วันที่11พ.ค.63 พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เปิดเผยถึงกรณีให้สำนักข่าวกรองแห่งชาติ รวมถึงกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ทำโพลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่องผลกระทบเกิดจากการประกาศ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 ใน 2 ห้วง คือ
ระยะที่ 1 เพื่อดูมาตรการผ่อนปรนในระยะที่ 2 และระยะที่ 2 คือ ปลายเดือนพ.ค.สอบถามเรื่องให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือยังคงไว้ ว่า ความจริงแล้วไม่ใช่เฉพาะ 2 หน่วยงานดังกล่าว แต่ยังมีหน่วยงานอื่นๆทั้งของรัฐ และเอกชน ดำเนินการจัดทำโพลสำรวจความเห็นของประชาชน
ทั้งนี้ ยืนยันว่าความคิดเห็นที่ได้จากการสำรวจความต้องการของประชาชนเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ต้องนำมาพิจารณาในที่ประชุมศูนย์บริหารจัดการหลักการการแพร่ระบาดของโรคติดต่อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด- 19 (ศบค.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็น ผอ.ศบค. แต่ยังไม่ใช่ปัจจัยหลักที่จะต้องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือยกเลิกเคอร์ฟิว เพราะต้องคำนึงถึงความปลอดภัย เรื่องสุขภาพของประชาชนเป็นที่ตั้ง
การยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จำเป็นต้องพิจารณาหลายๆด้าน ทั้งความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม และความปลอดภัยของประชาชน เช่นเดียวกับเคอร์ฟิว แม้บางกิจกรรม เช่น สถานบริการกลางคืน อย่างผับ บาร์ ยังไม่อนุญาตให้เปิด แต่ยังพบประชาชนออกมามั่วสุมในยามวิกาล เช่น ตั้งวงสังสรรค์ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เล่นการพนัน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่เสี่ยงต่อการระบาดของไวรัสโควิด-19
“อาจจะพิจารณาขยายเวลาออกไปจากเดิม ซึ่งต้องดูกิจกรรมที่จะผ่อนปรนในระยะที่ 2 ว่ามีอะไรบ้าง หากยังมีเคอร์ฟิวจะส่งผลกระทบอย่างไร หรือยกเลิกเคอร์ฟิว จะมีผลอะไรตามมา ส่วนหากจะขยายเวลาเคอร์ฟิวเป็นช่วงเวลาไหนนั้น ยังตอบไม่ได้ ต้องหารือในภาพรวมที่ประชุม ศบค.อีกครั้ง สักวันก็ต้องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อยู่แล้ว ไม่สามารถใช้ไปตลอดได้ เพียงแต่ต้องคำนึงถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เป็นหลัก ในขณะที่ผล กระทบต่อเศรษฐกิจ และประชาชน ก็เป็นสิ่งมองข้ามไม่ได้” เลขาธิการ สมช. กล่าว
เมื่อถามว่า มีแนวโน้มว่าจะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สิ้นเดือนพ.ค.นี้ หรือไม่ หลังครบกำหนดวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 เพราะจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ พล.อ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ใช่ แต่ต้องพิจารณาปัจจัยหลายๆด้านมาประกอบกัน ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องมานั่งประเมินกัน และที่สำคัญต้องดูความร่วมมือของประชาชนและสถานประกอบการ รวมถึงตัวเลขผู้ติดเชื้อยังสามารถควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ที่รองรับได้หรือไม่
ส่วนกรณีฝ่ายการเมืองโจมตีรัฐบาล ยังคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั้งๆตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ลดลงแล้ว เพราะไม่อยากให้มีการชุมนุมนั้น คงไม่เกี่ยว และอย่านำมาโยงกัน การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นเรื่องความปลอดภัยด้านสุขภาพของประชาชนล้วนๆ