"รฟม." สั่ง BEM ตรวจสอบความปลอดภัย หวั่นซ้ำรอยน้ำรั่วเข้ารถไฟฟ้า

23 พ.ค. 2567 | 10:02 น.
อัปเดตล่าสุด :23 พ.ค. 2567 | 10:06 น.

"รฟม." สั่งคุมเข้ม BEM ตรวจสอบระบบความปลอดภัย 100% ทุกขบวน หลังเกิดเหตุน้ำรั่วบนรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ลุยปรับปรุงระบบปรับอากาศ หวั่นซ้ำรอยเดิมในช่วงฤดูฝน

นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) รักษาการแทน ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากเหตุการณ์เมื่อช่วงหัวค่ำของวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา ที่มีน้ำรั่วเข้ามาภายในขบวนรถไฟฟ้า และมีผู้โดยสารได้รับผลกระทบ นั้น รฟม. ได้เร่งรัดให้ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) ตรวจสอบข้อเท็จจริงและสาเหตุในทันที

 

ทั้งนี้ได้รับรายงานว่า รถไฟฟ้าขบวนที่เกิดเหตุเป็นขบวน VN12 ซึ่งวิ่งออกจากสถานีบางซื่อ ไปยังสถานีเตาปูน มุ่งหน้าปลายทางสถานีท่าพระ เนื่องจากระบบท่อระบายน้ำของเครื่องปรับอากาศมีปัญหา ทำให้น้ำไหลย้อนกลับเข้าสู่ภายในขบวน ไม่ใช่สาเหตุจากน้ำฝนรั่วเข้ามา

ขณะเดียวกันบริษัทฯ ได้ทำการตรวจสอบอุปกรณ์ของระบบปรับอากาศภายในรถไฟฟ้าทุกขบวนเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และได้ปรับปรุงเพิ่มความถี่ในการบำรุงรักษาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นอีก

 

นายวิทยา กล่าวต่อว่า รถไฟฟ้า MRT ทุกขบวนได้มีการออกแบบติดตั้งระบบป้องกันไฟฟ้าลัดวงจรอย่างถูกต้อง ครอบคลุมทุกอุปกรณ์ไฟฟ้าตามมาตรฐาน รวมถึงอุปกรณ์เสาและราวจับต่างๆ ภายในห้องโดยสาร มีการติดตั้งระบบสายดินป้องกันไฟรั่วไว้เช่นเดียวกัน และยังมีการติดตั้งอุปกรณ์เสริมที่สามารถตรวจจับกระแสไฟฟ้ารั่ว เพื่อตัดระบบการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆ ออกไปก่อนที่เกิดปัญหาได้ในทันที

 

"มั่นใจได้ว่าผู้โดยสารจะไม่เกิดอันตรายจากการถูกไฟฟ้าดูดอย่างแน่นอน ทั้งนี้ ผู้รับสัมปทานได้มีการตอบสนองต่อเหตุการณ์ภายในระยะเวลาที่เหมาะสม ถอนรถไฟฟ้าขบวนดังกล่าวออกจากการให้บริการ และเจ้าหน้าที่ประจำสถานีได้ให้ความดูแลผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบแล้ว"

นายวิทยา พันธุ์มงคล กล่าวต่อว่า เหตุการณ์น้ำรั่วเข้ามาภายในขบวนรถไฟฟ้าเป็นเรื่องไม่ปกติและสั่งการให้ผู้รับสัมปทานตรวจสอบสภาพรถไฟฟ้าทุกขบวนว่าปลอดภัย 100% และไม่พบปัญหามีสิ่งอุดตันช่องระบายน้ำใดๆ เหมือนขบวนที่เกิดเหตุ ก่อนจะนำเข้ามาวิ่งให้บริการในระบบ พร้อมทั้งกำชับให้ผู้รับสัมปทานหามาตรการป้องกันที่เหมาะสมจากเหตุใดๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากการให้บริการรถไฟฟ้า MRT ในช่วงฤดูฝน

 

นอกจากนี้การดูแลพื้นที่ก่อสร้างในโครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างก่อสร้างทั้ง 2 สาย ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) และโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช - เมืองทองธานี โดยกำชับให้ ผู้รับจ้างจัดเตรียมมาตรการรองรับการทำงานในช่วงหน้าฝน เพื่อให้มีความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนผู้ใช้เส้นทาง ได้แก่ การตรวจสอบสภาพท่อ/ทางระบายน้ำ ลำลาง และคูคลองต่างๆ

 

ตลอดแนวก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าไม่ให้มีการอุดตัน การป้องกันไม่ให้เศษหินดินทรายตกหล่นไหลลงสู่ทางระบายน้ำและกีดขวางการระบายน้ำ การจัดเตรียมอุปกรณ์เครื่องสูบน้ำให้พร้อมสำหรับใช้งาน พร้อมทั้งจัดหน่วยช่วยเหลือฉุกเฉินและบรรเทาทุกข์เพื่อช่วยเหลือเร่งด่วนเมื่อเกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า และช่วยเหลือรถยนต์ที่จอดเสีย