วันที่ 13 เม.ย. 63 ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) นำแถลงผลการประชุมคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชน ในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
ดร.ทศพร เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้หารือมาตรการต่างๆที่เกี่ยวกับภาคเอกชนว่าภาคธุรกิจติดขัดอะไรบ้าง และมองหลังสถานการณ์คลี่คลายจะมีการปรับตัวอย่างไร และที่ประชุมได้แบ่งการทำงาน 5 กลุ่ม
กลุ่มที่ 1 มีนายปรีดี ดาวฉาย ประธานกรรมการสมาคมธนาคารไทย เป็นผู้รับผิดชอบเพื่อดูว่าหลายธุรกิจยังไม่สามารถเข้าถึงมาตรการสินเชื่อซอฟท์โลน และว่าปัญหาอยู่ไหน จะปลดล็อคอย่างไร
กลุ่มที่ 2 มีนายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นผู้ดูแล เพราะอยากเห็นบางธุรกิจกลับมาเปิดร้าน เปิดกิจการได้เพื่อเกิดสภาพคล่อง โดยคำนึงถึงความปลอดภัยด้วย รวมถึงระบบโลจิสติกเพื่อไม่ให้ทุกอย่างสะดวก
กลุุ่มที่ 3 นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกร จะดูแลเรื่องระบบของเกษตรกร เรื่องเร่งด่วนทำอย่างไร รวมทั้งผลผลิตระยะยาว
กลุ่มที่ 4 นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นผู้ดูแล กลุ่มเอสเอ็มอี จะมีการดูเรื่องเอสเอ็มอีว่าทำอย่างให้ไมโครเอสเอ็มอีที่มีเงินทุนต่ำกว่า 10 ล้านบาทยังอยู่ได้อย่างไร
และกลุ่มที่ 5 นายศุภชัย เจียรวนนท์ สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ดูแลด้านดิจิทัลโซลูชัน เพื่อรองรับสถานการณ์ในอนาคต
"ทุกด้านจะมีการประชุมสรุปรายละเอียดในสัปดาห์นี้ เพื่อนำข้อเสนอทัั้งหมดจะนำเข้าครม.สัปดาห์หน้า เพื่อทำให้เร็วที่สุด"ดร.ทศพร กล่าว
สำหรับข้อเสนอที่น่าสนใจ อาทิ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่า มีมาตรการบางส่วนที่สอท.ต้องติดตามจากที่เคยเสนอไปแล้ว และขอเพิ่มเติม เรื่องไฟแนนซ์ให้กับเอสเอ็มอีที่ยังไม่ปล่อยสินเชื่อ ถ้าจะปล่อยเหมือนหลายประเทศ มีบสย.เข้าไปช่วยค้ำประกัน ส่วนประกันสังคมผู้ประกอบการก็ยังมีปัญหา เพราะนายจ้างได้ลดเพียง 1%
รวมทั้งภาคอุตสาหกรรมที่ได้ผลกระทบกับเงินเดือน ที่เสนอให้รัฐช่วยจ่ายเงินเดือนให้ 50% โดยมีเอกชนช่วย 25% รวมทั้งการจัดซื้อจัดจ้างต้องเน้นสินค้าไทยมากขึ้น และงานโครงการเลื่อนสัญญาสี่เดือนได้หรือไม่
"นอกจากนี้เอสเอ็มอียังมีปัญหามากมาย ไม่ต้องจ่ายภาษีนิติบุคคล 2 ปี ได้หรือเพื่อให้เข้ามาในระบบทีเดียว เรื่องจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตใช้ออนไลน์ทัั้งหมดได้หรือไม่"
ดร. ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการรับฟังความเห็นและการมีส่วนร่วมในการช่วยกันแก้ปัญหาและบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากโควิด 19 จึงได้ตั้งคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชนในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนภาคเอกชน
ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย สภาเกษตรกรแห่งชาติ สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวกับด้านเศรษฐกิจ เพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษา ข้อเสนอแนะ การป้องกัน และแก้ไขปัญหาของภาคธุรกิจเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ให้เป็นไปด้วยความรอบคอบและมีประสิทธิภาพ
ที่ประชุมได้หารือและข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนที่สำคัญ อาทิ (1) ปรับลดค่าไฟฟ้า 5% ทั่วประเทศและลดค่า ft ตามราคาน้ำมัน (2) เอกชนสามารถนำค่าใช้จ่ายสำหรับป้องกันโควิด-19 มาหักค่าใช้จ่ายได้ 3 เท่า (3) ขอให้รัฐออกคำสั่งปิดกิจการโรงแรมเพื่อให้ลูกจ้างได้รับเงินช่วยเหลือจากประกันสังคม (4) ขอให้ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ปีภาษี 2562-2563 กรณี SMEs เหลือไม่เกิน 10% และกรณีผู้ประกอบการอื่น เหลือไม่เกิน 20% (5) รัฐจัดสรรงบประมาณในการจ้างงานและซื้อสินค้าจากผู้ผลิตภายในประเทศ (6) ผ่อนปรนการเข้าถึงสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ
(7) อนุญาตให้จ้างงานเป็นรายชั่วโมง ชม. ละ 40-41 บาท 4-8 ชม/วัน (8) ลดเงินสมทบประกันสังคมของนายจ้างจาก 4% เหลือ 1% (9) ช่วยเหลือแรงงานที่เงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท รัฐจ่าย 50% บริษัทจ่าย 25% ของค่าจ้าง (10) บริษัทนำค่าใช้จ่ายด้านค่าจ้างแรงงาน ในช่วง COVID-19 มาหักภาษี 3 เท่า (11) การผ่อนปรนมาตรการเคอร์ฟิวสำหรับผู้ประกอบการขนส่งสินค้าในเวลากลางคืน (12) การช่วยเหลือผู้ประกอบการขนส่งผู้โดยสารระหว่างเมืองให้มีมาตรฐานเดียวกัน
ทั้งนี้ ภาคเอกชนยังเสนอถึงปัญหาอุปสรรคและความชัดเจนของมาตรการ เช่น การเข้าถึงวงเงินสินเชื่อผ่อนปรนที่มีเงื่อนไขค่อนข้างรัดกุมทำให้ภาคเอกชนไม่สามารถเข้าถึงได้ การกำหนดหลักเกณฑ์การค้ำประกันเพื่อลดความเสี่ยงให้กับสถาบันการเงิน การช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถจ้างแรงงานโดยใช้ประโยชน์จากกองทุนประกันสังคม และการกำหนดมาตรการช่วยเหลือ SMEs ที่ครอบคลุมทั้งระยะเร่งด่วน และระยะฟื้นฟู รวมถึงการปรับโครงสร้างภาคเกษตรไปสู่การทำเกษตรที่มั่นคงและยั่งยืน ซึ่งประเด็นต่างๆ จะได้มีการหารือในรายละเอียดในครั้งต่อไป
เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จึงขอให้คณะที่ปรึกษาฯ ที่เกี่ยวข้องจัดทำข้อเสนอประเด็นเฉพาะด้าน เพื่อเสนอที่ประชุมพิจารณาหารือในรายละเอียดในการประชุมครั้งต่อไป แบ่งเป็น 5 กลุ่ม ดังนี้ (1) กลุ่มมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) ประกอบด้วย สมาคมธนาคารไทย สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และธนาคารแห่งประเทศไทย (2) กลุ่มมาตรการเพื่อการกลับมาเปิดธุรกิจใหม่ ประกอบด้วยหอการค้าไทย
(3) กลุ่มมาตรการเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ (4) กลุ่มมาตรการเพื่อภาคเกษตร ประกอบด้วย สภาเกษตรกรแห่งชาติ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ (5) กลุ่มมาตรการเพื่อการแก้ไขปัญหาด้วยดิจิทัล (Digital Solution) ประกอบด้วยคุณศุภชัย เจียรวนนท์ ซึ่งจะได้พิจารณาคู่ขนานกันไป เพื่อประกอบการพิจารณาในครั้งต่อไป
นอกจากนี้ ระยะต่อไป สศช. จะได้ดำเนินการประมวลความต้องการจากทุกภาคส่วน รวมถึงการเปิดพื้นที่สาธารณะในการรับฟังความคิดเห็นผ่าน Facebook “ร่วมด้วยช่วยคิด” ซึ่งจะได้รวบรวม ประมวลและนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป