พ่ายแพ้อย่างยับเยินสำหรับ “พรรคพลังประชารัฐ” ในศึกเลือกตั้งซ่อมส.ส. เขต 9 กรุงเทพมหานคร(กทม.) หลักสี่-จตุจักร เมื่อวันที่ 30 ม.ค.2565 ที่ผ่านมา
ผลการลงคะแนนของ “คนกรุง” บ่งชี้ทิศทางการเมืองไทยในอนาคตได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
ผลการลงคะแนนปรากฏว่า พรรคเพื่อไทย ที่ส่ง สุรชาติ เทียนทอง ลงล้างตา ชนะไปด้วยคะแนน 29,416 คะแนน ขณะที่แชมป์เก่า พลังประชารัฐ ส่ง สรัลรัศมิ์ เจนจาคะ ภรรยา สิระ เจนจาคา อดีตส.ส. ได้เพียง 7,906 คะแนน เข้ามาเป็นอันดับที่ 4 แพ้ผู้ชนะไปถึง 21,510 คะแนน
ขณะที่การเลือกตั้งเมื่อ 24 มี.ค.62 สิระ เจนจาคะ อดีตส.ส.เขตนี้ ชนะเลือกตั้งได้ไปถึง 34,907 คะแนน
โดยอันดับ 2 ตกเป็นของ กรุณพล เทียนสุวรรณ พรรคก้าวไกล ได้ 20,361 คะแนน ตามด้วย อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี พรรคกล้า ได้ 20,047 คะแนน อันดับ 5 พันธุ์เทพ ฉัตรนะรัชต์ ของพรรคไทยภักดี ได้ 5,957 คะแนน
ปรากฏการณ์ในการโหวตของประชาชนในพื้นที่จตุจักรและหลักสี่ เป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนภาพความรู้สึกของประชาชน ที่กัดกร่อนจากความแตกแยกภายในพรรคพลังประชารัฐ
ความพ่ายแพ้ยับเยินของพรรคพลังประชารัฐ มีหลายปัจจัย แต่ปัจจัยสำคัญเกิดจาก “สนิมเนื้อในตน-ความไม่เป็นเอกภาพ-ความขัดแย้งภายในพรรค”
เป็นความพ่ายแพ้ที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ พรรคที่อยู่ฝ่ายรัฐบาล แพ้แบบไม่มีทางสู้ เหมือนเป็นการส่งสัญญาณว่า พรรคพลังประชารัฐ "จบแล้ว"
สำหรับปัจจัยที่ทำให้ “พลังประชารัฐ” พ่ายแพ้ยับเยินในการเลือกตั้งครั้งนี้ เกิดจากอะไรได้บ้าง
-คะแนนนิยมส่วนตัว “สิระ”ตกต่ำหลังทำงานในสภา และมีคดีติดตัว ขณะที่หัวคะแนน กปปส.ต่อต้าน
-พรรคพลังประชารัฐไม่มีความเอกภาพ เห็นได้จากปัญหาการขับกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า พ้นพรรค
-คะแนนนิยมพรรคพปชร.- พล.อ.ประยุทธ์ – พล.อ.ประวิตร ตกต่ำ
- พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ชัดเจนกับท่าทีใน พปชร. ประชาชนมองพรรคเป็นของ พล.อ.ประวิตร มากกว่า
- สุรชาติ เทียนทอง ผู้สมัครเพื่อไทย ลงพื้นที่ต่อเนื่อง บวกกับคะแนนพรรคเพื่อไทย บวก คะแนน คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์
- อรรถวิชช์ ผู้สมัครพรรคกล้า มีฐานเสียงเดิมหนาแน่น โดยเฉพาะจตุจักร ทำให้ไปตัดเสียงพลังประชารัฐ
- พรรคไทยภักดี แย่งฐานเสียงกลุ่มอนุรักษ์นิยม
-พฤติกรรม VOTER โหวตสั่งสอน แสดงออกถึงการต่อต้านรัฐบาล
หลังจากทราบผลการเลือกตั้ง เอกราช ช่างเหลา ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งเคยอยู่พรรคพลังประชารัฐ ออกมาบอกว่า ขอฝากถึงพลังประชารัฐว่า การเลือกตั้งภาคใต้ที่แพ้พรรคประชาธิปัตย์แล้วมีมติขับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และ ส.ส.รวม 21 คน แต่สำหรับการเลือกตั้งที่หลักสี่ พลังประชารัฐแพ้หลุดลุ่ย มีใครไปเดินนำบ้าง น่าจะไล่ใครออกบ้าง และใครควรพิจารณาตัวเองออกจากพรรคบ้าง
ขณะที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา อดีตเลขาธิการพรรค พปชร. โพสต์เฟซบุ๊กว่า “ผมดีใจมากครับที่เห็นพี่น้องประชาชนออกมาใช้สิทธิใช้เสียงเลือกตั้ง นี่คือ ประชาธิปไตย ครับ The enemy of my enemy is my friend”
น่าสนใจตรงที่เป็นครั้งแรกที่ “ผู้กองธรรมนัส” พูดว่า ตนเองมีศัตรู "The enemy of my enemy is my friend" ศัตรูของศัตรูคือมิตร
สมมติ A (บิ๊กตู่) เป็นศัตรูของผู้กอง และ A กับ B (โทนี่-ทักษิณ) เป็นศัตรูกัน ทำให้ B ย่อมเป็นมิตรกับผู้กอง แล้วหลังจากนี้พรรคเศรษฐกิจไทยที่ผู้กองย้ายไปอยู่ จะจับมือกับเพื่อไทยหรือไม่
ผลจากการส่งสัญญาณทางวาจาของ เอกราช ช่างเหลา ทำให้ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดีอีเอส ซึ่งติดเชื้อโควิดไม่ได้ลงพื้นที่ ออกมาบอกว่า ปัจจัยที่เป็นตัวแปรอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุทางการเมือง น่าจะมีเรื่องเดียว การต่อรองเสียงในสภาของกลุ่ม “ร.อ.ธรรมนัส” เรื่องอื่นยังไม่มี เป็นเกมที่ “ร.อ.ธรรมนัส” ต้องการขยี้พลังประชารัฐให้เละแล้วกลับไปอยู่เพื่อไทย ซึ่งพยายามขยี้มา 2 ปีแล้ว ไม่เข้าใจว่า คนที่คุม “ร.อ.ธรรมนัส” ปล่อยให้ทำแบบนี้ได้อย่างไร
เป็นนัยยะที่สะท้อนออกไปว่าสนิมที่เกิดจากเนื้อในตนยังรุนแรงอยู่
สำหรับทางเลือกของ พล.อ.ประวิตร มีอยู่แค่ 2 ทาง คือ 1.คุมพรรคต่อ 2. ปล่อย พล.อ.ประยุทธ์ และพรรคพวก เข้าบริหารพรรค
ส่วนทางเลือกของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มี 2 ทาง คือ 1.ยึดพลังประชารัฐ 2.เปลี่ยนไปเลือกพรรคใหม่
การพ่ายแพ้ศึกเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งในทางการเมืองของ “พลังประชารัฐ” ที่ส่งผ่านจากเสียงของประชาชนว่า "จบแล้วนาย"
อาจจะถึงกับนับเวลาถอยหลัง “พรรคพลังประชารัฐ” ที่ก่อตั้งมาเมื่อ 2 มี.ค.2561 แล้วก็ว่าได้...