ไทย -อินโดนีเซีย เดินหน้าสู่ศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในอาเซียน

22 ส.ค. 2567 | 19:00 น.

วิจัยกรุงศรี เผยโอกาสในอุตสาหกรรม EV ของไทย และ อินโดนีเซีย ส่องจุดแข็งทั้งสองประเทศ ทำอย่างไรถึงจะเดินหน้าสู่ศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในอาเซียน

กระแสความนิยมในรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ในปัจจุบันถือว่าเติบโต ต่อเนื่อง แม้ภาพรวมตลาด-อุตสาหกรรมยานยนต์ในปีนี้จะชะลอตัว แต่ในกลุ่ม EV หรือ ยานยนต์ไฟฟ้ายังคงมีอัตราการเติบโต ซึ่งจากเทรนด์ดาวรุ่งพุ่งแรงดังกล่าว ทำให้ทางวิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้ศึกษาแนวโน้มของยานยนต์ในกลุ่มไฟฟ้า ทั้งในส่วนของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนอย่างอินโดนีเซีย ซึ่งผลจากการศึกษาได้เผยแพร่ออกมาเป็นบทความในหัวข้อเรื่อง "EVs in ASEAN ส่องความโดดเด่นของไทยและอินโดนีเซีย สู่ศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า"

 

ในมุมมองของวิจัยกรุงศรี สรุปว่า ไทยและอินโดนีเซียมีจุดแข็งที่แตกต่างกันในการเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยแต่ละประเทศมีโอกาสที่แตกต่างกันตลอดห่วงโซ่อุปทานและในกลุ่มของรถ EV  ในปัจจุบัน การที่ไทยมีสัดส่วนการใช้รถ EV สูงโดยเปรียบเทียบ ควบคู่ไปกับอุตสาหกรรมยานยนต์ที่พัฒนาแล้วและความร่วมมือกับผู้เล่นยานยนต์รายใหญ่ระดับโลก ทำให้ไทยเป็นผู้นำด้านการผลิตยานยนต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการประกอบตัวถัง และมีโอกาสในรถยนต์สี่ล้อสำหรับกลุ่มลูกค้าระดับกลางถึงสูง

 

ในทางกลับกัน อินโดนีเซีย มีข้อได้เปรียบที่สำคัญด้านการผลิตแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญสำหรับรถ EV นอกจากนี้ประชากรจำนวนมากในกลุ่มรายได้ต่ำถึงกลางที่พึ่งพารถสองล้อ แสดงให้เห็นถึงโอกาสทางธุรกิจและการลงทุนในรถ EV ที่แตกต่างไปในอินโดนีเซีย
 

ทั้งนี้แม้จะมีจุดแข็งที่แตกต่างกัน แต่ทั้งสองประเทศมีศักยภาพที่จะเป็นผู้เล่นหลักในอุตสาหกรรมการผลิต EV ระดับโลก ทั้งสองประเทศสามารถเสริมสร้างซึ่งกันและกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพภายใต้ข้อตกลงการค้าระดับภูมิภาคหลายฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งมีเป้าหมายทำให้อาเซียนเป็น "ศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าระดับภูมิภาค" 

 

สำหรับ RCEP ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับผู้ที่ตรงตามข้อกำหนดสัดส่วนมูลค่าเพิ่มในภูมิภาค (RVC) ร้อยละ 40 อำนวยความสะดวกในการเข้าถึงชิ้นส่วนยานยนต์ภายในภูมิภาค ส่งเสริมการทำงานร่วมกันด้านการผลิต และเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาค 

 

ดังนั้น ในระดับภูมิภาค จุดแข็งของทั้งสองประเทศสามารถเสริมความเชี่ยวชาญกันและกัน และกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และช่วยสร้างระบบนิเวศน์ยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคโดยรวม

ไทย -อินโดนีเซีย เดินหน้าสู่ศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในอาเซียน

สำหรับบทความ "EVs in ASEAN ส่องความโดดเด่นของไทยและอินโดนีเซีย สู่ศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า"ยังได้ฉายภาพให้เห็นถึงภาพรวมของตลาด EV ในอาเซียน โดยระบุว่าความต้องการ EV ที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ไทยเป็นผู้นำ EV ของอาเซียน

 

ในปี 2566 ยอดขาย EV ครองส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ทั่วโลกถึงร้อยละ 18 ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2560 โดยสหรัฐฯ ยุโรป และจีน เป็นตลาด EV ที่ใหญ่ที่สุด ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จีนเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดและมีอัตราการใช้ EV สูงสุด โดยยอดขาย EV มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 24 ของยอดขายรถยนต์นั่งใหม่ทั้งหมดในไตรมาสที่ 4 ปี 2566

 

ปัจจุบัน ตลาดรถ EV ในอาเซียนยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น โดยมีส่วนแบ่งประมาณร้อยละ 2 ของยอดขายทั่วโลกในปี 2564 ในบรรดาประเทศอาเซียน ไทยมีส่วนแบ่งตลาดการขายรถ EV สูงสุด คิดเป็นร้อยละ 78.7 ตามมาด้วยอินโดนีเซียที่มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 8 (ณ ไตรมาสที่ 1 ปี 2566)  นอกจากนี้ ไทยยังมีสัดส่วนรถ EV ต่อยอดขายรถยนต์ใหม่สูงถึงเกือบร้อยละ 13ในไตรมาสที่ 4 ปี 2566

 

ในอนาคต คาดว่ายอดขายรถยนต์ EV จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม และเป็นที่น่าสังเกตว่า การเติบโตของผู้ผลิตรถยนต์จีนมีส่วนทำให้ยอดขาย EV ในภูมิภาคเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดย BYD เป็นแบรนด์รถ EV ชั้นนำในอาเซียน คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดมากกว่าร้อยละ 25 ณ ไตรมาสที่ 2 ปี 2566 

 

ไทย

  • ยอดขายรถ EV เพิ่มขึ้นจาก 20,000 คันในปี 2565 เป็นเกือบ 90,000 คันในปี 2566 คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 20 ของยอดขายรถทั้งหมด ปัจจัยสำคัญได้แก่มาตรการลดภาษีและการให้เงินอุดหนุนแก่ผู้ซื้อรถ EV โดยในปี 2566 บริษัทจีนครองส่วนแบ่งการตลาดของ BEV ถึงร้อยละ 82 และรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในไทยคือ BYD ซึ่งน่าจะมีความโดดเด่นมากขึ้น เนื่องจาก BYD มีแผนเริ่มดำเนินการผลิตรถในปี 2567

อินโดนีเซีย

  • ยอดขายรถ EV ในอินโดนีเซียมีการเติบโตอย่างรวดเร็วจากน้อยกว่า 100 คันในปี 2564 เป็นประมาณ 17,000 คันในปี 2566 โดยได้รับการสนับสนุนจากมาตรการจูงใจการซื้อและการที่ผู้ผลิตต่างชาติ (โดยเฉพาะจีนที่ครองส่วนแบ่งการขายรถ EV ถึงร้อยละ 45) ป้อนรถ EV เข้าสู่ตลาดมากขึ้นซึ่งทำให้ราคารถ EV เข้าถึงได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันสัดส่วนรถ EV ยังคงต่ำกว่าร้อยละ 3 ต่อยอดขายรถทั้งหมด

เวียดนาม  

  • ในปี 2566 แม้ยอดขายรถยนต์โดยรวมจะลดลง แต่ยอดขายรถ EV ในเวียดนามยังคงเพิ่มขึ้นเป็น 30,000 คัน คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดเกือบร้อยละ 10 โดยมีผู้นำตลาดภายในประเทศอย่าง VinFast ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2560 ครองส่วนแบ่งการตลาดภายในประเทศเกือบทั้งหมด และ VinFast ยังมองหาโอกาสการเข้าสู่ตลาดภูมิภาคอื่นๆ เช่น อินเดียและฟิลิปปินส์

ไทย -อินโดนีเซีย เดินหน้าสู่ศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในอาเซียน

แนวโน้มรถ EV ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในอาเซียนขับเคลื่อนด้วยทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคและนโยบายของภาครัฐ ความต้องการรถ EV ของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่มุ่งลดต้นทุนเชื้อเพลิง กังวลด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และสนใจในเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพขั้นสูงที่รวมอยู่ใน EV 

 

นอกจากนี้ ภาครัฐในภูมิภาคต่างส่งเสริมการใช้รถ EV ในฐานะส่วนหนึ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยประเทศต่างๆ ในภูมิภาคมีคำมั่นสัญญาเกี่ยวกับความเป็นกลางทางคาร์บอนที่แตกต่างกัน ตั้งแต่การบังคับเชิงกฎหมาย หรือระบุในแนวนโยบาย โดยประเทศอาเซียนส่วนใหญ่ได้ระบุคำมั่นสัญญาในเอกสารนโยบาย และยังกำหนดเป้าหมายปีที่จะเริ่มยุติการใช้ ICE อีกด้วย รัฐบาลจึงเสนอมาตรการให้เงินอุดหนุนแก่ผู้ซื้อรถ EV ในวงกว้าง

 

ในอนาคต ปัจจัยดังกล่าวน่าจะยังคงขับเคลื่อนตลาดรถ EV ในอาเซียนให้มีศักยภาพการเติบโตต่อไป นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสริมอื่นๆ อีก อาทิ ความเข้มแข็งของภูมิภาคในฐานะศูนย์กลางการผลิตยานยนต์อันดับ 7 ของโลก รวมถึงความไม่เพียงพอของโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะของหลายประเทศในภูมิภาค จะยังคงผลักดันให้ประชาชนพึ่งพารถยนต์ส่วนบุคคลต่อไป 

 

ทั้งนี้ จากการศึกษาของ EY-Parthenon ในปี 2567 ประมาณการว่า ยอดขาย EV ในตลาดอาเซียน 6 ประเทศจะเติบโตอย่างรวดเร็วด้วยอัตราการเติบโตต่อปี (CAGR) ที่ร้อยละ 16-39 ระหว่างปี 2564 ถึง 2578 นำโดยอินโดนีเซียและไทย 


 

 

ที่มาข้อมูล