การประชุมใหญ่สามัญของพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ที่เทอร์มินอลฮอล์เทอร์มินอล 21 จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 3 เม.ย.2565 ที่ผ่านมา โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นประธาน ได้มีการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค(กก.บห.) 4 คน แทนตำแหน่งที่ว่าง
ประกอบด้วย 1.พล.อ.กฤษณ์โยธิน ศศิพัฒนวงษ์ 2.พล.อ.ธัญญา เกียรติสาร 3.นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ 4.นายพรชัย ตระกูลวรานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
ขณะเดียวกันได้มีการแต่งตั้งบุคคลเป็นคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ได้แก่ นายสันติ พร้อมพัฒน์ เลขาธิการพรรค นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรค พล.อ.ธัญญา กก.บห. นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ในฐานะผู้อำนวยการพรรค นายรงค์ บุญสวยขวัญ ส.ส.นครศรีธรรมราช
“2 พลเอก”เสริมทัพพปชร.
การประชุมใหญ่ของพรรคพลังประชารัฐครั้งนี้ ไฮไลท์ที่น่าสนใจคือ การแต่งตั้ง “2 นายพลทหาร” เข้ามาร่วมเป็นกรรมการบริหารพรรค พปชร.ด้วย
คนแรกคือ พล.อ.กฤษณ์โยธิน ศศิพัฒนวงษ์ หรือ เสธ.โย อนุกรรมการฝ่ายหารายได้ มูลนิธิป่ารอยต่อฯ และอดีตฝ่ายเสนาธิการ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรมว.กลาโหม
บทบาทของ พล.อ.กฤษณ์โยธิน ถือเป็นคนสนิทลำดับต้นๆ ของ “บิ๊กป้อม” หัวหน้าพรรค พปชร. เป็นมือทำงานที่ได้รับความไว้วางใจให้ดูแลส.ส.พลังประชารัฐ มาตั้งแต่ต้น
ไม่ว่า ส.ส. หรือใครก็ตาม มีปัญหาให้ช่วยเหลือ เมื่อสะท้อนผ่าน “บิ๊กป้อม” แล้ว คนที่จะรับหน้าที่ไปดำเนินการต่อก็คือ พล.อ.กฤษณ์โยธิน ที่ถือกระเป๋าคอยแจกจ่ายกระสุนดินดำ หรือถือส่งท่อน้ำเลี้ยง
การมีตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารพรรค ของ พล.อ.กฤษณ์โยธิน ก็เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ยับยั้งภาวะเลือดไหลออกของส.ส. หลังจากส.ส.หลายคนอยู่ในอาการไม่แน่ใจกับพรรค ก็จะได้มั่นใจว่า “บิ๊กป้อม” เดินหน้าการเมืองต่อ ไม่วางมือลอยแพลูกพรรคแน่นอน
ส่วนอีกคน คือ พล.อ.ธัญญา เกียรติสาร หรือ “แม่ทัพอี๊ด” อดีตแม่ทัพภาคที่ 2 ถูกดันให้เข้ามาช่วยเตรียมรับศึกเลือกตั้งใหญ่เต็มตัว
พล.อ.ธัญญา ถือเป็นสายเหยี่ยว มือลุยของ “บิ๊กป้อม” เป็นหนึ่งในเบื้องหลังทางการเมืองยุค “3 ป.” มานาน มีส่วนสนับสนุนในการสู้ศึกของพรรคพลังประชารัฐ มาหลายสนาม ทั้งเลือกตั้งใหญ่ และ เลือกตั้งซ่อมส.ส.
ทุกวันนี้ พล.อ.ธัญญา สวมหมวกประธานอนุกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำรายภาค (ภาคอีสาน) เดินสายพบประชาชนในภาคอีสาน คล้ายๆ เป็นแม่ทัพภาคอีสาน ที่ดูแลเรื่องน้ำ เป็นมื้อไม้ให้กับ “บิ๊กป้อม”อีกคนหนึ่ง
พล.อ.ธัญญา (ตท.21) เติบโตมาในกองทัพภาคที่ 2 ปักหลักอยู่ที่กรมทหารราบที่ 23 (ร.23) ค่ายสุรธรรมพิทักษ์ จ.นครราชสีมา ก่อนจะขึ้นเป็นผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 6 (พล.ร.6) จ.ร้อยเอ็ด และรับตำแหน่งรองแม่ทัพภาคที่ 2 ช่วงใกล้เลือกตั้งสมัยที่ผ่านมา
การวางตัว “พล.อ.ธัญญา” เป็น กก.บห. และเป็นกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ดูแลพื้นที่ภาคอีสานตอนบน อาจเป็นกลยุทธของ “บิ๊กป้อม” ที่ใช้ทั้งการเมือง และอดีตนายทหารใหญ่ ทำงานควบคู่กันอย่างถึงลูกถึงคน แบบที่เคยทำมา
ว่ากันว่า ทั้งนี้ก็เพื่อหยุดยั้งแผนแลนด์สไลด์ของ “ทักษิณ ชินวัตร” นายใหญ่แห่งพรรคเพื่อไทย
ปิดทาง“บิ๊กตู่”เข้าพปชร.
อย่างไรก็ตาม ในอีกมุมหนึ่ง การที่ “บิ๊กป้อม” ตั้ง “2 นายพลทหาร” เข้ามาร่วมบริหารพรรค พปชร. ก็ถูกมองได้ว่า เป็นการปิดทาง บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะส่งคนเข้ามายึดพรรค พปชร.
และเกิดคำถามว่าจะมี พล.อ.ประยุทธ์ กับ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ลุยการเมืองไปด้วยกันกับพรรค พปชร.หรือไม่
เพราะแม้ “บิ๊กป้อม” จะยอมให้สาย “บิ๊กตู่” อย่าง สันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง นั่งเก้าอี้เลขาธิการพรรค สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน นั่งผอ.พรรค พปชร. แต่ในเชิงบริหารจัดการ “ลุงป้อม” ยังคุมทุกอย่างเบ็ดเสร็จ
ตรงกันข้ามกับ 2 ป. “บิ๊กตู่-บิ๊กป๊อก” แม้จะพยายามส่งคนเข้ามาสอดแนมภายในพลังประชารัฐ แต่แทบจะไม่มีบทบาทภายในพรรค โดยเฉพาะ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ซึ่งรู้ๆ กันอยู่ว่า “บิ๊กตู่” ส่งเข้ามาปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายในพรรค พปชร.
แต่ข้อเสนอของ พีระพันธุ์ กลับไม่ได้นำไปสู่การปฏิบัติ เพราะลุงป้อมไม่ตอบรับ พีระพันธุ์ จึงต้องยื่นใบลาออกจากพรรคพลังประชารัฐ เมื่อ 4 เม.ย.65 ที่ผ่านมา มุ่งหน้าสู่บ้านใหม่ หรือเครือข่ายพรรคของ “บิ๊กตู่” หากยังตัดสินใจจะเดินหน้าต่อทางการเมือง
“พลังประชารัฐ”ระส่ำ
ส่วนปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐนั้น ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 เม.ย.65 ที่ผ่านมา นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรค พปชร. กล่างถึงกรณีที่ นายอภิชัย เตชะอุบล ผอ.ศูนย์อำนวยการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) พรรค พปชร. ลงนามแต่งตั้งเป็นประธานยุทธศาสตร์หาเสียงร่วมกับผู้สมัคร ส.ก.ว่า ตนไม่รับตำแหน่งใดๆ ในการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้ และ นายอภิชัย ก็ไม่เคยมาหารือเรื่องดังกล่าวกับตนเลย นอกจากนี้ พล.อ.ประวิตร ก็ไม่ได้มีการมอบหมายใดๆ ทั้งสิ้น
“มีตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารพรรค ต้องระมัดระวังในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ก.อย่างแน่นอน เพราะถือเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่งถึงความเหมาะสม โดยตนไม่ประสงค์ที่จะรับตำแหน่งดังกล่าว หน้าที่กำหนดนโยบายหาเสียง ลงพื้นที่หาเสียง และรายงานผล เป็นหน้าที่ของนายอภิชัย ในฐานะ ผอ.ศูนย์ฯ อยู่แล้วในคำสั่งที่ลงนามโดยหัวหน้าพรรค" นางนฤมล กล่าว
ขณะที่ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รองหัวหน้าพรรค พปชร. กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ไม่ทราบต้องถามนางนฤมล แต่โดยหลักการพรรคเราช่วยกันทำงานอยู่แล้ว กรรมการของเราทุกคนก็ช่วยกันหาเสียงหรือคิดนโยบายในการสนับสนุนการทำงานของ ส.ก.ในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้อยู่แล้ว
เมื่อถามว่าจำเป็นต้องมีประธานยุทธศาสตร์หาเสียงโดยเฉพาะหรือไม่ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า จริงๆ ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ไม่ได้ซีเรียสอะไร เพราะผู้บริหารพรรคทุกคนช่วยกันอยู่แล้วคุยกันตลอด ผู้สมัคร ส.ก.ส่วนใหญ่ก็เป็นทีมงานของ ส.ส.เป็นสมาชิกพรรคที่เราเคยทำงานร่วมกันมาระยะหนึ่งอยู่แล้ว ก็คุ้นเคยกันคุยกันตลอด ไม่น่าจะมีปัญหาในการหาเสียงในนามพรรค
เมื่อถามว่าจะเป็นความขัดแย้งหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้มีข่าวว่า นางนฤมล จะได้คุม กทม. แต่มาวันนี้กลับไม่รับตำแหน่ง นายชัยวุฒิ ตอบว่า ไม่เห็นจะขัดแย้งเลย เมื่อก่อนตนก็คุม กทม. ก็ช่วยๆ กันทำงานไม่มีความขัดแย้ง การที่เรารับผิดชอบดูแลพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งไม่ได้หมายความว่าคนอื่นจะทำไม่ได้ แต่มันเป็นการช่วยกัน ไม่ได้เป็นปัญหาขัดแย้ง
ล่าสุด วันที่ 5 เม.ย.2565 นายอภิชัย เตชะอุบล ได้มีคำสั่งยกเลิกคำสั่งแต่งตั้ง นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เป็นประธานยุทธศาสตร์หาเสียงร่วมกับผู้สมัคร ส.ก.แล้ว เนื่องจาก นางนฤมล ไม่สะดวกที่จะปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งดังกล่าว
สำหรับ นายอภิชัย เตชะอุบล ได้ทิ้งตำแหน่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และเพิ่มสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ พร้อมด้วย นายอรรถวุฒิ เตชะอุบล บุตรชาย เมื่อวันที่ 17 มี.ค.2565 ที่ผ่านมา
“สุริยะ”ยันไม่ย้ายไปไหน
ขณะที่วันที่ 5 เม.ย.65 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองหัวหน้าพรรค พปชร.ออกมากล่าวถึงกระแสข่าวส.ส.เตรียมย้ายเข้า-ย้ายออกจากพรรคการเมืองกันมากในขณะนี้ ว่า "ผมไม่ไปไหนหรอก อยู่พรรคพลังประชารัฐนี่แหล่ะ"
ผู้สื่อข่าวถามว่าก่อนหน้านี้มีข่าวว่า นายสุริยะ และกลุ่มสามมิตร จะย้ายกลับไปอยู่พรรคเพื่อไทย นายสุริยะ ตอบว่า “ไม่มี ข่าวที่ออกมาอาจมองว่าผมมาจากพรรคเพื่อไทย เลยคิดว่าผมจะกลับไปพรรคเพื่อไทย แต่ยืนยันผมอยู่ที่นี่ ไม่ไปไหนหรอก”
ภายใน "พรรคพลังประชารัฐ" ที่ดูเหมือนสงบเรียบร้อย แต่แท้ที่จริงแล้ว ก็ยังมีปัญหาความไม่เป็นเอกภาพอยู่ไม่น้อย เป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะได้ ส.ส.ไม่น้อยกว่า 150 ที่นั่ง ฝันจะเป็นจริง หรือ ต้องฝันค้าง ก็อยู่ที่ความเป็นปึกแผ่น และเอกภาพภายในของพรรคนี่แหละ...