วันที่ 17 พ.ค.2563พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล รองผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้ประมวลข้อมูลจากหลายเว็บไซต์เพื่อนำเสนอเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจ ควบคู่กับการป้องกันการของเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบ 2 มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เลขาธิการใหญ่คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการประจำกรมการเมืองคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน เมื่อวันที่14 พ.ค.63 โดยได้เน้นย้ำประเด็นสำคัญหลายประเด็น อาทิ การใช้มาตรการที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและควบคุมการระบาดของโควิด-19 การเสริมมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในพื้นที่และสถานที่สำคัญ การปฏิรูปโครงสร้างอุปทาน และการยกระดับของห่วงโซ่อุตสาหกรรม ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
1. ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้กล่าวสุนทรพจน์ที่สำคัญ กล่าวคือ
1.1สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในต่างประเทศยังคงมีความรุนแรงและสลับซับซ้อน ขณะที่ภารกิจในการป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดรอบ 2 ภายในประเทศ ยังคงเป็นเรื่องใหญ่และยากลำบาก ดังนั้น จึงต้องใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่อง และประกันให้ทุกมาตรการในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสได้รับการปฏิบัติอย่างเข้มงวด
ทั้งนี้ จะต้องไม่ยอมให้ความสำเร็จในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดที่ผ่านมานั้นสูญเปล่า ในขณะที่ยังต้องประกันการขจัดความยากจน และการสร้างสังคมพอกินพอใช้ในทุกด้านให้บรรลุเป้าหมาย
1.2 ต้องเสริมมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในพื้นที่และสถานที่สำคัญ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดรอบใหม่ โดยต้องใช้มาตรการป้องกันและควบคุมที่ตอบโจทย์ในพื้นที่ที่เกิดการแพร่ระบาดเมื่อเร็วๆ นี้ เช่น มณฑลเฮยหลงเจียง และมณฑลจี๋หลิน ส่วนมณฑลหูเป่ย และเมืองอู่ฮั่น ต้องเสริมสร้างและปรับปรุงมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดในชุมชนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
สำหรับกรุงปักกิ่งต้องเสริมมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด โดยเฉพาะในช่วงที่จัดการประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีนและสภาปรึกษาการเมืองแห่งชาติจีน
1.3 ต้องเน้นการปฏิรูปโครงสร้างอุปทานในรายละเอียด โดยใช้ประโยชน์จากการที่จีนมีตลาดใหญ่ และมีศักยภาพความต้องการมหาศาลภายในประเทศ เพื่อสร้างรูปแบบการพัฒนาใหม่ให้ตลาดในประเทศและต่างประเทศส่งเสริมซึ่งกันและกัน รวมทั้งยังต้องพยายามสร้างพื้นฐานอุตสาหกรรมใหม่ โดยยกระดับห่วงโซ่อุตสาหกรรมและเสริมนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี
นอกจากนี้ ต้องพยายามผลักดันให้ร้านค้า ตลาด และธุรกิจบริการกลับมาประกอบกิจการตามปกติ ตลอดจนต้องส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อร่วมกันรักษาความปลอดภัยและความมั่นคงของห่วงโซ่อุตสาหกรรมระหว่างประเทศ
2. ข้อสังเกตที่เกี่ยวข้อง
2.1 เมื่อวันที่ 13 พ.ค.63 นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี และสั่งการให้มุ่งสร้าง “6 หลักประกัน” และ “6 ความมั่นคง” เพื่อพยุงเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพในเบื้องต้น จากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงและทำให้จีนต้องเผชิญกับความท้าทายที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งต้องเน้นการสร้างหลักประกัน 6 ด้าน ได้แก่
(1) การมีงานทำและชีวิตความเป็นอยู่ขั้นพื้นฐานของประชาชน (2) ความปลอดภัยของภาคส่วนที่เป็นเอกเทศของตลาด (3) ความปลอดภัยด้านธัญญาหารและพลังงาน (4) ความมั่นคงของห่วงโซ่อุตสาหกรรม (5) ความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทาน และ (6) การดำเนินธุรกิจของสังคมในระดับชุมชนอย่างราบรื่น
รวมทั้งการสร้างความมั่นคง 6 ด้าน ได้แก่ (1) การจ้างงาน (2) การเงิน (3) การค้าต่างประเทศ (4) การลงทุนจากต่างประเทศ (5) การลงทุนภายในประเทศ และ (6) การคาดการณ์ด้านการตลาด
2.2 ข้อมูลในรายงานของกระทรวงพาณิชย์จีน ระบุว่า ปีนี้จีนได้ออกมาตรการดึงดูดทุนต่างชาติจำนวนหนึ่ง เพื่อให้นักธุรกิจต่างชาติมีความมั่นใจกับการลงทุน โดยได้ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติจำนวน 70,360 ล้านหยวน ในช่วงเดือน เม.ย.63 ที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มขึ้น 11.8% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีที่แล้ว และนับเป็นครั้งแรกที่มีอัตราการเติบโตเป็นบวกในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา
ทั้งนี้ การออกนโยบายส่งเสริมทุนต่างชาติได้กระตุ้นให้โครงการทุนต่างชาติที่สำคัญบางส่วนลงตัว โดยในช่วงระหว่างเดือน ม.ค. – เม.ย.63พบว่า อุตสาหกรรมไฮเทคมียอดการลงทุนต่างชาติเพิ่มขึ้น 2.7% ในขณะที่เขตการค้าเสรี ได้ส่งเสริมการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยยืนหยัดเดินหน้าขยายการเปิดประเทศ และให้การสนับสนุนมากขึ้นต่อทุนต่างชาติที่พัฒนาในจีน ซึ่งพบว่า มณฑลกว่างตง มณฑลฝูเจี้ยน และมหานครเทียนจิน ต่างได้จัดตั้งเขตทดลองการค้าเสรี และได้เผยแพร่ผลสำเร็จด้านนวัตกรรม รวมทั้งสิ้น105รายการ เป็นต้น
บทสรุป ที่ประชุมคณะกรรมการประจำกรมการเมืองคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน เมื่อวันที่ 14 พ.ค.63ได้เน้นถึงความจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการที่ยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ใหม่และแนวโน้มใหม่ของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในต่างประเทศ
โดยจะต้องมีความร่วมมือกันระหว่างประเทศอย่างลึกซึ้งในการป้องกันและควบคุมโรคระบาด นอกจากนี้ ต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างด้านอุปทานอย่างลึกซึ่ง เพื่อสร้างรูปแบบการพัฒนาใหม่ โดยเฉพาะการสร้างรากฐานอุตสาหกรรมและยกระดับห่วงโซ่อุตสาหกรรม มีการเสริมความแข็งแกร่งให้กับนวัตกรรมและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
รวมทั้งต้องเสริมสร้างการประสานงานระหว่างประเทศและความร่วมมือกันในการรักษาความปลอดภัยและความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่อุตสาหกรรมระหว่างประเทศ ซึ่งจะทำให้จีนบรรลุเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่กำหนดไว้