อีกด้านของจุดเริ่มต้น “พลายศักดิ์สุรินทร์” กลับสู่มาตุภูมิ

05 ก.ค. 2566 | 09:25 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.ค. 2566 | 09:28 น.

เปิดอีกด้านของจุดเริ่มต้นการนำ “พลายศักดิ์สุรินทร์” หรือ “มุธุราชา” Muthu Raja ช้างไทยทูตสันถวไมตรีกลับสู่มาตุภูมิ

การกลับสู่อ้อมอกแผ่นดินแม่ของ “มุธุราชา” หรือ “พลายศักดิ์สุรินทร์” สร้างความปลาบปลื้มให้กับคนไทย หลายคนติดตามความเป็นอยู่ของพ่อพลายกันอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ทราบว่าจะถูกนำกลับมาจากประเทศศรีลังกาหลังอยู่ที่นั่นมากว่า 22 ปี เช่นเดียวกัน ข่าวของพลายศักดิ์สุรินทร์ถูกตีข่าวใหญ่ในศรีลังกา อินเดีย และสื่อทั่วโลก

อีกด้านของจุดเริ่มต้น “พลายศักดิ์สุรินทร์” กลับสู่มาตุภูมิ

หากเข้าไปดูเฉพาะ YouTube และค้นหาคำว่า muthu raja จะเจอวิดีโอจำนวนมากที่พูดถึงช้างไทยพลายศักดิ์สุรินทร์ ที่น่าสนใจคือวิดีโอนี้

มีผู้คนเข้ามาแสดงความความยินดีกับมุธุราชาจำนวนมากที่ได้กลับบ้านเกิด พวกเขาเชื่อว่าพลายศักดิ์สุรินทร์จะได้รับการดูแลรักษาอาการบาดเจ็บอย่างดี

"ฉันปรารถนาจากก้นบึ้งของหัวใจให้คุณไปสู่มาตุภูมิ ปลอดภัย สุขภาพแข็งแรง และมีความสุข" นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่ง

ขณะที่มีส่วนน้อยคัดค้านการกลับมา อาจเพราะความผูกพันและเชื่อว่ามุธุราชาคือ “สิ่งนำโชค” ดังที่เห็นภาพบนโซเชียลมีเดียในหนึ่งปีพลายศักดิ์สุรินทร์จะอยู่ในขบวนพิธีต่างๆ ตามความเชื่อเรื่องพิธีกรรมและศาสนา เเละเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของศรีลังกาที่มีช้างงายาวที่สุดในเอเชีย

เมื่อตรวจสอบในเว็บไซต์ Rare Sri Lanka ได้นิยามองค์กรว่า เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่จดทะเบียนในศรีลังกา สนับสนุนสิทธิของสัตว์ให้เท่าเทียมกันและเป็นอิสระ ก่อตั้งขึ้นในปี 2562 เเละระบุในรายละเอียดว่า ศรีลังกาเป็นจุดที่มีความหลากหลายทางชีวภาพและเป็นที่อยู่ของช้างเอเชียชนิด Elephas maximus และช้างชนิดนี้ใกล้สูญพันธุ์ โดย RARE ได้รับการยอมรับว่าเป็นเสียงของช้างศรีลังกาโดยผู้สนับสนุนช้างและคนรักช้างทั่วโลก

ในเว็บไซต์พบ "เเคมเปญ MUTHU RAJA" มีข้อมูลอัพเดตเกี่ยวกับความพยายามในการช่วยเหลือเพื่อให้พลายศักดิ์สุรินทร์ได้ย้ายไปประเทศไทย

เรื่องราวของ MUTHU RAJA จาก Rare Sri Lanka

มุธุราชา เกิดในประเทศไทยและมีชื่อว่า ศักดิ์สุรินทร์ (ความหมายในภาษาไทย "เกียรติของจังหวัดสุรินทร์") เมื่อเขามีอายุเพียง 10 ปี ได้รับเลือกเเละมอบให้รัฐบาลศรีลังกาให้อยู่ภายใต้การดูแลของวัด Aluthgama Kande Viharaya ในปีพ.ศ. 2544 

ข้อมูลส่วนหนึ่งในเว็บไซต์อ้างว่า วัดปฏิบัติต่อพลายศักดิ์สุรินทร์เหมือนเครื่องจักรทำเงินและให้อยู่ในขบวนพาเหรดทางศาสนาและวัฒนธรรมที่รู้จักกันในชื่อ "เทศกาลเปราเฮรา" ยังระบุว่ามีหลักฐานภาพถ่ายที่พลายศักดิ์สุรินทร์ โดยที่หลังถูกล่ามไว้ (เทคนิคที่เรียกว่าการใส่กุญแจมือของควาญช้างชาวศรีลังกา) และโซ่จากขาหลังไปรอบกระดูกสันหลังที่เชื่อมต่อกับขาหน้าด้าน (เทคนิคการล่ามโซ่ที่เรียกว่าการแบ่งระหว่างควาญช้างชาวศรีลังกา) มีการร้องเรียนว่า มีการนำพลายศักดิ์สุรินทร์ใช้งานที่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้และให้นักท่องเที่ยวขี่

ตั้งแต่ปี 2561 พลายศักดิ์สุรินทร์ เดินกะเผลกและถูกกล่าวหาว่าควาญช้างใช้ตะขอเกี่ยวข้อเท้าของเขาอย่างหนักในระหว่างที่ แคนดี เอซาลา เปราเฮรา เเละในปี 2564  สถานการณ์ของเขาแย่ลง

เขาอายุเพียง 30 ปี แต่ขาหน้าซ้ายของเขาได้รับบาดเจ็บอย่างถาวรเพราะความประมาทเลินเล่อมานานหลายปี เขามีแผ่นรองฝ่าเท้าที่บางมากและมีฝีที่เท้าจากการยืนอยู่บนคอนกรีตตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน  เขามีฝีและบาดแผลฉกรรจ์ทั่วร่างกาย ปัจจุบันปัญหาสุขภาพกลายเป็นเรื้อรัง ผู้จัดงาน แคนดี เอซาลา เปราเฮรา ปฏิเสธที่จะรับเขาในปี 2565 อย่างไรก็ตามวัด Aluthgama Kande Viharaya ยังคงให้ทำงานในงานฉลองเล็ก ๆ น้อย ๆ ของชาวพุทธและฮินดู

ความพยายามที่จะช่วยเหลือ

มีการร้องเรียนจำนวนมากไปยังกรมอนุรักษ์สัตว์ป่าของศรีลังกา (DWC) องค์กรดังกล่าวเขียนจดหมายหลายฉบับถึงกระทรวงสัตว์ป่าและอธิบดีของ DWC ไม่เพียงเท่านั้น แม้แต่องค์กรที่สนับสนุนการกักขังช้างในศรีลังกาก็ร้องเรียนเช่นกัน 

ในที่สุดจึงส่งจดหมายถึงหน่วยงานไทย กระทั่งเดือนกรกฎาคม 2565 ได้รับการติดต่อจากสถานเอกอัครราชทูต และในเดือนสิงหาคมปีเดียวกันทีมงานได้รับเชิญไปยังสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคลัมโบ ซึ่งสามารถนำเสนอสถานการณ์ของพลายศักดิ์สุรินทร์

วันที่ 26 กันยายน 2565 คณะสัตวแพทย์ 5 คนจากประเทศไทยถูกส่งไปยังศรีลังกาเพื่อประเมินอาการพลายศักดิ์สุรินทร์ คณะสัตวแพทย์ไทย ได้ตรวจร่างกายของพลายศักดิ์สุรินทร์และช้างไทยอีก 2 เชือกที่มอบให้ศรีลังกา โดยได้แนะนำให้พักผ่อนทันทีและพาไปที่ Ridiyagama Safari Park 

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคลัมโบได้ร้องขออย่างเป็นทางการไปยัง นายอาลี ซาบรี รัฐมนตรีต่างประเทศศรีลังกา เพื่อเตรียมการสำหรับการเกษียณอายุของพลายศักดิ์สุรินทร์ 

ต่อมาวันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 หลังจากการรณรงค์เป็นเวลา 1 ปีครึ่ง และด้วยความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทย พลายศักดิ์สุรินทร์ ได้ถูกนำออกจากวัด Aluthgama Kande Viharaya เเละเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ได้ย้ายไปอยู่ที่สวนสัตว์ Dehiwala จนในที่สุดได้กลับมายังประเทศไทย ณ เวลานี้ 

ข้อมูล : Rare Sri Lanka