มีการปรับโครงสร้างส่วนราชการและอำนาจหน้าที่หน่วยงานใน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็น องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล และ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)
พ.จ.อ.ชนินทร์ ราชมณี ผู้อำนวยการส่วนประสานการถ่ายโอนบุคลากรและมาตรฐานตำแหน่ง กรมส่งเสริมการปก ครองท้องถิ่น (สถ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2564 ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมคณะกรรมการกลางข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ก.จ.) คณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล (ก.ท.) และ คณะกรรมการกลางพนักงานส่วนตำบล (ก.อบต.) โดยที่ประชุมได้มีมติกำหนดแนวทางปฏิบัติในการปรับโครงสร้างส่วนราชการและอำนาจหน้าที่ของ อบจ. เทศบาล และ อบต. เพิ่มเติม โดยสรุป ดังนี้
1. การกำหนดกลุ่มงาน
เทศบาล หรือ อบต. ประเภทสามัญ และ อบจ. ที่ได้ดำเนินการกำหนดโครงสร้างส่วนราชการใหม่ตามประกาศมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการ วิธีการบริหารและการปฏิบัติงานของข้าราชการ หรือพนักงานส่วนท้องถิ่น และกิจการอันเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2563 และประกาศกำหนดกอง สำนัก หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2563 แล้ว
ภายหลังหากประสงค์จะกำหนด “กลุ่มงาน” ต้องมีการประเมินตัวชี้วัด ค่างานต่างๆ โดยใช้เช่นเดียวกับการกำหนด “ฝ่าย” ตามประกาศมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับโครงสร้างส่วนราชการและระดับตำแหน่งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
2. การแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่ง “หัวหน้ากลุ่มงาน”
เมื่อ อบจ. เทศบาล หรือ อบต. ได้รับความเห็นชอบให้กำหนด “กลุ่มงาน” และประกาศปรับปรุงแผนอัตรากำลัง 3 ปี แล้ว ให้มีคำสั่งแต่งตั้งข้าราชการ หรือ พนักงานส่วนท้องถิ่น ตำแหน่งประเภทวิชาการระดับชำนาญการพิเศษ ที่มีลักษณะงานสอดคล้องกับกลุ่มงานนั้น ดำรงตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มงาน หากไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งระดับชำนาญการพิเศษ ให้แต่งตั้งข้าราชการ หรือ พนักงานส่วนท้องถิ่นตำแหน่งประเภทวิชาการระดับชำนาญการ/ปฏิบัติการที่มีลักษณะงานสอดคล้องกับกลุ่มงานนั้น รักษาการในตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มงาน
โดยผู้ดำรงตำแหน่งระดับชำนาญการ แม้จะได้รับการแต่งตั้งให้รักษาการ ในตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มงาน หากจะเลื่อนเป็นระดับชำนาญการพิเศษ ต้องขอปรับ ปรุงตำแหน่งเป็นระดับชำนาญการพิเศษ ตามประกาศมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับการคัด เลือกเพื่อเลื่อนและแต่งตั้งข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นตำแหน่งประเภททั่วไปและประเภทวิชาการให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้น พ.ศ. 2561 ลงวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หากผู้นั้นผ่านการประเมินฯ และได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งระดับชำนาญการพิเศษแล้ว ให้อปท.เสนอขอความเห็นชอบต่อ ก.จังหวัด เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มงาน
3. กรณีตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มงานว่าง
กรณีผู้ที่ดำรงตำแหน่งระดับชำนาญการพิเศษในฐานะหัวหน้ากลุ่มงานว่างลง ให้กำหนดตำแหน่งและเลขที่ตำแหน่งนั้น เป็นระดับปฏิบัติการ/ชำนาญการ รวมถึงการคิดภาระค่าใช้จ่ายด้านการบริหารงานบุคคลตามแนวทางการจัดทำแผนอัตรากำลัง 3 ปี
หาก อปท. ประสงค์จะเปลี่ยนตำแหน่ง “หัวหน้ากลุ่มงาน” เป็นตำแหน่ง “หัวหน้าฝ่าย” สามารถดำเนินการได้ โดยขอความเห็นชอบต่อ คณะกรรมการข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น (ก.จังหวัด) โดยไม่ต้องประเมินตัวชี้วัด
ค่างานต่างๆ
4. การเปลี่ยนแปลงตำแหน่ง “หัวหน้าฝ่าย” เป็นตำแหน่ง “หัวหน้า กลุ่มงาน”
หาก อปท.ประสงค์จะเปลี่ยนตำแหน่ง “หัวหน้าฝ่าย” เป็นตำแหน่ง “หัวหน้ากลุ่มงาน” ก็สามารถดำเนินการได้ โดยขอความเห็นชอบต่อ ก.จังหวัด (ตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายดังกล่าว ต้องเป็นตำแหน่งที่ว่างใหม่ไม่เกิน 60 วัน)
5. การกำหนดโครงสร้างภายในฝ่าย/กลุ่มงาน
ให้ อปท.กำหนดตำแหน่งข้าราชการสายงานผู้ปฏิบัติไม่น้อยกว่า 2 อัตรา โดยให้มีตำแหน่งประเภทวิชาการอย่างน้อย
1 อัตรา
6. การกำหนดโครงสร้างส่วนราชการ
อบจ. ต้องประกาศกำหนดโครง สร้างส่วนราชการที่มีความจำเป็น (ส่วนราชการหลัก) ทั้ง 9 ส่วนราชการให้
ครบถ้วน
กรณี เทศบาล หรือ อบต. ประเภทสามัญ ได้ผ่านการประเมินเพื่อปรับเป็นประเภทสามัญ ระดับสูง หรือ ประเภทพิเศษ แล้ว ต้องดำเนินการ ดังนี้
เทศบาลต้องประกาศกำหนดโครงสร้างส่วนราชการที่มีความจำเป็น (ส่วนราชการหลัก) จำนวน 9 ส่วนราชการให้ครบถ้วน
สำหรับ อบต. ก็ต้องประกาศกำหนดโครงสร้างส่วนราชการที่มีความจำเป็น (ส่วนราชการหลัก) จำนวน 8 ส่วนราชการให้ครบถ้วน
7. กำหนดชื่อฝ่าย (เพิ่มเติม) ดังนี้
• กองช่าง/สำนักช่าง กำหนดให้มี ฝ่าย/กลุ่มงานสวนสาธารณะ
• กองพัสดุและทรัพย์สิน กำหนดให้มี ฝ่าย/กลุ่มงานจัดซื้อ ฝ่าย/กลุ่มงานจัดจ้าง ฝ่าย/กลุ่มงานตรวจสอบและจำหน่ายพัสดุ ฝ่าย/กลุ่มงานพัสดุและยานพาหนะ
8. อปท.ใดที่มีชื่อส่วนราชการ ชื่อส่วน หรือ ชื่อฝ่ายไม่สอดคล้องกับชื่อที่กำหนดตามบัญชีแนบท้ายประกาศมาตร ฐานทั่วไปฯ ให้ อปท. เสนอ ก.จังหวัด ขอเปลี่ยนชื่อให้สอดคล้องกับประกาศมาตรฐานทั่วไปฯ
9. กำหนดให้มีการคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการปรับปรุงส่วนราชการและการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับตำแหน่ง ในการย้าย/โอน/ การสอบคัดเลือก/คัดเลือก
10. กำหนดเกี่ยวกับการแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินการขอกำหนดตำแหน่ง ของ อบจ. ใหม่ โดยประกอบด้วย
• ผู้ทรงคุณวุฒิที่ ก.จ.จ. คัดเลือก เป็น ประธาน
• ผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องที่ ก.จ.จ. คัดเลือกจำนวน 2 คน เป็นกรรมการ
• ผู้นำชุมชนในเขตจังหวัด ที่ ก.จ.จ. คัดเลือกจำนวน 1 คน เป็นกรรมการ
• ท้องถิ่นจังหวัดหรือผู้ที่ท้องถิ่นจังหวัดมอบหมาย เป็นกรรมการและเลขานุการ
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,676 หน้า 10 วันที่ 6 - 8 พฤษภาคม 2564