เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 ถือเป็นวันครบรอบ 27 ปีที่ประเทศไทยประกาศ “ลอยตัวค่าเงินบาท” นำไปสู่การสิ้นสุดระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ตรึงกับตะกร้าเงิน ผลลัพธ์คือการอ่อนค่าลงอย่างรุนแรงของค่าเงินบาท และเกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่สะเทือนทั้งระบบการเงิน ธุรกิจจำนวนมากล้มละลาย และคนจำนวนมากตกงาน
แม้เศรษฐกิจไทยจะผ่านพ้นวิกฤตต้มยำกุ้งมาแล้ว 27 ปี และมีความแข็งแกร่งมากขึ้นในหลายด้าน แต่ยังคงมีความท้าทายและปัญหาที่ต้องเผชิญและแก้ไข ทั้งปัญหาหนี้ครัวเรือน การเข้าสู่สังคมสูงวัย และความสามารถการแข่งขันเมื่อเทียบประเทศคู่แข่ง
ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต หนึ่งในนักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญผู้อยู่เบื้องหลังการแก้ไขปัญหาในครั้งนั้น เปรียบเทียบสถานการณ์เศรษฐกิจช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งกับปัจจุบันว่า แตกต่างกันอย่างชัดเจน ประเทศไทยในวันนี้มีจุดเเข็ง จึงยากที่จะเกิดวิกฤตในลักษณะเดียวกัน เพราะวิกฤตเมื่อปี 2540 นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลายประการ ที่ช่วยให้ประเทศไทยมีภูมิคุ้มกันทางการเงินที่แข็งแกร่งขึ้นในปัจจุบัน
“ถามว่าเหลืออะไรบ้างที่ยังไม่ทำ ก็มีหลายส่วน คือ เเผนช่วงนั้นตั้งใจให้มีการปฎิรูปการคลัง เช่น ขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจากช่วงวิกฤตเพื่อให้สถานะการคลังเข้มเเข็ง ซึ่งปัจจุบันไทยน่าจะเป็นประเทศที่ภาษีมูลค่าเพิ่มต่ำที่สุด 7% ยังมีเรื่องการคลังท้องถิ่นที่ยังต้องทำให้เข้มเเข็งมากขึ้น”
แม้โอกาสที่จะเกิดวิกฤตในรูปแบบเดิมนั้นลดน้อยลง แต่ก็ไม่อาจประมาทได้ เพราะวิกฤตในอนาคตอาจมาในรูปแบบที่คาดไม่ถึง ความท้าทายใหม่ก็กำลังรออยู่เบื้องหน้า ปัญหาหนี้ครัวเรือนกลายเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเฝ้าระวัง และที่น่ากังวลไม่แพ้กัน คือปัญหาเชิงโครงสร้างที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว"
นอกจากนี้ การแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามที่กำลังก้าวขึ้นมาเป็นฐานการผลิตสำคัญในภูมิภาค และความจำเป็นในการปรับตัวสู่อุตสาหกรรมใหม่ๆ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า ก็เป็นโจทย์สำคัญ สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ คือ การเพิ่มขีดความสามารถในการเเข่งขันให้กับแรงงาน
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนแบบเน้นคุณค่าในตลาดหุ้น ให้สัมภาษณ์ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า วิกฤตครั้งนั้นเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเร็ว เพราะมีความสามารถในการแข่งขันค่อนข้างดี เป็นเศรษฐกิจที่โครงสร้างประชากรเป็นคนหนุ่ม ขณะที่ประเทศคู่แข่งยังมีน้อย หากเทียบกับวันนี้ เราเป็นสังคมสูงวัย เด็กเกิดใหม่ที่จะเป็นพลังในอนาคตมีน้อยและโตไม่ทัน รวมทั้งยังเต็มไปด้วยคู่แข่ง อาการประเทศไทยเวลานี้ เหมือนคนเจ็บป่วยเรื้อรัง ตับไตค่อยๆ เสื่อม สถานการณ์ตลาดหุ้นก็ ทรงๆ ทรุดๆ ไม่ได้ตกร่วงรุนแรง แต่ไม่รู้ว่าจะไปต่ออย่างไร ไม่รู้ว่าจะสู้หรือผลิตสินค้าแข่งขันกับประเทศอื่นได้อย่างไร เพราะเราเป็นสังคมคนแก่
“ดังนั้นโอกาสจากนี้ การจะสู้แข่งขัน ผมกลับมองว่ายากกว่าช่วงที่ฟื้นจากวิกฤตการเงินปี 2540 มาใหม่ๆ เพราะล้มอย่างไร ประเทศไทยช่วงนั้นก็ยังเป็นคนหนุ่มที่ฟื้นกลับมาง่ายและพร้อมจะสู้ต่อ แต่รอบนี้โจทย์คือจะทำอย่างไรที่จะปรับโครงสร้างให้เป็นคนหนุ่มแน่น พร้อมกลับมาสู้อีกครั้ง ผมมองว่าเศรษฐกิจไทยวันนี้อย่างดีก็โตแค่ 2-3% และถ้าไม่ทำอะไรเลย ปัจจัยในการสร้างเศรษฐกิจเมื่อหมดไป เศรษฐกิจก็จะดิ่งไปเรื่อยๆ สุดท้ายเราก็จะเหมือนเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ไม่โตเลย หรือโต 0%”ดร.นิเวศน์ กล่าว
ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์หลายคนมองว่า เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังมีความแข็งแกร่งและห่างไกลจากวิกฤตเมื่อเทียบกับช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับต่ำและปัญหาหนี้ครัวเรือนก็ยังเป็นเรื่องที่น่ากังวล
นายนริศ สถาผลเดชา ประธานกลุ่มบริหารจัดการข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูล ธนาคารทหารไทยธนชาต (ttb) มองว่า เศรษฐกิจไทยยังมีความแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง โดยมีกันชนที่สำคัญคือทุนสำรองระหว่างประเทศที่สูงและดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังเป็นบวก แต่ปัญหาสำคัญของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน คือ ภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจ และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการบริโภคและการเติบโตทางเศรษฐกิจได้
ขณะที่การดำเนินนโยบายการคลัง เริ่มเห็นนโยบายระยะสั้นชัดเจนมากขึ้น แต่ยังขาดความชัดเจนเรื่องนโยบายระยะยาว หรือกลยุทธ์ที่จะทำให้ประเทศไทยกลับมาเติบโต โดยเฉพาะตอนนี้ประเทศไทยเป็นคนสูงวัยมากขึ้น อะไรจะเป็นตัวกระตุ้นให้กลับมาเติบโต ขณะที่ความเสี่ยงหลักเรื่องหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง แต่คนสูงอายุมากขึ้น หากจะเกษียณแต่ยังเป็นหนี้และมีรายได้ลดลง เหล่านี้จะฉุดการบริโภค
ซึ่งปีนี้ทีทีบีมองการบริโภคขยายตัว 2.3%จากปีที่แล้วเติบโตที่ 7.1% โดยเครื่องยนต์ที่ยังขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้แก่ภาคท่องเที่ยว ส่งออกและการเบิกจ่ายภาครัฐ แต่การส่งออกทั้งปีน่าจะโต 2-3%
ดร.พิมพ์นารา หิรัญกสิ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผ่านมา 27 ปี ภาพรวมเศรษฐกิจไทยสถานการณ์ปรับตัวดีขึ้นมากจากวิกฤติปี 2540 โดยเฉพาะเสถียรภาพเศรษฐกิจทั้งด้านต่างประเทศตลอดจนภาคธนาคารที่เข้มแข็งขึ้น แต่อาจเผชิญความเสี่ยงทางเศรษฐกิจจากศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยที่อยู่ในระดับต่ำ
ตลอดจนความเปราะบางทางการคลังที่เพิ่มมากขึ้น ท่ามกลางปัญหาเชิงโครงสร้างหลายประการ อาทิ ความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงในหลายอุตสาหกรรม ภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางลงมา รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงานและการเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ เป็นต้น
แม้เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันจะขยายตัวได้ต่อเนื่องและไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤต แต่ภาคครัวเรือนมีสัดส่วนรายจ่ายต่อรายได้สูงและมีภาระหนี้มาก โดยในปี 2566 สัดส่วนรายจ่ายต่อรายได้อยู่ที่ 81.6% ใกล้เคียงกับระดับ 83.5% ในช่วงหลังวิกฤตปี 2541 ขณะที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP เพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงถึง 91.3% ของ GDP ในปี 2566 แต่รายได้ต่อหัวของประชาชนเพิ่มขึ้นในอัตราในที่ช้า
โดยรายได้เฉลี่ยต่อหัวก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง (ปี 2530-2539) โตเฉลี่ยสูงถึง 13.4% ต่อปี และชะลอลงเหลือโตเฉลี่ยปีละ 5.4% ในช่วงก่อนโควิด-19 (ปี 2553-2562) ล่าสุดในปี 2566 รายได้เฉลี่ยต่อหัวโตเพียง 3.0% เท่านั้น
ด้านภาคการคลังเริ่มส่งสัญญาณเปราะบาง โดยในช่วงที่ผ่านมา การขาดดุลงบประมาณต่อ GDP เพิ่มขึ้นมาก จากเพียง -0.4% ในปี 2540 เป็น -4.3% ในปีงบประมาณ 2567 และทางการคาดว่าการขาดดุลงบประมาณจะมากสุดเป็นประวัติการณ์ที่ -4.5% ในปีงบประมาณ 2568 ส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP เพิ่มขึ้นจาก 40.5% ในปี 2540 เป็น 65.7% ในปีนี้ และทางการคาดว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 68.9% ในปี 2570
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มองว่า แม้วิกฤติต้มยำกุ้งจะผ่านพ้นมา 27 ปี ปัญหาเรื่องของค่าเงินบาท ณ ตอนนี้ส่วนตัวมองว่าไม่น่ามีความเสี่ยงอะไรเกิดขึ้นจนลุกลามถึงขั้นกลายเป็นวิกฤต เพราะปัจจุบันประเทศของไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศสูงถึง 220,000 แสนล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 8.9 เท่าของมูลค่าการส่งออกใน 1 เดือน หากมองไปข้างหน้าสิ่งที่ต้องพยายามแก้คือ หนี้ครัวเรือน-ธุรกิจ ให้เร็วที่สุด เพื่อตัดชนวนปัญหาที่อาจลุกลามได้ในอนาคต เพราะภาวะหนี้มีตัวเลขที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา
โดยเฉพาะหนี้จากสินเชื่อจัดชั้นพิเศษ (Special Mention Loans: SMLs) ทั้งหนี้บ้าน หรือหนี้จากสินเชื่อที่อยู่อาศัย และรถยนต์ ที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น จึงเป็นเป้าหมายแรกที่ต้องเร่งเข้าไปแก้ไข เพราะเป็นหนี้เพื่อสร้างความมั่นคงของลูกหนี้ ซึ่งวิธีการมีหลายอย่าง เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ ยืดหนี้ออกไปใหนานขึ้น ให้ลูกหนี้มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ควรใช้เครื่องมือทางการคลัง ในระดับที่เหมาะสมและไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางด้านการคลัง รวมถึงหาทางจัดระบบสวัสดิการต่าง ๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปัจจุบันหนี้ของภาคธุรกิจไทยเป็นหนี้ที่กู้ในประเทศเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นจากเงินบาทที่อ่อนค่าระดับ 36-37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในเวลานี้ ผลกระทบต่อภาคธุรกิจคงไม่เหมือนในปี 2540 แน่นอน ซึ่งเงินบาทที่แข็งค่า หรืออ่อนค่า เป็นตัวสะท้อนให้เห็นถึงความเข้มแข็งหรือความอ่อนแอของเศรษฐกิจ เวลานี้เงินบาทอ่อนค่าลงจากต้นปีเกือบ 7% ถือเป็นสกุลที่อ่อนค่าเป็นอันดับสองของเอเชีย รองจากค่าเงินเยนของญี่ปุ่น ในแง่ข้อดีเงินบาทที่อ่อนค่า ภาคการส่งออก และภาคการท่องเที่ยวของไทยได้อานิสงส์ในทางบวก ขณะที่การนำเข้าได้รับผลกระทบในเชิงลบ เพราะสินค้านำเข้าแพงขึ้นตามค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง
ด้าน นายชัยรัตน์ ธรรมพีร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท บิลท์แลนด์จำกัด(มหาชน)และ อุปนายกสมาคมอาคารชุดไทย มองว่า ปัญหาเศรษฐกิจไทยตอนนี้เป็นน้ำซึมบ่อทราย และแนวโน้มอาจรุนแรง กว่าปี 2540 เพราะสถาบันการเงินไม่ปล่อยสินเชื่อทั้งรายย่อย โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมราคาไม่เกิน3ล้านบาทและลุกลามถึงโครงการกลุ่มระดับกลางบน ทำให้กลายเป็นสต๊อกกลับมาหมุนเวียนขายในตลาด ทางออกผู้ประกอบการต้องมีเงินสดอยู่ในมือ ไม่ก่อหนี้เพิ่มรวมถึง หากสามารถตัดขายโครงการในราคาถูกได้ให้ขาย เพราะไม่ต้องแบกสต๊อกและดอกเบี้ย
ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,006 วันที่ 4 - 6 กรกฎาคม 2567