อัปเดทสถานการณ์น้ำภาพรวมของไทยล่าสุด เช็คพื้นที่เสี่ยง-จุดน้ำท่วม

06 ต.ค. 2566 | 02:03 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ต.ค. 2566 | 02:03 น.

อัปเดทสถานการณ์น้ำภาพรวมของไทยล่าสุด เช็คพื้นที่เสี่ยง-จุดน้ำท่วมที่นี่มีคำตอบ ฐานเศรษฐกิจรวบรวมข้อมูลจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ไว้หใ้หมดแล้วที่นี่ เผยพายุไต้ฝุ่นโคอินุไม่ส่งผลกระทบโดยตรงกับไทย

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เปิดเผยสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 6 ต.ค. 66 โดยระบุว่า 

สภาพอากาศวันนี้

  • อิทธิพลของร่องมรสุมทำให้มีฝนตกหนักมาก บางแห่งบริเวณภาคเหนือ และภาคกลาง

คาดการณ์

ในช่วงวันที่ 6–8 ต.ค. 66 ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง

พายุไต้ฝุ่น “โคอินุ” คาดว่าจะเคลื่อนตัวเข้าใกล้ชายฝั่งด้านตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีนในช่วงวันที่ 6-8 ต.ค. 66 และจะอ่อนกำลังลง โดยพายุนี้ไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย

ปริมาณน้ำรวมทั้งประเทศ ณ วันที่ 5 ต.ค.66 น้อยกว่าปี 2565 จำนวน 8,528 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งยังเพียงพอสำหรับกิจกรรมการใช้น้ำในช่วงฤดูฝนนี้ ทั้งนี้ ขอให้หน่วยงานจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณต้นทุนในอ่างเก็บน้ำ เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำทุกกิจกรรมในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างทั่วถึงและพอเพียง สำหรับการอุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศ อุตสาหกรรม และการเพาะปลูกพืชในฤดูแล้งถัดไป สรุปได้ดังนี้

  • ปริมาณน้ำทั้งประเทศ 55,306 ล้าน ลบ.ม. (67%)
  • ปริมาณน้ำใช้การ 31,158 ล้าน ลบ.ม. (54%)

เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่

  • เฝ้าระวังน้ำมาก 8 แห่ง ภาคเหนือ : แม่งัดสมบูรณ์ชล แม่มอก และกิ่วลม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : ห้วยหลวง ลำปาว หนองหาร น้ำพุง และอุบลรัตน์ ขอให้หน่วยงานพิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบหรือเกิดผลกระทบน้อยที่สุดบริเวณท้ายเขื่อน และคำนึงถึงการเก็บกักน้ำสำหรับฤดูแล้งนี้ด้วย

อัปเดทสถานการณ์น้ำภาพรวมของไทยล่าสุด เช็คพื้นที่เสี่ยง-จุดน้ำท่วม

  • เฝ้าระวังน้ำน้อย 6 แห่ง ภาคเหนือ: สิริกิติ์ ทับเสลา และบึงบอระเพ็ด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จุฬาภรณ์ ภาคตะวันออก : คลองสียัด ภาคตะวันตก: ปราณบุรี ขอความร่วมมือให้เกษตรกรงดการปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง และส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชใช้น้ำน้อย

คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี

สทนช. ประกาศ ฉบับที่ 1/2566 เรื่องเฝ้าระวังน้ำหลากดินถล่ม และน้ำล้นตลิ่ง ในช่วงวันที่ 3 – 7 ตุลาคม 2566 ดังนี้

  • เฝ้าระวังน้ำหลากดินถล่ม ได้แก่ จ.เชียงใหม่ (อ.จอมทอง แม่แจ่ม อมก๋อย แม่วาง แม่แตง ฝาง ดอยเต่า ฮอด ดอยสะเก็ด และกัลยาณิวัฒนา) จ.ตาก (อ.เมืองตาก ท่าสองยาง สามเงา บ้านตาก แม่ระมาด วังเจ้า อุ้มผาง แม่สอด และพบพระ) จ.กำแพงเพชร (อ.โกสัมพีนคร คลองลาน และปางศิลาทอง) จ.ลำพูน (อ.ลี้ และทุ่งหัวช้าง) จ.แพร่ (อ.วังชิ้น และลอง) จ.ลำปาง (อ.เถิน แม่ทะ เสริมงาม และเกาะคา)
  • เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่งบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ ดังนี้ แม่น้ำวัง ได้แก่ อ.สามเงา และบ้านตาก จ.ตาก แม่น้ำยม ได้แก่ อ.สวรรคโลก ศรีนคร ศรีสำโรง ศรีสัชนาลัย ทุ่งเสลี่ยม และเมืองสุโขทัย จ.สุโขทัย และ แม่น้ำเจ้าพระยา คาดการณ์จะมีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ระดับน้ำบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ คลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 1.00 -1.50 ม.

สถานการณ์อุทกภัย พื้นที่ชุมชน รวม 4 จังหวัด 15 อำเภอ 66 ตำบล 397 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 13,738 ครัวเรือน ดังนี้

  • จ.ตาก น้ำท่วมในพื้นที่ อ.สามเงาและบ้านตาก ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
  • จ.กาฬสินธุ์ น้ำเอ่อล้นจากเขื่อนลำปาวในพื้นที่ อ.เมืองกาฬสินธุ์ ร่องคำ ฆ้องชัย ยางตลาด กมลาไสย สามชัย ท่าคันโท หนองกุงศรี สหัสขันธ์ และห้วยเม็ก ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
  • จ.อุบลราชธานี น้ำท่วมในพื้นที่ อ.เมืองอุบลราชธานี และวารินชำราบ ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
  • จ.สมุทรปราการ น้ำท่วมในพื้นที่ อ.บางบ่อ ปัจจุบันระดับน้ำลดลง

พื้นที่เกษตรกรรม รวม 17 จังหวัด 397,497 ไร่ ได้แก่ จ.ลำปาง สุโขทัย ตาก ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ลพบุรี สระบุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ปราจีนบุรี และจันทบุรี