MG ZS EV ยอดขาย ทะลุ 1,300 คัน พร้อมดันไทยเป็นฐานการผลิตใหญ่ของภูมิภาค เตรียมขึ้นไลน์ประกอบรถพลังงานไฟฟ้า100% EV ปลายปี 2564 ที่โรงงาน จ.ชลบุรี
นอกจาก MG ZS EV ที่นำเข้ามาจากจีน ภายใต้เขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน ในพิกัดสินค้า รถพลังงานไฟฟ้า 100% ไม่เสียภาษีนำเข้าระหว่างกัน ส่งผลให้เอสยูวีรุ่นนี้ทำราคาได้น่าสนใจที่ 1.19 ล้านบาท จนกวาดยอดขายถล่มถลายแล้ว เอ็มจี ยังมีแผนประกอบ EV รวมถึง รถปลั๊ก-อินไฮบริดในเมืองไทย ตามแพกเกจส่งเสริมการลงทุนที่ได้รับอนุมัติจากบีโอไอ
ถึงวันนี้ MG ZS EV ยอดขาย กว่า 1,300 คัน (นับตั้งแต่เปิดตัวกลางปี 2562 - มิถุนายน 2563) ด้วยราคาที่เข้าถึงง่าย มาพร้อมของแถมอีกเพียบ ทั้งตู้ชาร์จไฟฟ้าที่บ้าน และค่าติดตั้ง ประกันภัยชั้นหนึ่ง มูลค่าร่วมๆ 1 แสนบาท
เอ็มจี แบรนด์อังกฤษทุนจีน (SAIC) เข้ามาดำเนินธุรกิจในไทย 6-7 ปี พยายามหาช่องทางใหม่ๆในตัวสินค้า เพื่อสู้กับแบรนด์ญี่ปุ่นที่ครองตลาดมาเกินครึ่งศตวรรษ ซึ่งที่ผ่านมามีทั้งรถรุ่นที่ประสบความสำเร็จ และรุ่นที่ไม่ค่อยทำยอดขายนัก (เช่น MG 6, MG5, MG GS)
ปี 2562 บริษัท เอ็มจี เซลล์ ประเทศไทย จำกัด ปิดยอดขาย 26,516 คัน โต 11.6 % เมื่อเทียบกับปี 2561 พระเอกของแบรนด์ต้องยกให้ MG ZS 12,943 คัน MG 3 จำนวน 7,763 คัน ส่วน MG ZS EV ขายไป 1,197 คัน
สำหรับปีนี้ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เพิ่งประกาศปรับเป้าหมายการขายใหม่ จากผลกระทบวิกฤติโควิด-19 เดิมที่ตั้งไว้ 4 หมื่นคัน เหลือ 3 หมื่นคัน จากตลาดรวมเกือบ 7 แสนคัน ตั้งเป้าครองส่วนแบ่งการตลาด 4% (ปี 2562 ส่วนแบ่งการตลาด 2.6%)
“คาดว่าตลาดรวมปีนี้จะตก 30% เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่ทำได้ 1 ล้านคัน ถือว่าดีกว่าตอนแรกที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัส ซึ่งประเมินกันว่ามีโอกาสตกไปถึง 40% ดังนั้นยอดขายรวมทุกยี่ห้อปีนี้ อาจจะถึง 7 แสนคัน ภายใต้เงื่อนไขไม่เกิดการแพร่ระบาดรอบ2” นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวและว่า
ผ่านครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.63) MG ยอดขาย ทำได้ 1.1 หมื่นคัน ลดลงประมาณ 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ยังมีอัตราส่วนที่ลดลงน้อยกว่าตลาดรวม และเชื่อว่าสถานการณ์ครึ่งปีหลังจะดีขึ้น ขณะเดียวกัน เอ็มจีขายรถในเมืองไทยมา 6 ปี มียอดขายสะสม 8.5 หมื่นคัน ดังนั้นถ้าเป็นไปตามเป้าหมาย สิ้นปีนี้จะมียอดขายรวมถึง 1 แสนคัน
“โควิด-19 ไม่มีผลต่อการแนะนำโปรดักต์ใหม่ลงสู่ตลาด แต่อาจจะติดขัดเรื่องการวิจัยและพัฒนา (R&D) บ้างเล็กน้อย แต่ยืนยันว่าเราจะไม่เลื่อนแผนเปิดตัวรถใหม่ โดยครึ่งปีหลังเตรียมแนะนำรถใหม่อีก 2 รุ่น และปลายปีหน้า 2564 เตรียมขึ้นไลน์ผลิต EV ที่โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์น ซีบอร์ด แห่งที่ 2 จ.ชลบุรี” นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว
เมื่อพิจารณาจากคำยืนยันของผู้บริหารระดับสูง ชัดเจนว่า เอ็มจี ต้องการขับเคลื่อนรถยนต์ไฟฟ้าเต็มที่ และมุ่งให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถพวงมาลัยขวาเพื่อส่งออก โดยคาดว่าหนึ่งในรถยนต์ที่เตรียมเปิดตัวปลายปีนี้ คือ เอ็มจี เอชเอส ปลั๊ก-อินไฮบริด
“ปลายปีนี้เราเตรียมเปิดตัวรถ 2 รุ่นใหม่ ซึ่งความชัดเจนจะแจ้งให้ทราบอีกครั้งในเดือนสิงหาคม แต่ที่บอกได้คือรถ 2 รุ่นนี้ ไม่ได้เป็นรถตลาด ตัวเลขยอดขายอาจจะไม่มาก แต่ทำเพื่อเสริมภาพลักษณ์ของแบรนด์” นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวปิดท้าย
ล่าสุด เพื่อดำเนินตามกลยุทธ์ อีโคโนมีแชร์ริ่ง และการขับเคลื่อนด้วยรถพลังงานทางเลือก พร้อมระบบเชื่อมต่อสื่อสารอัจฉริยะ เอ็มจี พร้อมลุยธุรกิจรถเช่ารูปแบบใหม่ “คาร์แชริ่ง” (Car Sharing) ผ่าน บริษัท เบส ออโต้เซลส์ จำกัด ดีลเลอร์เอ็มจีรายใหญ่ ที่ร่วมกับ “ฮ้อปคาร์” (HAUPCAR)
บริษัท เบส ออโต้เซลส์ จำกัด ส่ง MG ZS EV จำนวน 40 คัน เข้าแพลตฟอร์ม HAUPCAR ผู้ให้บริการคาร์แชริ่งรายแรกๆของเมืองไทย โดยสมัครลงทะเบียน, ทำการจอง, ชำระเงิน เเละปลดล็อกรถ ผ่านแอปพลิเคชัน HAUP บนสมาร์ทโฟน ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถจองได้ทั้งรูปแบบรายชั่วโมง รายวัน และระยะยาวเป็นสัปดาห์
สำหรับผู้ที่สนใจใช้รถยนต์ MG ZS EV ในรูปแบบคาร์แชริ่ง สามารถจองผ่านแอปพลิเคชั่น Haup บนมือถือ หรือติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ www.mgcars.com
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,598 วันที่ 6 - 8 สิงหาคม พ.ศ. 2563
สนใจประกันรถราคาพิเศษ คลิกเลย