นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากปริมาณน้ำเหนือไหลลงสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ระดับน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยาสูงขึ้น กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งเหนือเขื่อนเจ้าพระยา เพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำผ่านระบบชลประทานฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อลดผลกระทบพื้นที่ด้านท้ายเขื่อน
ซึ่งได้มอบหมายให้สายงานก่อสร้างของกรมชลประทาน ลงพื้นที่ไปดำเนินการเสริมศักยภาพคันดินและแนวป้องกันต่างๆ อาทิ เจ้าหน้าที่ชลประทานได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ไปตรวจสอบ
แนวคลองญี่ปุ่นใต้ ตลอดความยาว 19.50 กิโลเมตร เพื่อเตรียมรับสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ มีการขุดลอกคลองและเสริมคันคลองให้สูงขึ้นอีกประมาณ 1.50 เมตร ในช่วงกม.0+000 ถึง กม. 1+500 มีการนำเครื่องจักร เครื่องมือ เข้าไปเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วมล้นตลิ่ง การจัดเตรียมทรายและกระสอบทรายตลอดแนวคลอง บริเวณ อ.บางเลน จ.นครปฐม ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านในพื้นที่เป็นอย่างดี ร่วมแรงร่วมใจบรรจุกระสอบทราย เพื่อใช้ป้องกันน้ำท่วมในกรณีฉุกเฉิน
รวมไปถึงสนับสนุนโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระพิมล ดำเนินการขุดลอกเสริมคันคลองบางภาษี ตำบลบางภาษี อำเภอบางเลน ความยาวประมาณ 6 กิโลเมตร พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมที่ สถานีสูบน้ำบางภาษี ขนาด 12 นิ้ว จำนวน 2 เครื่อง เพื่อช่วยสูบน้ำในคลองระบายน้ำลงสู่แม่น้ำท่าจีน และเพิ่มโป๊ะพร้อมรถขุดจำนวน 1 ชุด เข้าไปกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ขนาด 10 นิ้ว จำนวน 2 เครื่องบริเวณริมคลองตาอิน เร่งระบายน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ บรรเทาความเดือดร้อนและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังบ้านเรือนและที่อยู่อาศัยของประชาชน
ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำโดยบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนและประชาชนในพื้นที่ตามแนวทางการมีส่วนร่วม ตลอดจนการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และความเข้าใจแก่ประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับแนวทางในการระบายน้ำ และระดับน้ำที่จะเพิ่มขึ้น เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่สามารถเตรียมรับมือได้อย่างทันท่วงทีต่อไป