เลือกตั้งสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แบบหาร 500 "ใครหนุน-ค้าน" อัพเดทที่นี่

07 ก.ค. 2565 | 17:05 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.ค. 2565 | 21:00 น.

อัพเดท สูตรคำนวณส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แบบหาร 500 ใครหนุน ใครค้าน หลังรัฐสภามีมติเสียงข้างมาก 354 ต่อ 162 คะแนน คว่ำ สูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แบบหาร 100

หลังจากที่รัฐสภาลงมติโหวตเห็นชอบสูตรคำนวณส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ หรือ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบ 500 ฉบับของ นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ 

 

กรรมาธิการวิสามัญพิจารณร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เสียงข้างน้อย กระแสการเมืองยังร้อนระอุ นักการเมืองหลายรายออกมาวิพากวิจารณ์ มีทั้งฝ่ายที่ "เห็นด้วย" และ "ไม่เห็นด้วย" กับเรื่องนี้ 

 

นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี อดีตรองนายกฯ ที่โพสต์ข้อความผ่านเฟชบุ๊กส่วนตัวว่า ส่วนตัวเขาเชียร์สูตรหาร 500 นี้ ในขณะพรรคก้าวไกล ประกาศก้องว่า ไม่เห็นด้วยกับสูตรคำนวณดังกล่าว

ทั้งนี้ เมื่อตรวจสอบผลการโหวตเมื่อคืนวานนี้ (7 กรกฎาคม) มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้

 

พรรคเพื่อไทย 

  • มีส.ส.ที่ไม่ได้ร่วมโหวต อาทิ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม. นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. และนายขจิตร ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี ซึ่งสองรายนี้ลุกขึ้นอภิปรายอยู่เป็นระยะ ๆ แต่ไม่พบว่า มีการลงมติโหวตแต่อย่างใด

 

พรรคก้าวไกล

  • ลงมติไม่เห็นด้วยกับสูตรหาร 100 ที่กมธ.เสียงส่วนใหญ่เสนอมากถึง 47 คน โดยลงมติโหวตเห็นชอบกับการใช้สูตรหาร 500 ของ นพ.ระวี เพื่อที่จะโหวตสู้เลือกสูตรหาร 100 ของนายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แต่ที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบตามสูตรคำนวณของ นพ.ระวี ที่เสนอให้ใช้สูตร 500 หาร

พรรคเพื่อชาติ

  • นายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ และหัวหน้าพรรค โหวตงดออกเสียง และรอบสองไม่ลงมติ ขณะที่ลูกพรรคเดินตามมติวิปฝ่ายค้าน

 

พรรคภูมิใจไทย

  • เป็นไปมติวิปพรรค โหวตเห็นชอบตามกมธ.เสียงข้างน้อยที่เสนอให้ใช้ 500 หาร มีเพียง 3 คน ที่ไม่ลงมติ คือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค นายเอกราช ช่างเหลา ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

 

พรรคประชาธิปัตย์

  • เจ้าของแนวคิดสูตร 100 หาร มีส.ส.11 คนที่เห็นด้วยกับสูตรหาร 100 อาทิ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค, นายสาทิตย์ ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรค และประธานคณะกมธ.วิสามัญฯ , นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช และประธานวิปพรรค, นายบัญญัติ บรรทัดฐาน, นายกนก วงษ์ตระหง่าน, นายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์, นายสุทัศน์ เงินหมื่น, นางศรีสมร รัศมีฤกษ์เศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี และนายสินิตย์ เลิศไกร ส.ส.สุราษฎร์ธานี เป็นต้น

 

พรรคพลังประชารัฐ

  • ที่ได้รับสัญญาณจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้ลงมติสูตร 500 หาร นั้น มีเพียง นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายกฤษณ์ แก้วอยู่ ส.ส.เพชรบุรี ที่ลงมติเห็นด้วยกับสูตรหาร 100 โดยนายไพบูลย์ ไม่ได้โหวตในรอบที่สอง ส่วนนายกฤษณ์ โหวตสูตร 500 หารของนพ.ระวี ขณะที่มี 30 ส.ส.ที่ไม่ร่วมโหวต และในการโหวตรอบที่สองหาย 32 คน

 

พรรคเศรษฐกิจไทย

  • พบว่า มีทั้งที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย มี 5 คนที่ไม่ร่วมโหวต อาทิ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และหัวหน้าพรรค นายไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร และเลขาธิการพรรค เป็นต้น 

 

พรรคชาติไทยพัฒนา

  • มีเพียงนายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะเลขานุการกมธ. ที่โหวตสนับสนุนสูตรหาร 100 

 

อย่างไรก็ดี มี 6 ส.ส. ไม่เข้าร่วมโหวต อาทิ นายวราวุธ ศิลปอาชา ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายประภัตร โพธสุธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรมช.เกษตรและสหกรณ์ เป็นต้น

 

สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)

  • ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับสูตรหาร 500 มีเพียง 7 คน ที่เห็นชอบกับสูตรหาร 100 เช่น นายคำนูณ สิทธิสมาน นายวันชัย สอนศิริ และนายเสรี สุวรรณภานนท์ 

 

สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบหาร 500 

นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ (พธม.) ในฐานะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่...) พ.ศ... รัฐสภา อธิบายสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบหาร 500 เอาไว้ดังนี้ 


แบบที่ 1

การคำนวณหาคะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.พึงมี 1 คน ก็คือ การนำผลรวมคะแนนพรรคของทุกพรรคทั่วประเทศไปหารด้วย 500 เช่น 37 ล้าน หารด้วย 500 ก็จะเท่ากับ 74,000 โดยการคำนวณหาจำนวน ส.ส.พึงมีของพรรค ก คือ ผลรวมคะแนนพรรคของพรรค ก จากทุกเขต คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส. พึงมี 1 คน 1,000,000÷74,000 = 13.5 ส.ส.

 

ส่วนจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค ก ก็คือ จำนวน ส.ส.พึงมีพรรค ก – จำนวน ส.ส.เขตพรรค ก 

 

ตัวอย่าง ส.ส.พึงมี (13.5)–ส.ส.เขต(7) = ส.ส.บัญชีรายชื่อ คือ 6.5


แบบที่ 2

การคำนวณหาคะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส. พึงมี 1 คน ก็คือ ผลรวมคะแนนเขต + คะแนนพรรคของทุกพรรค หาร 500 

 

ยกตัวอย่างเช่น  37 ล้าน + 37 ล้าน = 74 ล้าน = 148,000

 

จากนั้น นำคะแนนเขตทั้งหมดพรรค ก + คะแนนพรรคทั้งหมดพรรค ก คะแนนเฉลี่ย ต่อ ส.ส.พึงมี 1 คน

 

ตัวอย่าง = 1,000,000+800,000 หารด้วย 148,000 = 1,800,000 ÷148,000 = 12.16 คน

 

ส่วนวิธีหาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค ก ก็ให้นำจำนวน ส.ส.พึงมีพรรค ก – จำนวน ส.ส. เขต พรรค ก

 

ตัวอย่าง = ส.ส.พึงมี (12.16 คน) – ส.ส.เขต (7) = ส.ส.บัญชี 5 คน