จี้รัฐบาลหนุน EV ลดหย่อนภาษีคนซื้อ - ขึ้นทางด่วนฟรี

14 ก.ค. 2563 | 00:00 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.ค. 2563 | 08:14 น.

ภาคเอกชนมั่นใจ วิกฤติโควิด-19 จะพลิกโอกาสให้ฐานการผลิตรถยนต์ในไทย พร้อมแจ้งเกิดรถยนต์ไฟฟ้าได้เร็วขึ้น “นิสสัน” เห็นด้วยโครงการนำรถเก่า 20 ปี ไปแลก EV ส่วน EA ขอให้รัฐบาลจูงใจผู้บริโภค ด้วยสิทธิพิเศษเพิ่มเติม เช่น ซื้อแล้วนำไปลดหย่อนภาษีรายปีได้ และลดค่าทางด่วน

ในหลายประเทศที่สนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า เช่น กลุ่มสแกนดิเนเวีย รวมถึง อังกฤษ ฝรั่งเศส เตรียมห้ามขายรถเครื่องยนต์สันดาปภายใน และมุ่งให้เกิดการใช้ อีวี (EV) รถพลังงานไฟฟ้า 100% ภายใน 10-20 ปีข้างหน้า

ขณะที่รัฐบาลไทยตั้งเป้าหมายในปี 2573 กำลังการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า(ปลั๊ก-อินไฮบริด และอีวี) จะต้องเป็นสัดส่วน 30% จากกำลังการผลิตทั้งหมด

แหล่งข่าวจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ในไทย เปิดเผยว่า การผลักดันให้คนใช้รถยนต์ไฟฟ้า นอกจากรัฐบาลไทยจะต้องจูงใจเรื่องราคาขายด้วยการลดภาษีแล้ว ควรอำนวยความสะดวกในการชาร์จไฟฟ้า จุดชาร์จไฟสาธารณะ และอาจจะมีช่องจอดรถพิเศษ หรือให้สิทธิขึ้นทางด่วนฟรี

สอดคล้องกับเมอร์เซเดส-เบนซ์ ที่ยืนยันแผนผลิตอีวีในไทยปี 2564 แต่มีความเห็นว่า โครงสร้างพื้นฐาน สถานีชาร์จไฟฟ้ายังมีน้อยเกินไป จึงเริ่มรณรงค์ให้ผู้คนตระหนักรู้มากขึ้น พร้อมบริจาค Wallbox 100 ชุดให้หน่วยงานรัฐบาล-เอกชน นำไปทำสถานีชาร์จเพิ่มเติม ภายใต้โครงการ “Charge to Change”

จี้รัฐบาลหนุน EV ลดหย่อนภาษีคนซื้อ - ขึ้นทางด่วนฟรี

ล่าสุดในเวทีเสวนาออนไลน์ ที่จัดโดย อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการโปรโมตงาน ASEAN Sustainable Energy Week 2020 ได้ระดมความคิดเห็นของภาคเอกชนบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่มีแนวทางรถยนต์ไฟฟ้าชัดเจนทั้งนิสสัน บีเอ็มดับเบิลยู และ อีเอ (EA) เจ้าของแบรนด์อีวีคนไทย “ไมน์ โมบิลิตี้”

นายกฤษฎา อุตตโมทย์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารกิจการองค์กร บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทยมองว่าโควิด-19 น่า จะมีส่วนเป็นตัวเร่งให้ยานยนต์ ไฟฟ้าเกิดได้เร็วขึ้น เพราะเดิมแต่ละบริษัทผู้ผลิตรถยนต์มีนโยบายเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า และเตรียมจะเปิดตัวรถรุ่นใหม่อยู่แล้ว ซึ่งบีเอ็มดับเบิลยูมองว่าตลาดในกลุ่มรถยนต์ที่ใช้พลังงานสะอาดต้องขับเคลื่อนต่อ แม้ความต้องการของผู้บริโภครถยนต์ในภาพรวมจะลดลงในช่วงนี้ แต่เชื่อว่าการพัฒนาในด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ ยังเป็นที่ต้องการของตลาดที่จะมาพร้อมกับราคาที่สามารถเป็นเจ้าของได้ง่ายขึ้น

ดังนั้น จึงเชื่อว่ายานยนต์ไฟฟ้าอาจจะมาเร็วกว่าแผนที่วางไว้ด้วยซํ้า ด้านแผนการเปิดตัวรถยนต์และเทคโนโลยีใหม่ๆ ยังคงเดินหน้าตามแผนการณ์ที่วางไว้ เช่นการเตรียมเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ในต่างประเทศช่วงปลายปีนี้ BMW iX3 ที่มีฐานการผลิตที่ประเทศจีน และหลังจากนี้ก็จะมีอีกหลายรุ่นที่จะตามมาเรื่อยๆ

นโยบายของภาครัฐมีส่วนในการขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้าอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงความต้องการของตลาดยังไม่นิ่งมากนัก ถ้ามาช่วยกระตุ้นความต้องการของตลาดก็จะช่วยอุตสาหกรรมทั้งหมด สำหรับในช่วงที่ผ่านมา ในนามของสมาคมฯได้เสนอว่า ให้มีสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า ในด้านต่างๆอาทิการพิจารณาลดภาษีราย ได้ส่วนบุคคลสำหรับผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า เพื่อช่วยสนับสนุนให้ผู้บริโภคหันมาใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA เปิดเผยว่า ถ้ารัฐบาลมีแผน-นโยบายชัดเจน อย่างการกระตุ้นให้เกิดความต้องการ ผ่านการมอบผลตอบแทนให้กับผู้บริโภคทั้งทางตรงและทางอ้อม อาทิ การลดราคาค่าทางด่วน การลดภาษี ฯลฯ ก็เชื่อว่าจะเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนรถ

ด้านนิสสัน โดยนายสรรเพชญ ตั้งเสาวภาคย์ รองประธานสายงานวางแผนองค์กรและกลยุทธ์การตลาดและขาย บริษัท นิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า แนวคิดการนำรถเก่าอายุมากกว่า 20 ปีมาเปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้าโดยที่ภาครัฐมีนโยบายสนับสนุน จะเป็นการกระตุ้นอย่างหนึ่ง รวมไปถึงข้อเสนอจากสมาคมฯ 8 ข้อว่า จะมีความชัดเจนอะไรบ้าง และที่สำคัญคือการกระตุ้นเรื่องความต้องการของผู้บริโภค

สำหรับ ASEAN Sustainable Energy Week 2020 เตรียมจัดระหว่าง 23-26 กันยายน 2563 ณ ไบเทค บางนา ซึ่งจะจัด คู่ขนานกับงานของสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) Electric Vehicle Asia และ iEVTech 2020 

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,591 วันที่ 12 - 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2563