รายงานข่าวจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ กรมการปกครอง ได้ยกร่างพระราชบัญญัติควบคุมการจัดมหรสพที่มีการใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. .... เพื่อนำมาใช้ทดแทน พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493 ที่บังคับใช้มานาน โดยปรับปรุงมาตรการทางกฎหมายให้มีความทันสมัยเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะการควบคุมกิจกรรมที่มีการใช้เครื่องขยายเสียงในปัจจุบันที่มีความหลากหลาย เช่น คอนเสิร์ตกลางแจ้ง รถแห่ หรือแพเธค
สำหรับมีวัตถุประสงค์ในการตรากฎหมาย กรมการปกครอง ระบุว่า เนื่องจากกิจกรรมที่มีการใช้เครื่องขยายเสียงในปัจจุบันนั้น มีวัตถุประสงค์ รูปแบบหรือรายละเอียดที่แตกต่างไปจากในอดีต
โดยปรากฏว่ามีการใช้เครื่องขยายเสียงเพื่อความรื่นเริง เช่น การแสดงดนตรี การร้อง การเต้น ที่จัดขึ้นกลางแจ้ง หรือสถานที่เปิดที่ไม่สามารถควบคุมเสียงได้ เพื่อสร้างความรื่นเริงบันเทิงใจ หรือการโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าหรือบริการ
ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะของคอนเสิร์ตกลางแจ้ง สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ รถแห่ หรือแพเธค ที่มีการติดตั้งเครื่องขยายเสียง และสามารถเคลื่อนที่ไปตามเส้นทางต่าง ๆ ในบางกรณีกิจกรรมเหล่านี้อาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน หรือปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน นำมาซึ่งการสูญเสียทั้งในด้านสังคมและทางเศรษฐกิจ โดยยังไม่มีกฎหมายที่สามารถควบคุมกิจกรรมดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้น เพื่อแก้ไขปรับปรุงมาตรการทางกฎหมายให้มีความทันสมัยเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งกำหนดมาตรการในการบังคับใช้กฎหมายโดยนำเทคโนโลยีหรือระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการพิจารณา และจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเท่าที่จำเป็น รวมทั้งรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
สาระสำคัญ ร่างพระราชบัญญัติควบคุมการจัดมหรสพที่มีการใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. .... กำหนดรายละเอียดต่าง ๆ เช่น กำหนดข้อยกเว้นไม่ให้ใช้บังคับกับการจัดมหรสพที่มีการใช้เครื่องขยายเสียง ในกรณีงานราชพิธีหรืองานรัฐพิธี งานของหน่วยงานรัฐ การประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และการใช้ในสถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ
กำหนดให้มีการยื่นคำขอรับใบอนุญาต โดยผู้ขอรับใบอนุญาตต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข หรือต้องชำระค่าธรรมเนียมใด ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด
กำหนดอำนาจของผู้ออกใบอนุญาตที่สามารถสั่งระงับหรือเพิกถอนใบอนุญาตได้ หากเห็นว่าการจัดมหรสพที่มีการใช้เครื่องขยายเสียงที่ได้รับใบอนุญาตมีลักษณะ ดังต่อไปนี้
กำหนดบทกำหนดโทษปรับเป็นพินัย ในกรณีต่าง ๆ โดยมีระวางโทษปรับเป็นพินัย ตั้งแต่ไม่เกิน 5,000 บาท ถึงไม่เกิน 100,000 บาท
อ่านรายละเอียด : ร่างพระราชบัญญัติควบคุมการจัดมหรสพที่มีการใช้เครื่องขยายเสียง