'ทีมเวิร์ค คอนซัลแตนท์' ผู้อยู่เบื้องหลัง Carbon Credit ของไทย : The Iconic

29 พ.ค. 2567 | 12:01 น.
อัพเดตล่าสุด :29 พ.ค. 2567 | 12:11 น.

'ทีมเวิร์ค คอนซัลแตนท์' บริษัทผู้อยู่เบื้องหลัง Carbon Credit ของไทย ภายใต้การนำของธีรพงศ์ สังขอินทร์ ด้วยแนวคิด ชุมชน-คน-ป่า-เมือง เชื่อมราชการกับผู้คนในพื้นที่ด้วยประสบการณ์ที่มากกว่า 10 ปี The Iconic ร่วมพูดคุยถึงเคล็ดลับการทำธุรกิจสีเขียวให้เกิดขึ้นจริง

ประเทศไทยได้แสดงเจตนารมณ์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยได้ประกาศเป้าหมายการเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 นั่นหมายความว่า หน่วยงานต่างๆ ในภาพรวมทั้งประเทศ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอัตราเท่ากับที่สามารถจัดเก็บได้ ทำให้ ทุกหน่วยงาน จะต้องดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมเชิงรุก มีการวัดผลที่ชัดเจน 

The Iconic ร่วมพูดคุยกับ คุณธีรพงศ์ สังขอินทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีมเวิร์ค คอนซัลแตนท์ จำกัด ที่ดำเนินการในเรื่องนี้ในระดับต้นๆ ของไทย มีประสบการณ์มากกว่า 10 ปี ซึ่งจะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนไทยสู่สังคมปลอดคาร์บอน

ในวันที่คุณธีรพงศ์เริ่มต้นทำธุรกิจ เกิดจากการเห็นโอกาสในวันที่ตนเองยังทำงานเป็นวิศวกรสิ่งแวดล้อม จึงเริ่มตั้งบริษัทเล็กๆ กับเพื่อนและเข้าประมูลงานต่างๆ ของภาครัฐและเอกชน 

“ในช่วงแรกๆ ประมูลงานจากความถนัดในสายวิชาชีพ เช่น การทำ EIA , รับเหมาขุดลอกร่องน้ำ, ขยายร่องน้ำ, ทำถนนในทะเล เป็นต้น จนกระทั่งมีความชำนาญมากขึ้น จึงค่อยๆ เริ่มขยายการบริการ” 

ปัจจุบัน การดำเนินธุรกิจของ “ทีมเวิร์ค คอนซัลแตนท์” มี 3 ขาหลัก ได้แก่

  1. ด้านสิ่งแวดล้อม การปลูกป่าลดคาร์บอน ซึ่งเป็นที่ต้องการของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งความท้าทายคือพื้นที่ป่ามีเท่าเดิม แต่เพิ่มเติมคือทุกบริษัทกำลังจำจะต้องมีการบริหารคาร์บอนเครดิต 
  2. งานวิศวกรรมขนาดใหญ่ เช่น การออกแบบท่าอากาศยาน, ท่าเทียบเรือ เป็นต้น โดยเน้นการออกแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ขั้นตอนการก่อสร้างไปจนถึงการใช้พลังงานสะอาดเป็นพลังงานหลักของอาคาร 
  3. การออกแบบผังเมืองสีเขียว ซึ่งปัจจุบันมีการออกแบบไปแล้วในพื้นที่กว่า 10 จังหวัดของไทย เพื่อสร้างเมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังออกแบบพื้นที่ระหว่างแผ่นดินและผืนน้ำ ตั้งแต่พังงา กระบี่ ตรัง ภูเก็ต สตูล ยาวไปจนถึงชายฝั่งมาเลเซีย ดูแลการกัดเซาะชายฝั่ง เติมทรายชายหาด ไม่ให้สภาพแวดล้อมเสียหาย 

ทั้งนี้ โครงการด้านสิ่งแวดล้อมคือ พระเอกของ ทีมเวิร์ค คอนซัลแตนท์ เพราะปัจจุบันสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไป โลกกำลังร้อนขึ้น โดยเฉพาะในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพพูมิอากาศ ครั้งที่ 27 (COP27) ที่ไทยเราเข้าร่วมด้วย และมีการประกาศเป้าหมาย Net Zero ร่วมกัน ทำให้เกิดโอกาสทางธุรกิจ 

การทำงานร่วมกับบริษัทต่างๆ ในการบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero นั้น ทีมเวิร์คคอนซัลแตนท์ ทำอยู่ 2 ส่วนสำคัญ ได้แก่ 1.การเพิ่มพื้นที่สีเขียว ปลูกป่าโกงกาง, ป่าบก และ 2.การดูแลภาคธุรกิจให้สามารถลดการปล่อยปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง

“ฝั่งที่ผมคิดว่าสำคัญ คือการเพิ่มพื้นที่ป่าในไทยให้ถึง 40% โดยปัจจุบันมีบริษัทหลายราย ต้องรายงานค่าการปลดปล่อยคาร์บอน ซึ่งกำลังจะส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจมากขึ้น ทำให้มีหลายรายต้องเร่งประสานงานเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่า” 

ปัจจุบันภาครัฐได้ออกมาตรการกำกับดูแล ภายใต้แนวคิด ESG (Environment Social and Governance) ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะโลกกำลังเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนลดการปลดปล่อยคาร์บอน ด้วยการใช้มาตรการทางการเงินและภาษีในการบังคับให้เปลี่ยนแปลง ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยก็ต้องเปลี่ยนเช่นกัน 

ปัญหาของเอกชนไทย คือการขาดความรู้และความเชี่ยวชาญในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยบริษัทใหญ่ที่มีต้นทุนก็อาจจะปรับตัวได้ง่าย แต่บริษัทระดับกลางจนถึง SMEs นั้น ปรับตัวได้ช้า ก็จะใช้บริการของ ทีมเวิร์ค คอนซัลแตนท์ 

 

จากพนักงานบริษัทสู่เจ้าของธุรกิจ

เป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว ที่ ทีมเวิร์ค คอนซัลแตนท์ ดำเนินธุรกิจมา คุณธีรพงศ์ ระบุว่า ความยากไม่ใช่การทำงาน แต่คือการบริหารบุคลากรภายในบริษัท โดยปัญหาหลักๆ ก็คือ เมื่อบุคลากรมีความรู้ ความสามารถเพิ่มขึ้น ก็จะสมองไหลออกสู่บริษัทใหญ่

แม้จะประสบปัญหาสมองไหล จนบริษัทกลายเป็นโรงเรียนของบุคลากรสีเขียว ส่งออกพนักงานไปทำงานที่อื่น แต่ก็ตั้งใจพัฒนาบุคลากรต่อเนื่อง เพราะเชื่อว่า บุคลากรที่มีความสามารถทางด้านสิ่งแวดล้อม คือบุคลากรคุณภาพของประเทศ และการมีบุคลากรคนไทยที่ทำงานในส่วนนี้ ก็ดีกว่าการต้องไปจ้างบริษัทต่างชาติ 

 

หัวใจสำคัญคือการเข้าถึงชุมชน 

ปัจจุบันโครงการของทีมเวิร์ค คอนซัลแตนท์ กระจายอยู่ทุกจุดทั่วประเทศ เพราะต้องเข้าถึงและเข้าใจปัญหาของชุมชน การจะทำโครงการใหม่ๆ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน 

“ทีมเวิร์ค คอนซัลแตนท์ คือตัวกลางเชื่อมระหว่าง บริษัท-ราชการ-ชุมชน สิ่งสำคัญคือความจริงใจ เพราะเครือข่าวชุมชน ชาวบ้านในพื้นที่คือผู้ที่จะช่วยเหลือให้โครงการต่างๆ เกิดขึ้นได้จริง ต้องอธิบายให้พวกเขาเข้าใจอย่างจริงใจ คอนเซ็ปคือ ชุมชน-คน-ป่า-เมือง” 

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,996 วันที่ 30 พฤษภาคม - 1 มิถุนายน พ.ศ. 2567