ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการทำหน้าที่ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎร ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา มี 4 เรื่องสำคัญที่ผลักดันให้ประชาชน ไล่ตั้งแต่ 1 การขยายผลจังหวัดโมเดลจาก 3 เป็น 9 จังหวัด ประกอบด้วย สกลนคร, กระบี่, จันทบุรี, สงขลา,สมุทรปราการ, นครราชสีมา, กาฬสินธุ์, หนองคาย, เชียงใหม่ เกษตรกรหลายร้อยคนในโครงการ มีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 10,000 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง
ด้วยการที่เกษตรกร ไม่รอ ไม่ขอ ความช่วยเหลือจากใคร แต่ลุกขึ้นทำงานด้วยตัวเอง ด้วยความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ทีมอาจารย์และนักวิจัยนำไปมอบให้พร้อมกับการ “พาทำ” คืออาจารย์และเกษตรกรลงมือทำงานในแปลงด้วยกัน และวัดผลสำเร็จด้วยผลผลิตที่มีคุณภาพสูงได้มาตรฐาน
และที่สำคัญคือขายได้เงินเข้ากระเป๋าเกษตรกรจริง สำหรับเกษตรกรในบางพื้นที่ที่เก่งและกล้าได้ยกระดับตัวเองปลูกสมุนไพรและไม้ดอก ที่มี“สารออกฤทธิ์”สามารถสร้างรายได้หลายหมื่นบาทต่อเดือน 2 ผลักดันเรื่องการตรวจ เชิงรุก การเร่งฉีดวัคซีนให้มาก
การตั้งศูนย์พักคอยในชุมชน (Community Isolation) การกักตัวที่บ้านพร้อมการเชื่อมระบบถึงศูนย์แพทย์ใกล้บ้าน (Home Isolation) จนถึงการให้ยารักษาผู้ป่วยติดเชื้อที่จัดส่งโรงพยาบาล
ที่สำคัญคือพยายามผลักดันให้ใช้ฟ้าทะลายโจร จนกระทรวงสาธารณสุขกำหนด ในแนวปฏิบัติการรักษา (Clinical Practice Guideline) ให้ใช้ฟ้าทะลายโจรได้ แต่น่าเสียดายที่แพทย์แผนปัจจุบันยังยอมรับฟ้าทะลายโจรน้อยไป ทั้งที่กระบวนการทำงานของสารออกฤทธิ์ (Andrographolide) ทำงานไม่ต่างจากยา Favipiravir เท่าไร และให้ผลต่อการยับยั้งการแพร่ขยายตัวของไวรัสที่ใกล้เคียงกัน
ที่ต่างกันคือฟ้าทะลายโจรราคาถูกกว่ายา Favipiravir หลายร้อยเท่า และเกษตรกรที่ปลูกมีรายได้จากการขายฟ้าทะลายโจร ในขณะที่ยา Favipiravir บริษัทต่างชาติได้ประโยชน์
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต่อว่า เรื่องที่ 3 คือ การผลักดันให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานพัฒนา หรือ สพฐ. ระบบการสอนออนไลน์เพื่อให้นักเรียนได้เรียนที่บ้านอย่างเป็นระบบ และเมื่อกลับเข้าชั้นเรียนสามารถนำเข้าสู่การถามตอบและอภิปรายประเด็นปัญหาของสาระวิชาได้เลย เพราะนักเรียนฟังบรรยายของครูผ่านออนไลน์ไปแล้ว สพฐ.ไม่ได้ทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง จึงทำให้นักเรียน“รุ่นโควิด” มีคุณภาพการเรียนที่ลดลง
และตนเป็นคนแรก ๆ ที่กล่าวถึง “วัคซีนเด็ก” ของไฟเซอร์ที่รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการจะต้องเร่งฉีด ให้นักเรียน และในที่สุดการฉีดวัคซีนนักเรียนก็เกิดขึ้น ส่งผลให้นักเรียนไปโรงเรียนได้ด้วยความปลอดภัย และมั่นใจมากขึ้น
นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้สพฐ.สนใจโรงเรียนขนาดเล็กในชนบทห่างไกลมากขึ้น แทนที่สพฐ.จะคอยรวบหรือปิดโรงเรียนขนาดเล็กในถิ่นทุรกันดารห่างไกล สพฐ.ยอมที่จะรักษาโรงเรียนดังกล่าวไว้ และเพิ่มการสนับสนุนด้านงบประมาณและจำนวนครูเพื่อให้คงสภาพการเรียนการสอนที่มีคุณภาพไว้ได้
และ 4 การปฏิบัติหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎร ได้อภิปรายปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำที่ปรากฏความรุนแรงกับเกษตรกรรายย่อย SME ขนาดเล็ก จนถึงคนชายขอบอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ ในร่างพระราชบัญญัติสำคัญ เช่น ที่ดินทำกิน, พืชกระท่อม, อาหาร เป็นต้น
พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลนำองค์ความรู้ ส่งเสริมการวิจัย และนำผลการวิจัยไปแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำของคนฐานราก พรบ.กระท่อม และพรบ.ส่งเสริมการใช้ผลงานวิจัยที่รัฐสภาผ่านความเห็นชอบไปแล้ว ปรากฏมาตรการส่งเสริมการวิจัย การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ จนถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกษตรกรฐานรากจะได้รับประโยชน์
“แม้ทำงานอย่างทุ่มแท แต่ก็ยังคิดว่าทำงานเพื่อประชาชนฐานรากได้ไม่มากเท่าที่ตั้งใจ แต่ก็เกิดผลสำเร็จก็มากพอที่จะทำให้ผมมองเห็นแนวทางการแก้ไขปัญหา“ความยากจน”และ“ความเหลื่อมล้ำ”ชัดเจน ทำให้ผมยังมีความหวังกับประเทศไทย
ต่อจากนี้ผมจะพยายามทำงานให้มากขึ้น และหวังว่าความสำเร็จที่เป็นผลดีกับประชาชน จะมากขึ้นในปีหน้าครับ สวัสดีปีเก่า 2564 ครับ ของขวัญเดียวที่ผมจะมอบให้พี่น้องประชาชนได้คือ การทำงานหนัก รักษาผลประโยชน์ชาติ ในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทยอย่างเต็มที่” ศ.ดร.กนก กล่าว