วันนี้ (23 มิ.ย.) เวลา 9:00 น. ที่สนามบินสุวรรณภูมิ นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ และนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมกันแถลงข่าวถึงผลการจับกุมนายชนินทร์ เย็นสุดใจ ผู้ต้องหาในคดีหุ้น STARK ที่ถูกจับกุมตัวได้ ณ นครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี)
ภายหลังการแถลงข่าว จะนำตัวนายชนินทร์เดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิไปที่ฝ่ายสืบสวนคดีพิเศษและจะฝากขังที่ DSI 48 ชั่วโมงตามกฎหมาย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่จะนำตัวนายชนินทร์ส่งให้ พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ วิเศษเขตการณ์ ผอ.กองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวน ดำเนินคดีและสอบปากคำตามขั้นตอน
ทั้งนี้ ในการแจ้งข้อกล่าวหา เบื้องต้นนายชนินทร์ปฎิเสธทุกข้อกล่าวหา และขอให้รัฐ ดูแลเรื่องความปลอดภัยของตัวเขาเองด้วย
จากนั้นในวันจันทร์ที่ 24 มิ.ย. จะคุมตัวนายชนินทร์ ไปส่งฟ้องต่อพนักงานอัยการ ณ สำนักงานอัยการคดีพิเศษ ถนนรัชดาภิเษก เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร เพื่ออัยการส่งฟ้องต่อศาลอาญา รัชดาภิเษก ตามขั้นตอน
นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีการจับกุมตัว นายชนินทร์ ซึ่งเป็นอดีตประธานกรรมการบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK และในฐานะผู้ต้องหาคดีทุจริตตกแต่งบัญชี ฉ้อโกงประชาชน และฟอกเงิน ระดับหมื่นล้าน ว่า ผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวเข้ามาในประเทศแล้วตั้งแต่ 8.00 น.วันนี้ (23 มิ.ย.) โดยการจับกุมตัวครั้งนี้เป็นความร่วมมือของหลายหน่วยงานเศรษฐกิจ รวมถึงหน่วยงานของทางการสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และถือเป็นบทเรียนสำคัญที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องระวังป้องกันมิให้เกิดขึ้นอีก
ส่วนกระบวนการยุติธรรม คาดราวบ่ายวันจันทร์ (24 มิ.ย. 2567) จะรู้ผลว่าผู้ต้องหาจะได้ประกันตัวหรือไม่ และจากการพูดคุยเบื้องต้นกับผู้ต้องหา พบว่า สาเหตุที่มีการหลบหนีเนื่องจากผู้ต้องหากังวลด้านความปลอดภัยเนื่องจากเคยโดนขู่ประทุษร้าย
สำหรับเรื่องวงเงินความเสียหายและการเรียกร้องนำเงินคืนมาจากผู้ต้องหาที่นำออกนอกประเทศ มอบหมายให้หน่วยงานกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ดูแลดำเนินการต่อไป
คดีหุ้น STARK หรือ คดีผู้บริหาร บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ตกแต่งบัญชีและงบการเงิน และฐานฉ้อโกงประชาชนได้รับความเสียหายกว่า 15,000 ล้านบาท ที่ผ่านมา DSI ได้สั่งฟ้องผู้ต้องหา รวม 11 คน ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ นายชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตประธานกรรมการ STARK แต่เขาได้หลบหนีออกประเทศ ก่อนจะถูกจับกุมตัวได้ในที่สุด โดยทางฝ่ายไทยได้รับการประสานจากทางการสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ว่า ได้เข้าควบคุมตัวนายชนินทร์ตามการร้องขอของรัฐบาลไทยไว้เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2567
สำหรับกรณีคดีนายชนินทร์กับพวกรวม 11 ราย ประกอบด้วย 1.นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ 2.นายชินวัฒน์ อัศวโภคี 3.นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ 4.นายกิตติศักดิ์ จิตต์ประเสริฐงาม 5.บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น 6.บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด 7.บริษัท อดิสรสงขลา จำกัด 8.บริษัท ไทยเคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 9.บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด 10.น.ส.ยสบวร อำมฤต และ 11.นายชนินทร์ เย็นสุดใจ
มีความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน การยักยอกหรือฉ้อโกงหรือการกระทำโดยทุจริตตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน และการยักยอกทรัพย์อันมีลักษณะเป็นปกติธุระ กรณีบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (กรณีหุ้น STARK) ซึ่งมีนายชนินทร์เป็นประธานกรรมการบริษัท มีพฤติการณ์ตกแต่งงบการเงินของบริษัทเพื่อแสดงผลการดำเนินการที่ดีและสูงกว่าความเป็นจริง ต้องการให้เป็นที่สนใจของผู้ลงทุน และได้รับผลประโยชน์ ซึ่งการกระทำของผู้ต้องหามีความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ฐานตกแต่งบัญชีและงบการเงิน และฐานฉ้อโกงประชาชน รวมถึงความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542
ด้านนายเรืองศักดิ์ สุขเสียงศรี ในฐานะทนายความของนายชนินทร์ เปิดเผยว่า เบื้องต้นลูกความแสดงเจตนาต้องการเข้ามอบตัวเพื่อต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรมมานานแล้ว แต่เนื่องจากเกรงจะถูกลอบทำร้าย จึงทำให้ต้องเดินทางไปหลายประเทศในช่วงที่ผ่านมา
พร้อมกันนี้ ในฐานะทนายเชื่อว่า การจับกุมตัวครั้งนี้ที่ประเทศดูไบ สันนิษฐานเป็นการติดต่อขอเข้ามอบตัวมากกว่าโดนจับกุม ซึ่งผู้ต้องหาจะใช้สิทธิ์ขอประกันตัวแล้วต่อสู้คดีไปตามลำดับ
สำหรับคดีการทุจริตใน STARK ทาง DSI รับเป็นคดีพิเศษเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2566 มีผู้เสียหายทั้งสิ้นจำนวน 4,704 ราย มูลค่าความเสียหายจำนวน 14,778 ล้านบาท (คดีพิเศษที่ 57/2566) และเป็นที่คดีที่รัฐบาลเร่งการติดตามอย่างมาก เพื่อเรียกความเชื่อมั่นตลาดหุ้นไทยกลับมาอีกครั้ง