ตามที่ซูซูกิ มอเตอร์ ประเทศไทย ประกาศยุติการผลิตรถยนต์ที่โรงงาน จ.ระยอง ภายในสิ้นปี 2568 แต่ยืนยันดำเนินธุรกิจในไทยต่อเนื่อง ทั้งการขาย และดูแลการบริการหลังการขาย
ซูซูกิ ยอมรับว่า ที่ต้องปิดโรงงานผลิตรถยนต์ในไทย มาจากการที่บริษัทขาดทุนสะสม บวกกับสภาพตลาดปัจจัยแวดล้อมในอุตสาหกรรมยานยนต์เปลี่ยนไป รวมถึงนโยบายของรัฐบาล ขณะเดียวกันรถที่ผลิตในไทยทั้งหมดอยู่ในโครงการอีโคคาร์ ซึ่งจะสิ้นสุดการส่งเสริมในปี 2568 ล้วนบีบให้ซูซูกิ ต้องปรับโครงสร้างธุรกิจในครั้งนี้
โดยผลประกอบการ 2 ปีหลัง ซูซูกิ มอเตอร์ ประเทศไทย ขาดทุนต่อเนื่อง และถ้านับตั้งแต่ปี 2562-2566 ขาดทุนรวม 1,709 ล้านบาท สอดคล้องกับยอดขายที่ลดลงจากระดับ 2 หมื่นกว่าคันต่อปี เหลือเพียง 12,151 คันในปีที่แล้ว
ทั้งนี้ ซูซูกิ มอเตอร์ เข้าร่วมในโครงการอีโคคาร์ (เฟส 1,2) เริ่มผลิต ซูซูกิ สวิฟท์ ตั้งแต่ปี 2555 ตามด้วย เซียส และเซเลริโอ ซึ่งในปัจจุบันยุติการผลิต เซียส ไปแล้ว เหลือเพียง สวิฟท์ กับ เซเลริโอ ที่จะทำไปจนถึงปี 2568
ซูซูกิ มอเตอร์ วางยุทธศาสตร์ทางธุรกิจใหม่ โดยจะเหลือฐานการผลิตสำคัญ 3 แห่งที่ประเทศญี่ปุ่น อินเดีย และอินโดนีเซีย ซึ่งไทยจะใช้ประโยชน์จากศักยภาพของโรงงานเหล่านี้
ในปีงบประมาณ 2566 โรงงานผลิตรถยนต์ซูซูกิ ที่ญี่ปุ่น มี 3 แห่ง ผลิตไปกว่า 1 ล้านคัน ขณะที่อินโดนีเซีย มี 2 แห่ง ผลิตรวม 94,941 คัน และอินเดีย อีกกว่า 1.9 ล้านคัน และมีแผนขยายกำลังผลิตเพิ่มถึง 4 ล้านคันต่อปี ภายในปี 2573
ล่าสุด ซูซูกิ ยืนยันว่า ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป จะนำเข้ารถใหม่มาเปิดตัว 4 รุ่น จากญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย ขณะที่ EV จะใช้ความได้เปรียบจากต้นทุนการผลิตที่มีประสิทธิภาพในอินเดีย ส่งชิ้นส่วนมาที่ อินโดนีเซีย เพื่อทำการผลิต EV ทั้งคัน จากนั้นใช้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน AFTA ส่งรถมาขายในไทยโดยไม่เสียนำเข้า
นายวัลลภ ตรีฤกษ์งาม รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า โรงงานประเทศอินโดนีเซีย มีแผนผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ทั้ง EV และ Hybrid ซึ่งจะเป็นโรงงานหลักในการสรรหาโปรดักต์มาป้อนตลาดไทยและอาเซียน โดยบริษัทจะเปิดตัวรถใหม่อีก 4 รุ่นตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป
“ซูซูกิ ยังดำเนินธุรกิจในไทยต่อเนื่อง โดยจะนำเข้ารถมาทั้งจากญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และเพื่อให้ซูซูกิสามารถดำรงอยู่ได้อย่างแข็งแกร่ง และยั่งยืนในไทย การปรับแผนและพัฒนาการดำเนินงาน เพื่อสร้างความมั่นใจให้ลูกค้าจึงเป็นสิ่งสำคัญ
บริษัทเปิดแคมเปญ SUZUKI WORRY FREE โดยลูกค้าจะได้รับฟรี ค่าแรงเช็กระยะ สูงสุด 3 ปี หรือ 60,000 กิโลเมตร และขยายการรับประกันอะไหล่และงานบริการ 1 ปี หรือ 20,000 กิโลเมตร (เดิมรับประกัน 3 เดือน หรือ 5,000 กิโลเมตร)
นอกจากนี้ ยังเตรียมระบบจัดการอะไหล่รถยนต์ทุกรุ่นที่จำหน่ายภายในประเทศ แม้ว่ารถรุ่นนั้นจะหยุดผลิต แต่บริษัทยังมีอะไหล่รองรับไปถึง 10 ปี จากคลังอะไหล่ 2 แห่ง ที่ อ่อนนุช และ จ.ระยอง ที่จัดเก็บอะไหล่มากกว่า 741,000 ชิ้น พร้อมบริการจัดส่งอะไหล่แบบเร่งด่วนภายใน 24 ชั่วโมง ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และพื้นที่อื่นๆ ภายใน 48 ชั่วโมง
ส่วนโชว์รูม-ศูนย์บริการ ปัจจุบันมี 92 แห่ง และกำลังจะเพิ่มอีก 6 แห่ง ที่ มหาสารคาม กาฬสินธุ์ หนองคาย บึงกาฬ และพัทลุง
“เราจะยังเดินหน้าพัฒนาคุณภาพในทุกด้าน โดยยึดความสำคัญด้านการบริการทั้งก่อน และหลังการขายเป็นที่ตั้ง ตอกย้ำด้วยการมาของรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ตั้งแต่ปีหน้า ที่จะเข้ามาสร้างการเติบโตของตลาดรถยนต์ในประเทศต่อไป”นายวัลลภ กล่าว