16 พฤษภาคม 2563 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า สมาคมฯได้รับการร้องเรียนจากประชาชนในอำเภอเชียงแสน จ.เชียงราย และนักท่องเที่ยวว่าไม่สามารถเข้าไปเที่ยวชม กราบไหว้บูชาหลวงพ่อเชียงแสนสิงห์ 1 ที่ประดิษฐานอยู่ภายในวิหารวัดพระธาตุเจดีย์หลวงได้ เนื่องจากถูกปิดกั้นไว้เป็นเขตอันตราย ห้ามเข้า เพราะเสาไม้ภายในวิหารมีสภาพชำรุดอย่างหนักอาจพังลงมาเมื่อใดก็ได้
ทั้งนี้ วิหารวัดเจดีย์หลวงเชียงแสนดังกล่าว เพิ่งมีการบูรณะกันไปเมื่อปลายปี 2557-2559 เนื่องจากเกิดเหตุแผ่นดินไหว เมื่อ 5 พ.ค.57 มีความรุนแรงถึง 6.3 ริกเตอร์ ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่จังหวัดเชียงราย ส่งผลให้องค์เจดีย์หลวงและวิหารได้รับความเสียหาย กรมศิลปากรจึงใช้งบประมาณแผ่นดินกว่า 45 ล้านบาท และประชาชนองค์กรต่างๆ ช่วยกันบริจาคอีกจำนวนหนึ่งมาร่วมกันบูรณะ โดยการจ้างเหมาบริษัทเอกชนมาดำเนินการบูรณะซึ่งเวลาผ่านไปเพียงไม่ถึง 3 ปีเท่านั้นเสาภายในวิหารก็เกิดการแตกตัว ผุกร่อน เนื้อไม้ยุ่ยเป็นฝุ่นผง มีเชื้อราสีดำคล้ำ บางส่วนแตกหลุดร่อนออกมาเห็นแกนเหล็กที่ตอกขันประกบเสาไว้ชัดเจน ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้อาจพังล้มครืนลงมาทั้งหลังเมื่อไหร่ก็ได้
กรณีดังกล่าวเป็นที่น่าสงสัยเป็นอย่างมากว่า กรมศิลปากรปล่อยให้ผู้รับเหมานำไม้ใหม่ไม่มีคุณภาพมาบูรณะวิหารวัดที่มีอายุเก่าแก่กว่า 676 ปีได้อย่างไร ทั้ง ๆ ที่ใช้งบประมาณสูงกว่า 45 ล้านบาท ซึ่งการตรวจรับการจ้างอาจมีปัญหา ไม่โปร่งใส ซึ่งจำเป็นที่สมาคมฯจะต้องส่งเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไปดำเนินการไต่สวน ตรวจสอบ และเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปากรที่ 7 จังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในพื้นที่ ไปจนถึงอธิบดีกรมศิลปากร ซึ่งดำรงตำแหน่งในช่วงของการว่าจ้างและตรวจรับการจ้าง จะต้องรับผิดชอบทั้งหมด
ทั้งนี้ วัดพระธาตุเจดีย์หลวง อำเภอเชียงแสน เป็นวัดที่เก่าแก่ของเมืองเชียงแสน สร้างโดยพระเจ้าแสนภู พระราชนัดดาของพ่อขุนเม็งรายมหาราช ปฐมกษัตริย์ของอาณาจักรล้านนาไท เมื่อ พ.ศ.1887 (ประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 19 ) มีพระเจดีย์องค์ใหญ่ที่ประดิษฐานอยู่ในวัดซึ่งสูงถึง 88 เมตร มีฐานกว้าง 24 เมตร เป็นพระเจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนาที่ใหญ่ที่สุดในเมืองเชียงแสน ซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังพระวิหารหลวงพ่อเชียงแสนสิงห์ 1 ซึ่งเก่าแก่มาก โบราณสถานแห่งนี้แม้ว่าจะปรักหักพังไปมากแล้วแต่ได้รับการบูรณะเมื่อปลายปี 2557 หลังเกิดแผ่นดินไหวใหญ่เมื่อปี 2557 เพราะเป็นวัดที่สำคัญของเมืองหิรัญนครเงินยางภายในสมัยอาณาจักรล้านนาไทยในอดีต การไม่โปร่งใสในการบูรณะโบราณสถานแห่งนี้จึงเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงมาตรฐานที่ตกต่ำของกรมศิลปากร ซึ่งมิอาจปล่อยไว้ได้ จำต้องจัดการให้ถึงที่สุด นายศรีสุวรรณกล่าว