ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้(27เม.ย.63) เวลา 09.30 น. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) หรือ ศบค. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล
นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค. แถลงภายหลังการประชุมว่า มีการประชุมศบค.ชุดใหญ่วันนี้ มีรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆ หัวหน้าส่วนราชการเข้าร่วมประชุม โดยนายกรัฐมนตรีขอบคุณการทำงานของศบค.ในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา ทำงานได้ดีมากเป็นที่ชื่นชมทั้งในประเทศและต่างประเทศ อยากให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันต่อสู้ และยึดหลักของสาธารณสุขและองค์การอนามัยโลก
นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรี มีข้อกังวลและห่วงใยประชาชน ผู้ประกอบการเรื่องเศรษฐกิจและรายได้ลดลง จึงมอบเป็นนโยบายให้กำหนดระยะในการผ่อนปรนมาตรการว่า อาจจจะจเป็น 4 ระยะ คือ ระยะแรก 25% ระยะที่สอง 50% ระยะที่สาม 75% และระยะที่สี่ผ่อนปรน 100% ให้ดูเป็นระยะ โดยให้มีการรทบทวนทุก 14 วันอย่างน้อยตามวงรอบ ดูว่าถ้าให้มาตรการไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้นหลังนั้น
"นายกฯบอกว่า ในการควบคุมโรคถ้าเปิดได้ แง้มได้ ก็ปิดได้ ดังนั้นมาตรการต่างๆที่ทดสอบแล้วได้ผลก็ดำเนินการต่อไป แต่ถ้าติดเชื้อมีการระบาดในระรอก2 เป็นเรื่องที่ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น ไม่เช่นนั้นสิ่งที่ทำแล้วจะล้มเหลวทั้งหมด"
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า ในที่ประชุมปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) รายงานให้เห็นถึงกรณีที่อาจจะเกิดขึ้นหากการระบาดเกิดอีกหลังผ่อนปรนมาตรการจาก 3 กรณี 1. กรณีที่ควบคุมได้เต็มที่ ทำให้จะเกิดผู้ป่วยรายใหม่เฉลี่ย 15-30 รายได้ต่อวัน คือการดำเนินมาตรการเหมือนที่ทำอยู่ เมื่อนับเป็นสถิติอีก 3 เดือนข้างหน้าคือ พ.ค. - ก.ค. จะมีผู้ป่วยรวม 1,889 ราย
2.กรณีความเสี่ยงต่ำ คือชะลอการเดินทางเข้าประเทศ ดูแลการกักตัว และธุรกิจที่มีความเสี่ยงตำพอจะเปิดดำเนินการได้ อาจจะมีผู้ป่วยใหม่เฉลี่ย 40-70 รายต่อวัน หรือรวม 4,661 รายในอีก 3 เดือนข้างหน้า
3.กรณีที่ควบคุมได้ยาก มีการเคลื่อนย้ายประชากรไปมา มีการประชุม สัมมนาตามปกติ อาจจะมีผู้ป่วยรายใหม่เฉลี่ยมากถึง 500-2,000 คน ต่อวัน หรือพ.ค. - ก.ค. จะมีคนป่วยรวม 46,596 ราย
"เมื่อตีออกมาเป็นกราฟพยากรณ์การระบาด ถ้าคุมไม่ได้ในกรณีที่ 3 ตัวเลขจะพุ่งพรวด ดูแลไม่หวาดไม่ไหว เพราะถ้ามีคนป่วย 500-2,000 คน แต่ตึงเกินไปในกรณีที่1 ก็อาจจะไม่ใช่ทางออกที่ดี"
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า ขณะที่งานด้านความมั่นคงเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) นำเสนอต่อที่ประชุมศบค. โดยมีการประเมินความสำเร็จในการประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉิน ทำให้การดำเนินการตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เป็นไปอย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพ มีเอกภาพทำงานได้อย่างทันท่วงที มีการลดจำนวนของผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง จากาการสำรวจความคิดเห็น ประชาชน มากกว่า 70% เห็นด้วยกับการประกาศใช้พรก.ฉุกเฉิน
"ดังนั้นที่ประชุมศบค.จึงมีมติให้ขยายพรก.ฉุกเฉิน ต่อไปอีก 1 เดือน คือ 1 พ.ค. ถึง 31 พ.ค. 2563"
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวด้วยว่า สมช.ยังเสนอให้คง 4 มาตรการตามพรก.ฉุกเฉิน คือ 1.ควบคุมการเดินทางเข้าออกราขอาณาจักร ควบคุมเข้าราชอาณาจักร ทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ขยายการ ห้ามอากาศยานบินข้าสู่ประเทศไทยเบินการชั่วคราวออกไปอีก1 เดือนตั้งแต่วันที่ 1-31 พฤษภาคม 2563 เพื่อลดการนำเชื้อโรคเข้าประเทศ
2.ห้ามบุคคลออกนอกเคหะสถาน หรือเคอร์ฟิว ห้ามบุคคลออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว)ห้ามบุคคลใดทั่วราชอาณาจักรออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 22.00 น. ถึงเวลา 04.00 น. 3. งดหรือชะลอการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัด งดหรือระลอการเดินทางข้ามเขต จังหวัดโดยไม่มีเหตุจำเป็น 4.งดการดำเนินกิจกรรมคนหมู่มาก ห้ามบุคคลใดทั่วราชอาณาจักรออกนอก ห้ามประชาชนช้าไปในพื้นที่หรือสถานที่ซึ่งมีคนจำนวนมากไปทำกิจกรรมร่วมกันหรือเสียงต่อการแพร์โรคติดชื้อโควิค-19 เบินการชั่วคราว
โฆษกศบค. กล่าวอีกว่า ส่วนแนวทางผ่อนปรนมาตรการ ต้องเกิดขึ้นภายใต้หลักคิด 1.พิจารณาจากปัจจัยเสี่ยงเป็นหลัก 2. ร้อยละ 50 ยังคงต้องทำงานที่บ้าน ส่วนการพิจารณาการผ่อนปรนกิจการ ดูจากความจำเป็นในการดำรงชีวิต ทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัย ต้องเว้นระยะห่าง มีการวัดอุณหภูมิ การล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ จำกัดจำนวนคนให้เหมาะกับสถานที่ และมีแอพพลิเคชั่นติดตามตัว (หากมี)
"นายกรัฐมนตรีให้ศึกษารูปแบบจากต่างประเทศที่สำเร็จ และนำใช้เป็นประโยชน์ในการควบคุมสถานการณ์ โดยดูเรื่องของสิทธิมนุษยชนกับความปลอดภัยของสาธารณชน ให้จัดสมดุลสองเรื่องนี้อย่างดี รวมทั้งเร่งรัดการตรวจหาเชื้อในกลุ่มเสี่ยงให้มีเทคโนโลยีติดตาม หากไม่ดีขึ้นก็ระงับการผ่อนคลายทันที"
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวถึงแนวทางการผ่อนปรนด้วยว่า ทางสภาพัฒน์ฯ ได้เสนอแนวทางการผ่อนปรนหลังการขยายพรก.อีก1 เดือน โดยนำภาพของการแบ่ง 4 ประเภทธุรกิจ ด้วยแผนภาพ4 สี คือ สีขาว เป็นธุรกิจที่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน กิจการขนาดเล็ก ควบคุมได้ หรือสวนสาธารณะ
สีเขียว เป็นประกอบการขนาดเล็ก ติดแอร์ มีมาตรการควบคุม มีพื้นที่ไม่มาก สนามออกกำลังกาย สี เหลือง เป็นพื้นที่ปิด คนจำนวนมาก ติดแอร์ และสีแดง มีความเสี่ยงสูง อาทิ สนามมวย แหล่งบันเทิง
"การผ่อนแบ่งให้เป็นขั้นๆ นายกฯเห็นชอบในหลักการ แต่ต้องลงรายละเอียด โดยให้เลือกกิจการเหล่านี้มาหมดแล้วไม่ใช่แค่เปิดบางที่หรือบางจังหวัด สมมติว่าเปิดที่สุพรรณบุรีแล้วคนกทม.ก็ต้องขับรถไปสุพรรณบุรี ไมได้ ต้องเปิดทั้งประเทศในกิจการนั้น เพื่อประเมินในกิจการนั้นๆต้องเปิดเหมือนกันทุกจังหวัด โดยมอบให้สภาพัฒน์และทีมที่ปรึกษาภาคธุรกิจ ไปลงรายละเอียดที่จะประชุมช่วงบ่ายนี้เพื่อเสนอครม. พรุ่งนี้ โดยไม่ต้องเร่งรีบ
นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวถึงกรณีเลื่อนวันหยุดนัดขัตฤกษ์เดือนพฤษภาคมทั้งหมดออกไปว่า กระทรวงวัฒนธรรมได้เกริ่นนำและเสนอขึ้นมาในที่ประชุมศบค. โดยใช้หลักการการควบคุมโดยการพิจารณาเดือนที่มีวันหยุดหลายวัน ซึ่งอาจจะมีความสุ่มเสี่ยงหลายวัน ส่วนการมีมติหรือไม่เป็นอำนาจหน้าที่ของครม. เป็นเพียงข้อเสนอชึ้นมาในที่ประชุมซึ่งอาจจะเสนอเข้าครม.พรุ่งนี้
ส่วนกรณีที่มีการแชร์ข้อมูลในโซเชียลมีเดียว่า วันที่ 4 พ.ค.นี้จะมีการเปิดห้างสรรพสินค้า ร้านตัดผม ร้านเสริมสวย นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวว่า ในที่ประชุมศบค.ยังไม่ได้ลงรายละเอียดกิจการ ยืนยันว่ายังไม่มีมติให้เปิด เป็นเพียงการนำเสนอโดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ที่ยังไม่ลงรายละเอียดกิจกรรม แต่มีการลงรายละเอียดโดยใช้ชุดข้อมูล ดูผลกระทบที่จะตามมา ยังไม่กำหนดว่ามีกิจการใดจะได้เปิดวันที่ 4 พ.ค. ตามที่มีการระบุ
"ยังไม่มีการกำหนดชัดเจน แต่ต้องให้พร้อมจริงๆ ที่จะได้ใช้มาตรการพร้อมกันทั้งประเทศด้วย เพื่อความปลอดภัยของคนทั้งประเทศ ซึ่งบ่ายวันนี้สศช.จะมีการประชุมกับภาคเอกชน อาจจะต้องรอบ่ายวันนี้ หรือรอเสนอเข้าที่ประชุมครม.พรุ่งนี้"นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าว