รู้จัก "ปลาวัวไททัน" หลังเกิดดราม่า นักดำน้ำฆ่าทิ้ง เพราะถูกกัด

29 เม.ย. 2566 | 13:38 น.
อัปเดตล่าสุด :29 เม.ย. 2566 | 13:47 น.

ทำความรู้จัก "ปลาวัวไททัน" หรือ ปลาวัวอำมหิต หลังเพจเฟซบุ๊ก ขยะมรสุม Monsoongarbage Thailand โพสต์ ภาพนักดำน้ำโชว์ ฆ่าทิ้ง "ปลาวัวไททัน" เหตุตนเองโดนกัด ทำโซเชียลทัวร์ลง

ประเด็นร้อนในโซเชียล จากกรณีเพจเฟซบุ๊ก ขยะมรสุม Monsoongarbage Thailand ได้โพสต์ภาพ ผู้ใช้เฟสบุ๊ครายหนึ่ง ระบุถึงรายละเอียดในภาพว่า เป็นผู้ฆ่า “ปลาวัวไททัน” ในภาพ เรื่องจาก ตนเองถูกปลาดังกล่าวกัด และป้องกันไม่ให้นักดำน้ำรายอื่นถูกกัดด้วย พร้อมระบุว่า จะนำไปปรุงอาหาร จนนำมาสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นจำนวนมาก ในลักษณะไม่เห็นด้วยกับการฆ่า “ปลาวัวไททัน” ในกรณีนี้

นักดำน้ำ ฆ่าปลาวัวไททัน

ทำความรู้จัก “ปลาวัวไททัน”

ปลาวัวไททัน หรือ ปลาวัวอำมหิต หรือ ปลาวัวหน้าลาย (Titan triggerfish) อยู่ในวงศ์ของ Balistidae มีขนาดความยาวเต็มที่ประมาณ 40 ซม. ปากมีขนาดใหญ่มีเขี้ยวสั้นคมอยู่ภายใน ครีบหางปลายตัดมน มีนิสัยดุร้าย โดยเฉพาะตัวผู้ในช่วงดูแลฟักไข่ และหากเข้าไปใกล้พื้นที่ทำรังของพวกเขา ปลาวัวไททันจะใช้เวลาเพียงลำพังตัวเดียวทั้งชีวิต ไม่ค่อยใช้เวลาเป็นคู่ หรืออยู่กับฝูง นอกจากการหาคู่ผสมพันธุ์ 

แหล่งที่อยู่อาศัย “ปลาวัวไททัน”

พบกระจายพันธุ์ทั่วไปในแนวปะการังทั้งฝั่งอันดามัน และอ่าวไทย  พบมากที่สุดในอินโดแปซิฟิก โดยเฉพาะ ในลากูน ทะเลสาบ และทั่วไปตามแนวปะการังเขตร้อน แนวปะการังหนาแน่นที่มีแหล่งอาหารอุดมสมบูรณ์ 

ปลาวัวไททัน

นิสัยการกินอาหาร

ปลาวัวไททัน จะใช้วิธีพลิกผืนหิน ทุบตีปะการังและกวนพื้นทราย เพื่อมองหาอาหาร พวกเม่นทะเล ,หอย ,กุ้งและกั้งทะเล ,หนอนท่อและปะการัง  จึงมักพบปลาขนาดเล็กอื่นๆ ก็ว่ายอยู่รอบๆปลาวัวไททันเพื่อรออาหารจากซากและสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก
ปลาวัวไททันยังกินสาหร่ายทะเลในแนวปะการังเขตร้อนบางชนิด พิษตามธรรมชาติ ciguatoxin อาจจะหลั่งออกมา ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อปลาแต่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ ดังนั้นการทานปลาวัวไททัน หรือการถูกกัดอาจเป็นอันตรายได้

การขยายพันธุ์

ปลาวัวไททัน จะมีการปฏิสนธิภายนอก โดยตัวเมียจะขุดหลุมบนพื้นทรายและวางไข่ลงในพื้นทราย โดยจะวางไข่เป็นเวลา 4 วันทุกเดือน ก่อนที่จะวางไข่ ปลาวัวไททันจะมองหาคู่ที่เข้ากัน และดำเนินการเต้นรำผสมพันธุ์เพื่อสร้างความประทับใจให้คู่ครอง หลังจากปฏิสนธิกับไข่แล้วทั้งตัวผู้และตัวเมียจะช่วยกันป้องกันรังจากผู้บุกรุก
ทั้งนี้ นักดำน้ำ พึงระวังปลาวัวไททัน โดยเฉพาะเมื่อพบว่าปลาวัวไททัน มีการยกครีบหลังขึ้น เนื่องจากเป็นสัญญานเตือนว่า กำลังเข้าใกล้รังของปลาวัวไททันมากเกินไป และเสี่ยงต่อการถูกปลาวัวไททันทำร้าย