โพลชี้ ประชาชนไม่ค่อยเชื่อมั่นการทำงานของตำรวจ และการแต่งตั้งโยกย้าย

08 ต.ค. 2566 | 11:53 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ต.ค. 2566 | 12:06 น.

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” ชี้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ค่อยเชื่อมั่นการทำงานตำรวจไทย และไม่เชื่อมั่นเลยในระบบแต่งตั้งโยกย้าย การแทรกแซงทางการเมือง

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ประชาชนเชื่อมั่นตำรวจแค่ไหน?” พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 38.09% ตอบว่าไม่ค่อยเชื่อมั่น ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด จริงจัง มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้และไม่เลือกปฏิบัติ

และไม่ค่อยเชื่อมั่นว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ ไม่คล้อยตามอิทธิพลหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ผิดกฎหมายมากที่สุดถึงร้อยละ 39.01 และส่วนใหญ่ไม่เชื่อมั่นเลยว่า ระบบการแต่งตั้งโยกย้ายในองค์กรตำรวจมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม , ปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง และสามารถป้องกันและปราบปรามแหล่งอบายมุขหรือสิ่งผิดกฎหมายในพื้นที่

โดยการสำรวจครั้งนี้ เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 2-5 ตุลาคม 2566 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง โดยถามประชาชนถึงความเชื่อมั่นต่อตำรวจในด้านต่าง ๆ ดังนี้

ด้านการปฏิบัติงานอย่างเต็มที่และโปร่งใส

ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 38.09 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อมั่นว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด จริงจัง มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้และไม่เลือกปฏิบัติ รองลงมาร้อยละ 27.48 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อมั่น ร้อยละ 24.05 ระบุว่า ไม่เชื่อมั่นเลย ร้อยละ 10.30 ระบุว่า เชื่อมั่นมาก และร้อยละ 0.08 ระบุว่า ไม่มีข้อมูล/ไม่ตอบ

ส่วนความเห็นประชาชนต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ ไม่คล้อยตามอิทธิพลหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ผิดกฎหมาย พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 39.01 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อมั่น และตอบว่าไม่เชื่อมั่นเลยเป็นอันดับสอง ที่ ร้อยละ 29.24 ในขณะที่ร้อยละ 21.76  ค่อนข้างเชื่อมั่น และผู้ที่เชื่อมั่นมากอยู่ที่ร้อยละ 9.69

นอกจากนี้ยังสำรวจความเห็นประชาชนต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจในด้านการให้บริการ และอำนวยความสะดวก ส่วนใหญ่ประชาชนร้อยละ 38.78 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อมั่นว่า สามารถช่วยเหลือประชาชนที่ประสบความเดือดร้อนบนท้องถนนได้เป็นอย่างดี เช่น ช่วยเคลื่อนย้ายหรือซ่อมแซมรถเสีย นำผู้ป่วย ผู้ได้รับบาดเจ็บส่งโรงพยาบาล

เช่นเดียวกับ การควบคุมการจราจรให้เป็นระเบียบเรียบร้อย และสถานีตำรวจให้การต้อนรับและอำนวยความสะดวกเป็นอย่างดี รวมถึงสามารถให้ความช่วยเหลือแนะนำทั้งด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ที่ประชาชนส่วนใหญ่ตอบว่า ค่อนข้างเชื่อมั่น อยู่ที่ร้อยละ 38.93 และร้อยละ 36.87 ตามลำดับ

ในขณะที่ประชาชนอีกร้อยละ 32.67 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อมั่นว่า มีบริการแจ้งความคืบหน้าในคดีแก่ผู้เสียหายภายในระยะเวลาที่เหมาะสม 

นิด้าโพล ประชาชนเชื่อมั่นตำรวจแค่ไหน

ด้านความสามารถในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม

พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ค่อนข้างเชื่อมั่นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจมีความสามารถในการใช้ระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการปฏิบัติงานและดำเนินคดี ,ระบบในการรับแจ้งเหตุ และการตอบสนองของเจ้าหน้าที่ตำรวจมีประสิทธิภาพในการช่วยเหลือประชาชน และเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถสืบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงทางคดีและจับกุมผู้กระทำผิดได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ อยู่ที่ร้อยละ 36.57 ,ร้อยละ 33.36 และร้อยละ 36.72 ตามลำดับ

ในขณะที่ ประชาชนร้อยละ 35.95  ไม่เชื่อมั่นเลยว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถป้องกันและปราบปรามแหล่งอบายมุขหรือสิ่งผิดกฎหมายในพื้นที่ รองลงมา ร้อยละ 32.98 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อมั่น 

ด้านการบริหารงานองค์กร

ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ค่อยเชื่อมั่นว่า องค์กรตำรวจมีความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่ ร้อยละ 30.77  และไม่เชื่อมั่นเลยว่า ปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง ร้อยละ 41.98 รองลงมาอีก ร้อยละ 29.62 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อมั่น

เช่นเดียวกับคำถามถึงระบบการแต่งตั้งโยกย้ายในองค์กรตำรวจมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม ส่วนใหญ่ร้อยละ 41.37 ระบุว่า ไม่เชื่อมั่นเลย รองลงมา ร้อยละ 29.47 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อมั่น จะมีเพียงร้อยละ 17.79 ที่ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อมั่น และระบุว่าเชื่อมั่นมากอยู่ที่ ร้อยละ 8.01