ศึกนายก อบจ.อุดรฯ ‘วิเชียร ขาวขำ’เต็งจ๋า เด็ก‘ธนาธร’ท้าชิง

27 พ.ย. 2563 | 06:55 น.

ศึกนายก อบจ.อุดรฯ ‘วิเชียร ขาวขำ’เต็งจ๋า เด็ก‘ธนาธร’ท้าชิง : คอลัมน์ เจาะสนามเลือกตั้ง อบจ. โดย...ทีมข่าวการเมือง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,631 หน้า 10 วันที่ 29 พฤศจิกายน - 2 ธันวาคม 2563

อุดรธานี ถูกขนานนามเมืองหลวงคนเสื้อแดง จากที่มีฐานมวลชนคนเสื้อแดงหนาแน่นเอาการเอางานที่สุดแห่งหนึ่งแล้ว เครือข่ายการเมืองของ “พรรคเพื่อไทย” ยังสามารถยึดกุมตำแหน่งทางการเมืองทั้งระดับชาติและท้องถิ่นไว้แทบเบ็ดเสร็จ 

 

หลังการเข้าควบคุมอำนาจปกครองของ คสช. สนามการเมือง อบจ.อุดรธานี ร้างราการเลือกตั้งมากว่า 9 ปี เมื่อเปิดให้ชิงชัยคำรบนี้ บรรดาผู้เข้าชิงชัยจึงเหมือนมวยเรื้อเวที แต่วิญญาณนักสู้ทันทีที่สนามเปิดต้องลงชิงชัย มีผู้สมัครสมาชิกสภา อบจ. รวม 223 คน และนายก อบจ. 7 คน ประกอบด้วย 

 

หมายเลข 1 นายชวนนท์ ศิริบาล อิสระ 

 

หมายเลข 2 นายฐานวัฒน์ ธนาธัญญพิชญ์ กลุ่มก้าวหน้าอุดรธานี 

 

หมายเลข 3 นายวิเชียร ขาวขำ กลุ่มเพื่อไทยอุดรธานี 

 

หมายเลข 4 น.ส.อิงค์นภัจฉร์ ชินวัตรนุวงศ์ กลุ่มเพื่ออุดร  

 

หมายเลข 5 นายศักดา เกตุแก้ว อิสระ 

 

หมายเลข 6 นายเศรษฐภัทร์ นิตยสิทธิวรางกูล อิสระ และ

 

หมายเลข 7 นายเจริญ หมู่ขจรพันธ์ อิสระ 

 

แม้จะมีผู้สมัครลงชิงชัยถึง 7 คน แต่เมื่อดูลึกถึงในรายละเอียด ก็จะพบว่า สนามนี้เป็นการชิงเก้าอี้ระหว่างพันธมิตรซีกฝ่ายค้าน คือ สายตรงพรรคเพื่อไทย กับ ตัวแทนกลุ่มก้าวหน้า ของอดีตพรรคอนาคตใหม่ และแกนนำมวลชนคนเสื้อแดงเป็นหลัก แม้จะมีอดีตแกนนำกปปส.อุดรธานี จะแทรกลงสมัครแข่งขันด้วย แต่เทียบนํ้าหนักวัดฟอร์มแล้วคงเบียดขึ้นชิงไม่ไหว

 

โดย “เต็งจ๋า” สนามนี้แวดวงการเมืองท้องถิ่นอุดรธานียังยกให้ “วิเชียร ขาวขำ” อดีตนายก อบจ.อุดรธานี ที่คราวนี้ลงสนามได้เบอร์ 3 วิเชียร เป็นลูกหลานชาวอำเภอบ้านผือ จ.อุดรธานี โดยกำเนิด เล่นการเมืองสนามใหญ่เป็นส.ส.ตั้งแต่ 24 กรกฎาคม 2531 ที่ได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.เขต 2 อุดรธานี ในนามพรรคปวงชนชาวไทย จากนั้นวนเวียนอยู่หลายพรรคกับส.ส.5 สมัย  ทั้งชาติไทย ชาติพัฒนา กิจสังคม จนมาสังกัดพรรคพลังประชาชน ที่ต่อมาเป็นพรรคเพื่อไทย เรียกว่าสั่งสมประสบการณ์การทางการเมืองมาอย่างโชกโชน 

 

ก่อนจะเบนเข็มสู่สนามท้องถิ่นลงชิงเก้าอี้ นายก อบจ.อุดรธานี ในช่วงวิกฤติความขัดแย้งการเมืองที่ยืดเยื้อ ได้นั่งเก้าอี้นายก อบจ.อุดรธานี มาตั้งแต่ 17  มิถุนายน 2555  กระทั่งช่วงคสช.ได้นั่งเก้าอี้ต่อ จนเปิดให้จัดเลือกตั้งอีกครั้งในครั้งนี้ เท่ากับได้ทำงานในพื้นที่ต่อเนื่องมากว่า 8 ปี

 

ลงสมัครครั้งนี้ถือเป็นตัวแทนพรรคเพื่อไทย มีเครือข่ายทั้งการเมืองใหญ่ของส.ส.พรรค และเครือข่ายนักการเมืองท้องถิ่นที่ร่วมทีมส่งสมัคร ส.อบจ. อุดรธานี สามารถขึงฐานเสียงได้ครอบคลุมแทบทุกเขตเลือกตั้ง 

 

ศึกนายก อบจ.อุดรฯ ‘วิเชียร ขาวขำ’เต็งจ๋า เด็ก‘ธนาธร’ท้าชิง

 

คู่แข่งที่พอจะสมนํ้าสมเนื้อในสนามแข่งขันคราวนี้ได้แก่ หมายเลข 2 ฐานวัฒน์ ธนาธัญญพิชญ์ กลุ่มก้าวหน้าอุดรธานี โดยการเมืองท้องถิ่นอุดรธานีนี้ เป็น 1 ใน 32 จังหวัดเป้าหมายการส่งคนลงสนามของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ปัจจุบันขับเคลื่อนในนาม “คณะก้าวหน้า”  

 

“ฐานวัฒน์” เคยเป็นข้าราชการ ตำแหน่งสุดท้ายก่อนลงสมัครชิง นายก อบจ. เป็นเกษตรจังหวัดอุดรธานี โดยหลังลงสมัคร “ธนาธร” ได้มาเดินสายเปิดตัวการลงสนาม เช่นเดียวกับที่อื่นรวม 9 จังหวัดในอีสาน ทั้งอุดรธานี หนองบัวลำภู หนองคาย บึงกาฬ  

 

แต่เมื่อเทียบกระดูกการเมืองแล้วต้องยอมรับว่า “ฐานวัฒน์” ยังห่างชั้น “วิเชียร” อยู่มาก ปัจจัยชี้ขาดอยู่ที่สายป่านแรงสนับสนุนจากกลุ่มก้าวหน้า ว่าจะไหลมาเรียกคะแนนให้ได้ตลอดจนถึงวันเลือกตั้งหรือไม่เท่านั้น  

 

 

นอกจากเบียดชิงกันเองระหว่าง “ฐานวัฒน์-ส้ม” กับ “วิเชียร-แดง” แล้ว ยังมีอีก 1 คนเสื้อแดงลงสนามในหมายเลข 4 คือ น.ส.อิงค์นภัจฉร์ ชินวัตรนุวงศ์ (จันทร์ยงค์) หรือดีเจกี้ อดีตนักจัดรายการวิทยุ สถานีวิทยุชุมชนคนรักไท (เสื้อแดง) 106.25 เม็กกะเฮิร์ต ของคนเสื้อแดงอุดรฯ  โดยลงสมัครในนามกลุ่มเพื่ออุดร โดยเป็นตัวแทนกลุ่มมวลชน  

 

เช่นเดียวกับ นายเจริญ หมู่ขจรพันธ์ ที่ลงสมัครเป็นคนสุดท้ายได้หมายเลข 7 ในนามอิสระ อดีตเป็นหนึ่งในแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) จ.อุดรธานี และเป็นโจทก์ฟ้อง นายขวัญชัย ไพรพนา พร้อมพวก เป็นจำเลย จากเหตุนำคนบุกทำร้ายกลุ่มพันธมิตรฯ ที่หนองประจักษ์ ครั้งนี้เปิดตัวลงชิงนายก อบจ.อุดรฯ ด้วย เป็น “สีเหลือง” ในดงสีแดงเพื่อเป็นทางเลือก 

 

ส่วนผู้สมัครอื่นนอกจาก 2 ตัวหลักระหว่าง “มุมแดง-มุมส้ม” ชิงชัยในศึก “ค้านชนค้าน” ข้างต้นแล้ว โอกาสพลิกล็อกยาก ลงสนามครั้งนี้คงจะเป็นการหาประสบการณ์ทางการเมืองท้องถิ่นไปก่อน