เจาะเทรนด์รถยนต์ไฟฟ้าในไทย คาดมาเร็วกว่าที่คิด

07 มี.ค. 2565 | 08:16 น.
อัปเดตล่าสุด :07 มี.ค. 2565 | 15:33 น.

เปิดผลวิจัยรถยนต์ไฟฟ้าในไทย คาดภายใน 1-2 ปีความต้องการรถ EV เพิ่มขึ้น พร้อมแนะผู้ผลิตรถให้ปรับตัวให้ทันกับเทรนด์ หากช้าอาจเสียส่วนแบ่งการตลาด ด้านปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกับการเติบโต ยังคงเป็นโครงสร้างพื้นฐานและการชาร์จไฟ

วิจัยกรุงศรี โดยธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้สำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2021 เพื่อศึกษาความต้องการ อุปสรรค และพฤติกรรมในการใช้รถยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งหาแนวทางการปรับตัวของผู้เล่นในอุตสาหกรรมต่อไป 

 

ผลจากการสำรวจพบว่า คนที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้าตัดสินใจซื้อเนื่องจากค่าใช้จ่ายถูกกว่า ดีต่อสิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ขณะที่สถานีชาร์จไฟที่ยังมีจำนวนไม่ครอบคลุม ระยะทางการขับขี่ต่อการชาร์จหนึ่งครั้งที่สั้น ระยะเวลาการชาร์จที่นาน และราคารถยนต์ไฟฟ้าที่ยังสูงกว่ารถ ICE เป็นอุปสรรคสำคัญของการตอบรับรถยนต์ไฟฟ้าของไทย

 

จากการสำรวจพบว่ามากกว่าร้อยละ 80 ของผู้ตอบแบบสอบถามวางแผนจะซื้อรถยนต์ใน 5 ปีข้างหน้า และรถยนต์ไฟฟ้าประเภท BEV เป็นรถที่ผู้บริโภคให้ความสนใจสูงสุด โดยความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าจะเริ่มเกิดขึ้นในปี 2022-23 ในช่วงนี้ความต้องการกระจุกอยู่ที่รถยนต์ไฟฟ้าที่มีราคาระดับปานกลางถึงสูง จากนั้นความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าจะเร่งตัวขึ้นในปี 2024 เป็นต้นไป

รถยนต์ไฟฟ้าต้นแบบจากค่าย MG
 

ลักษณะของรถยนต์ไฟฟ้าที่เป็นที่ต้องการขยับลงมาที่รถขนาดเล็กและมีราคาถูกลง โดยทั้งลักษณะของรถยนต์ที่เป็นที่ต้องการและกลุ่มลูกค้าเป้าหมายมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงตามระยะเวลา นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังมองรถยนต์ไฟฟ้าเป็นสินค้าชนิดใหม่ จึงทำให้ความภักดีต่อแบรนด์ลดน้อยลง

 

เมื่อประกอบกับการแข่งขันที่สูงขึ้นและการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมรถยนต์ ผู้เล่นในอุตสาหกรรมและผู้ที่เกี่ยวข้องจึงต้องรีบหาทางปรับตัวและหาช่องทางในอุตสาหกรรมรถยนต์ยุคใหม่ อาทิ การปรับรูปแบบสินค้าและบริการ การหากลุ่มลูกค้าเป้าหมาย หารูปแบบธุรกิจแบบใหม่ และการร่วมมือกับผู้เล่นรายอื่นทั้งในและนอกอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยให้สามารถแข่งขันต่อไปได้


  รถยนต์ไฟฟ้าจากค่ายเกรท วอลล์ มอเตอร์
ผลการตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าของไทย ตลอดจนความตื่นตัวเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก สะท้อนให้เห็นความสำคัญของการพัฒนา Ecosystem ของรถยนต์ไฟฟ้าในทุกภาคส่วน ทั้งการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ การสนับสนุนจากภาครัฐ และการเพิ่มจำนวนสถานีชาร์จ เป็นต้น 

 

ทั้งหมดนี้จะช่วยลดข้อจำกัดทางด้านอุปทานและนำไปสู่การเร่งตัวของการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าได้ วิจัยกรุงศรีมองว่าการเปลี่ยนผ่านจากยุครถยนต์สันดาปภายในมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่อาจมาถึงเร็วกว่าที่หลายฝ่ายคาดคิดไว้ ซึ่งจะสร้างแรงกระเพื่อมต่อผู้เล่นในตลาดรถยนต์และผู้เกี่ยวข้องเป็นอย่างมาก การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจึงเป็นสิ่งจำเป็น

 

สถานีชาร์จ โครงสร้างพื้นฐานที่มีผลกับตลาดรถยนต์ไฟฟ้า
 

มุมมองวิจัยกรุงศรี ยังได้เปิดเผยรายละเอียดต่างๆเกี่ยวกับการสำรวจ โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้ (คลิกอ่านฉบับเต็มที่นี่

 

ความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยจำนวนมากจะเกิดขึ้นในสามปีข้างหน้า เริ่มต้นด้วยรถยนต์ไฟฟ้าที่มีราคาสูงจากนั้นความต้องการจะขยับสู่รถยนต์ราคาย่อมเยามากขึ้น

 

วิจัยกรุงศรีพบว่าความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยจะเริ่มมาถึงในช่วง 1-2 ปีนี้ โดยในระยะแรกความต้องการส่วนใหญ่จะเป็นรถที่มีราคาระดับปานกลางและสูง หลังจากนั้นความต้องการจะเร่งตัวสูงขึ้นมากโดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าระดับราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท 

 

ลักษณะความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยในช่วงหลายปีข้างหน้าจะเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลา ทำให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายมีลักษณะแตกต่างกันด้วย ดังนั้น ทั้งผู้ผลิตรถยนต์และผู้ให้บริการจึงต้องหารูปแบบการให้บริการที่เหมาะสมเพื่อที่จะตอบสนองลูกค้ากลุ่มต่างๆ

 

ผู้ขับขี่รถยนต์มองรถยนต์ไฟฟ้าเป็นสินค้าชนิดใหม่ และอาจมี Brand loyalty น้อยกว่าที่ผู้ผลิตสินค้าและผู้ให้บริการคาดไว้​
 
วิจัยกรุงศรีพบว่า หากจะพิจารณาเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว ผู้ใช้รถยนต์มีแนวโน้มเลือกซื้อรถยนต์ยี่ห้อที่ไม่ได้ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยมีเพียงร้อยละ 28 ที่จะใช้รถยนต์ยี่ห้อเดิม ส่วนร้อยละ 72 ระบุว่าสนใจจะเปลี่ยนยี่ห้อรถ และในจำนวนนี้ ร้อยละ 13 จะลองซื้อรถยนต์จากผู้ผลิตรายใหม่ๆ ที่ไม่เคยผลิตรถยนต์ ICE มาก่อน ดังนั้นผู้ผลิตรถยนต์ที่ปรับตัวไม่ทันกับความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นอาจสูญเสียส่วนแบ่งตลาดได้

 

ความภักดีต่อแบรนด์ (Brand loyalty) ของผู้ใช้รถยนต์ที่ลดลงส่งสัญญาณว่าลูกค้ามองรถยนต์ไฟฟ้าเป็นสินค้าประเภทใหม่ ส่งผลให้สิ่งที่มองหาในรถยนต์และบริการที่เกี่ยวข้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย แม้ผู้ผลิตรถยนต์รายเดิมจะถือไพ่เหนือกว่าผู้ผลิตรายใหม่ในแง่ของความคุ้นเคยในตลาด แต่การปรับตัวต่อความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะรักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาดรถยนต์ได้ในอนาคต
 

การชาร์จและสาธารณูปโภคทางด้านการชาร์จยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญที่ฉุดรั้งการใช้รถไฟฟ้าในประเทศไทย แต่ก็สร้างโอกาสเชิงธุรกิจให้กับหลายอุตสาหกรรม
 
จากแบบสอบถามพบว่าทั้งผู้ที่ใช้และยังไม่ใช้รถยนต์ไฟฟ้าในไทยต่างระบุว่าจำนวนสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าและระยะเวลาการชาร์จที่นานยังเป็นปัญหาสำคัญ ทั้งต่อการใช้รถยนต์ไฟฟ้าหรือเลือกที่จะยังไม่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า

 

อย่างไรก็ตาม ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่บ้าน โดยผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบันระบุว่าไปสถานีบริการน้อยกว่าที่เคยคาดไว้ ส่วนร้อยละ 73 ของผู้ที่ยังไม่ได้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าเชื่อว่าระยะทางการขับขี่ต่อการชาร์จหนึ่งครั้งนั้นเพียงพอต่อการใช้ปกติ ทำให้ร้อยละ 88 ของผู้ตอบแบบสอบถามคิดว่าหากได้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าแล้วจะชาร์จไฟที่บ้านเป็นหลัก

 

เห็นได้ว่าผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่สามารถใช้รถได้ปกติในหนึ่งวันและกลับมาชาร์จไฟเฉพาะที่บ้านในเวลากลางคืนได้ จึงอาจไม่ต้องการชาร์จไฟที่สถานีบริการมากอย่างที่คิดเอาไว้ ซึ่งช่วยลดอุปสรรคด้านจำนวนสถานีบริการที่ยังไม่ครอบคลุม รวมถึงปัญหาเกี่ยวกับระยะเวลาชาร์จที่ยาวนาน

 

ดังนั้น การสร้างความเข้าใจให้ผู้บริโภคจะช่วยคลายความกังวลเรื่องการชาร์จไฟฟ้าได้ จึงคาดว่าโมเดลธุรกิจการให้เช่ารถยนต์ไฟฟ้าน่าจะเป็นที่นิยมเพราะช่วยสร้างความคุ้นเคยและลดความกังวลเรื่องการชาร์จให้แก่ผู้ใช้ก่อนตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้า

 

สำหรับการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่บ้านนั้น เมื่อผู้ใช้ส่วนใหญ่มีแนวโน้มต้องการชาร์จไฟที่บ้าน จึงมีโอกาสเชิงธุรกิจที่จะเกิดขึ้นตามมา เช่น การผลิตเครื่องชาร์จที่บ้าน การติดตั้งเครื่องชาร์จ และการดูแลระบบชาร์จ (ทั้งในบ้านและคอนโดมีเนียม) ตลอดจนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และระบบกักเก็บพลังงาน เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตาม การชาร์จไฟตามสถานียังคงมีความจำเป็นที่จะช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้ขับขี่และผู้ที่กำลังตัดสินใจชื้อรถยนต์ไฟฟ้า การเพิ่มจุดชาร์จทั้งในเมืองและนอกเมืองจึงมีความสำคัญ

 

ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่าสหภาพยุโรประบุว่าจำนวนสถานีชาร์จที่เหมาะสมคือ 0.1 สถานีต่อผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าหนึ่งคัน ซึ่งในปัจจุบันสัดส่วนดังกล่าวของไทยอยู่ที่ 0.07 สถานีต่อคัน จึงมีความจำเป็นที่ต้องเพิ่มจำนวนสถานีชาร์จให้มากขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากจำนวนของสถานีชาร์จไฟแล้ว ตำแหน่งของจุดชาร์จไฟก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยประเทศที่มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าจำนวนมากอย่างนอร์เวย์และไอซ์แลนด์กลับมีจำนวนสถานีชาร์จน้อยมากเมื่อเทียบกับผู้ใช้ โดยมีสัดส่วนเพียง 0.03 สถานีต่อคัน เนื่องจากประเทศเหล่านี้ให้ความสำคัญกับตำแหน่งของสถานีชาร์จที่เข้าถึงง่าย นอกจากนี้สัดส่วนสถานีชาร์จไฟแบบเร็ว (มากกว่า 20 kW) ของประเทศเหล่านี้ก็อยู่ในระดับสูง

 

ดังนั้น การเข้าถึงสถานีชาร์จไฟฟ้า สิ่งอำนวยความสะดวก สถานที่ตั้ง และประเภทของที่ชาร์จไฟล้วนเป็นปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จของสถานีบริการ ซึ่งจะช่วยเร่งให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นด้วย

 

ความเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมมีมากขึ้น สร้างความท้าทายและโอกาสให้ผู้เล่นในอุตสาหกรรมและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง
 
การใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นและความต้องการของผู้บริโภคที่ไม่เหมือนเดิมได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้อุตสาหกรรมรถยนต์ในอนาคตเป็นอย่างมาก ตั้งแต่ห่วงโซ่อุปทาน รูปแบบสินค้าและบริการ และสร้างความเชื่อมโยงใหม่ให้กับผู้เล่นทั้งในและนอกอุตสาหกรรม 

 

โดยภาพและขอบเขตของอุตสาหกรรมอาจทับซ้อนกันมากขึ้นจนทำให้ผู้เล่นสามารถเคลื่อนย้ายไปมาระหว่างอุตสาหกรรมได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การเข้ามาของบริษัทเทคโนโลยี (Tech Company) ในอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ ซึ่งส่งผลให้การแข่งขันรุนแรงมากขึ้น

 

นับเป็นความท้าทายของผู้เล่นเดิมในอุตสาหกรรมดังกล่าว การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับผู้เล่นที่ต้องการอยู่ในธุรกิจ ท่ามกลางภูมิทัศน์ของอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ 

 

วิจัยกรุงศรีมองว่าการร่วมมือกันระหว่างผู้เล่นและการสร้างห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ใหม่จะช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของผู้เล่นได้ อาทิ

 

การสร้างห่วงโซ่อุปทานระหว่างผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่และชิ้นส่วนที่สำคัญ: 

 

เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าไม่ต้องใช้ชิ้นส่วนหลายอย่างที่มีในรถยนต์ ICE ตั้งแต่เครื่องยนต์ ระบบส่งกำลังไปจนถึงท่อไอเสีย ดังนั้น หากรถยนต์ไฟฟ้าเป็นที่นิยมมากขึ้น โครงสร้างการผลิตของอุตสาหกรรมรถยนต์จะต้องเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง 


แต่แม้การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าใช้ชิ้นส่วนลดลงแต่ชิ้นส่วนแต่ละส่วนจะมีความสำคัญมากขึ้น เช่น แบตเตอรี่ มอเตอร์ไฟฟ้า และอุปกรณ์แปลงกระแสไฟฟ้า เป็นต้น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและต้นทุนการผลิตของชิ้นส่วนเหล่านี้จะเป็นส่วนสำคัญของการผลิตรถยนต์ 

 

ดังนั้น การร่วมมือกันของผู้ผลิตรถยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วนที่สำคัญจะช่วยให้ผู้เล่นเหล่านี้สามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันไว้ได้

 

การสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ผู้ให้เช่ารถยนต์ และผู้ให้บริการแบ่งปันรถใช้ (Car sharing):

 

เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่มีความรู้เกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้ายังไม่มากนัก อีกทั้งเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วซึ่งทำให้ค่าเสื่อมราคาของรถยนต์ไฟฟ้าในช่วงแรกอยู่ในระดับสูง ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ผู้บริโภคในปัจจุบันยังคงลังเลที่จะเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้า 

 

วิจัยกรุงศรีมองว่า นอกจากธุรกิจการให้เช่ารถยนต์ไฟฟ้าจะช่วยลดความกังวลในการใช้รถยนต์ไฟฟ้าแล้ว ยังอาจช่วยลดปัญหาราคารถยนต์ไฟฟ้ามือสองที่อาจลดลงอย่างรวดเร็วได้ นอกจากนี้ รูปแบบธุรกิจ Car sharing อาจสามารถตอบสนองผู้บริโภคบางกลุ่มที่ไม่ต้องการครอบครองรถได้ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่

 

การสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตรถยนต์และผู้ผลิตเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่บ้าน: 

 

จากผลของแบบสอบถามพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่คาดว่าจะชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่บ้าน อีกทั้งระยะเวลาการชาร์จที่สั้นลงจะเป็นปัจจัยสำคัญในการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ดังนั้น หากผู้ผลิตรถยนต์สามารถเสนอเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงให้กับผู้ซื้อรถ ก็จะสร้างความสามารถในการแข่งขันได้

 

การสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่บ้าน ผู้ผลิตแผงโซล่าเซลล์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar rooftop) และผู้ให้บริการระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage): 

 

การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และระบบกักเก็บพลังงานมีแนวโน้มราคาที่ถูกลงมาก ทำให้แนวคิดการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีความคุ้มค่ามากขึ้น นอกจากนี้ผู้ที่ติดตั้ง Solar rooftop ยังสามารถขายคืนกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้ด้วย ซึ่งจะสร้างความคุ้มค่าให้มากยิ่งขึ้น

 

การสร้างความร่วมมือระหว่างสถานีบริการ ร้านค้าปลีกและร้านอาหาร:

เนื่องจากในปัจจุบันสถานีชาร์จไฟฟ้ายังมีความจำเป็นและเวลาการชาร์จไฟยังมีเวลานาน ดังนั้น การร่วมมือกันระหว่างสถานีบริการ ร้านค้า และร้านอาหารจะสามารถดึงดูดให้ผู้บริโภคมาใช้บริการได้

 

 

สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าใจกลางสยาม

ที่มาข้อมูล : วิจัยกรุงศรี เรื่องรถยนต์ไฟฟ้า: ความต้องการและโอกาสที่กำลังมาถึง