันการขนส่งอัจฉริยะจะช่วยพลิกโฉมอนาคตของการเดินทางในเมือง ทั้งในประเทศกาตาร์และทั่วโลก” นายมานซูร์ อัล มาห์มูดซีอีโอของ QIA กล่าว
สำหรับ โฟล์คสวาเกน คอมเมอร์เชียล วีเคิล เป็นแบรนด์ในเครือโฟล์คสวาเกน กรุ๊ป มีหน้าที่พัฒนา ผลิต และจำหน่ายยานพาหนะเพื่อการพาณิชย์ขนาดเล็ก รวมถึงรุ่น Transporter, Caddy และ Amarok ที่ผลิตในเมืองฮันโนเวอร์ (เยอรมนี), ปอซนาน (โปแลนด์), เชชเนีย (โปแลนด์) และปาเชโก (อาร์เจนตินา) มียอดขายรวมประมาณ 500,000 คันต่อปี
หน้า 28-29 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจปีที่ 39 ฉบับที่ 3,534 วันที่ 26 - 28 ธันวาคม พ.ศ. 2562