รัฐบาลสั่งเลิกใช้มาตรการกักขังแทนค่าปรับ แก้ปัญหา “คุกมีไว้ขังคนจน”

08 ก.ค. 2566 | 03:33 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.ค. 2566 | 08:03 น.

รัฐบาลสั่งเลิกใช้มาตรการกักขังแทนค่าปรับ แก้ปัญหา “คุกมีไว้ขังคนจน” ให้สอดคล้องกับหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชน มอบกฤษฎีกาฯ แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยถือเป็นเรื่องด่วน

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเลยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา เห็นสมควรให้พิจารณายกเลิกการกักขังแทนค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับไปพิจารณาดำเนินการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยถือเป็นเรื่องด่วน

สำหรับกรณีการยกเลิกการกักขังแทนค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญานั้น ครม.ได้ร่วมกันพิจารณาและมีมติเห็นว่าการกักขังแทนค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา เป็นมาตรการลงโทษที่ไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชน โดยการลงโทษปรับเป็นการบังคับเอาแก่ตัวทรัพย์สินของผู้ต้องโทษ 

แต่การกักขัง เป็นการบังคับเอาแก่เสรีภาพของผู้ต้องโทษ จึงไม่อาจทดแทนกันได้ และหากมีการลงโทษปรับ ก็มีมาตรการ รองรับเพื่อบังคับเอาแก่ทรัพย์สินของผู้ต้องโทษ 

 

รัฐบาลสั่งเลิกใช้มาตรการกักขังแทนค่าปรับ แก้ปัญหา “คุกมีไว้ขังคนจน”

รวมทั้งการทำงานบริการสังคมอยู่แล้ว สมควรพิจารณายกเลิกการกักขังแทนค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญาเพื่อให้สอดคล้องกับหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชน และตามแนวทางการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม จึงลงมติมอบให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา รับไปพิจารณาแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

“รัฐบาลให้ความสำคัญกับความเป็นธรรมตามหลักนิติธรรม และหลักสิทธิมนุษยชน โดยมีนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ วิเคราะห์ ตามหลักการ และความถูกต้อง รวมทั้งควรสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เหมาะสม เพื่อคงความยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญเพื่อความเป็นธรรมในสังคมไทย” นายอนุชา กล่าว

 

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ก่อนหน้านี้ ที่ประชุมครม. เคยได้หารือถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกรณีมาตรการกักขังแทนค่าปรับ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชน โดยได้มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายลำดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 จำนวน 3 ฉบับ ประกอบด้วย 

  • ร่างกฎกระทรวงการแสวงหาข้อเท็จจริง การรวบรวมพยานหลักฐาน และการชี้แจง หรือแก้ข้อกล่าวหา พ.ศ. .... 
  • ร่างกฎกระทรวงการชำระค่าปรับเป็นพินัยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. .... 
  • ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยระเบียบปฏิบัติในการปรับเป็นพินัย พ.ศ. ....

สำหรับกฎหมายลำดับรองทั้ง 3 ฉบับจะสนับสนุนให้การบังคับใช้บทบัญญัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 ที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 มิถุนายน 2566 นี้เกิดผลได้จริง โดยเฉพาะการลบล้างวาทกรรม “คุกมีไว้ขังคนจน” และเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายในอนาคต

ขณะเดียวกันในกรณีที่ผู้กระทำความผิดทางพินัยมีฐานะยากจนและกระทำความผิดด้วยความจำเป็นเพื่อยังชีพของตนและครอบครัว กฎหมายยังให้กำหนดค่าปรับเป็นพินัยในอัตราต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ต้องไม่ต่ำกว่า 50 บาทหรือไม่น้อยกว่าอัตราขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้ และสามารถขอผ่อนชำระค่าปรับเป็นพินัยโดยพิจารณาฐานะการเงิน รายได้ รายจ่าย และภาระหนี้สินของผู้กระทำความผิดทางพินัยด้วย