วันนี้(13 ตุลาคม 2565)เป็นวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่9 แห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์
นับเป็นเวลากว่า 6 ปีแล้วที่ในหลวงร.9 เสด็จสู่สวรรคาลัย เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 สร้างความเศร้าโศกเสียใจให้แก่ประชาชนชาวไทย จนถึงทุกวันนี้ก็ล่วงเลยมากว่า 6 ปีแล้ว
แต่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเพียงไร ในหลวง ร.9 พระองค์ยังอยู่ในหัวใจของปวงชนชาวไทยไม่เสื่อมคลาย และพสกนิกรชาวไทยก็ยังเก็บภาพความทรงจำของพระองค์ท่านไว้ในหัวใจและจะน้อมนำคำสอนของพ่อหลวงเพื่อนำไปปฏิบัติในชีวิตจนถึงทุกวันนี้
ธ สถิตในดวงใจไทยนิรันดร์
น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้
พระราชกรณียกิจต่างๆของพระองค์ท่านทรงงานเพื่อพสนิกรไทยอย่างหนักมาโดยตลอด ด้วยพระหฤทัยที่มุ่งมั่นและหวังให้ประชาชนไทยได้อยู่ดีกินดีอย่างยั่งยืน
นับตั้งแต่ในหลวงรัชกาลที่9 ทรงพระบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 โดยทรงพระราชทานพระปฐมบรมราชโองการเป็นสัจวาจาว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยาม”
พระราชกรณียกิจที่เห็นจนชินตาคือในกลวงร.9 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงกระชับสัมพันธไมตรีกับประเทศต่าง ๆ ทั้งในยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย และ เอเชีย และได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในภูมิภาคต่างๆ ทุกภาค
ทรงประจักษ์ในปัญหาของราษฎรในชนบทที่ดำรงชีวิตด้วยความยากจน ลำเค็ญและด้อยโอกาส ได้ทรงพระวิริยะอุตสาหะหาทางแก้ปัญหาตลอดมาตราบจนปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่า ทุกหนทุกแห่งบนผืนแผ่นดินไทยที่รอยพระบาทได้ประทับลง ได้ทรงขจัดทุกข์ยากนำความผาสุกและทรงยกฐานะความเป็นอยู่ของราษฎรให้ดีขึ้น
ด้วยพระบุญญาธิการและพระปรีชาสามารถปราดเปรื่อง พร้อมด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล ทรงอุทิศพระองค์เพื่อประโยชน์สุขของราษฎร และเพื่อความเจริญพัฒนาของประเทศชาติตลอดระยะเวลาโดยมิได้ทรงคำนึงประโยชน์สุขส่วนพระองค์เลย
ในหลวงรัชกาลที่9 ได้พระราชทานโครงการนานัปการมากกว่า 2,000 โครงการ ทั้งการแพทย์สาธารณสุข การเกษตร การชลประทาน การพัฒนาที่ดิน การศึกษา การพระศาสนา การสังคมวัฒนธรรม การคมนาคม ตลอดจนการเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรในชนบท
ทั้งยังทรงขจัดปัญหาทุกข์ยากของประชาชนในชุมชนเมือง เช่น ทรงแก้ปัญหาการจราจรอุทกภัยและปัญหาน้ำเน่าเสียในปัจจุบัน ได้ทรงริเริ่มโครงการการช่วยสงเคราะห์ และอนุรักษ์ช้างของไทยอีกด้วย
แม้ในยามประเทศประสบภาวะเศรษฐกิจ ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2539 เป็นต้นมา ก็ได้พระราชทานแนวทางดำรงชีพแบบ “เศรษฐกิจพอเพียง” และ “ทฤษฎีใหม่” ให้ราษฎรได้พึ่งตนเอง ใช้ผืนแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดประกอบอาชีพอยู่กินตามอัตภาพซึ่งราษฎรได้ยึดถือปฏิบัติเป็นผลดีอยู่ในปัจจุบัน
ตลอด 60 ปีที่ในหลวงร.9 ทรงครองราชย์ ทรงประกอบพระราชกรณียกิจมากมาย และมีหลายโครงการเกิดขึ้น อาทิ
พระอัจฉริยภาพ
ทั้งในหลวงรัชกาลที่ 9 ยังทรงมีพระอัจฉริยภาพด้านดนตรีอย่างสูงส่ง ทรงพระราชนิพนธ์เพลงอันไพเราะนับแต่พระเยาว์จนถึงปัจจุบันรวม 47 เพลง
นักดนตรีทั้งไทย และต่างประเทศนำไปบรรเลงอย่างแพร่หลาย เป็นที่ประจักษ์ในพระอัจฉริยภาพจนสถาบันดนตรีในออสเตรเลียได้ทูลเกล้าฯ ถวายสมาชิกภาพกิตติมศักดิ์แด่พระองค์
นอกจากนั้นยังทรงเป็นนักกีฬาชนะเลิศรางวัลเหรียญทองในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ทรงได้รับยกย่องเป็น “อัครศิลปิน” ของชาตินอกจากทรงพระปรีชาสามารถด้านดนตรีแล้วยังทรงสร้างสรรค์งานจิตรกรรมและวรรณกรรมอันทรงคุณค่าไว้เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของชาติ
เช่น ทรงพระราชนิพนธ์ แปลเรื่อง ติโตนายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระและพระราชนิพนธ์เรื่องชาดกพระมหาชนก พระราชทานคติธรรมในการดำรงชีวิตด้วยความวิริยะอุตสาหะอดทนจนพบความสำเร็จแก่พสกนิกรทั้งปวง
น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้