เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2565 ที่ห้องประชุมสำนักงานชลประทานที่ 12 อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดชัยนาท เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำ จังหวัดชัยนาท ปี 2565 โดยมี นายรังสรรค์ ตันเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบรรเทาสาธารณภัย ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 รักษาราชการแทนหัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดชัยนาท หัวหน้าส่วนราชการ และนายอำเภอ ร่วมให้การต้อนรับ
ทั้งนี้ นายนิพนธ์ ได้มอบนโยบายสำคัญหลังการรับทราบสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำจังหวัดชัยนาท ปี 2565 ดังนี้ 1. ขอให้มีการบริหารจัดการน้ำให้เหลือน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง 2. การบริหารจัดการกรณีน้ำท่วมให้คำนึงถึงความปลอดภัยของชีวิตประชาชนเป็นสำคัญ
3. ให้มีการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุ เตรียมความพร้อมกำลังพล เครื่องจักร และดูแลผู้ประสบภัยอย่างทั่วถึง 4.กรณีเกิดสาธารณภัยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเร่งสำรวจและรายงานให้จังหวัดทราบ เพื่อดำเนินการของบกลางจากรัฐบาล
5.การเยียวยาช่วยเหลือต้องทำอย่างรวดเร็ว อย่าให้ล่าช้า โดยให้ดำเนินการตามระเบียบกฎหมายให้ถูกต้อง ซึ่งมีงบประมาณรองรับอยู่แล้ว และ 6. ประชาสัมพันธ์ทุกช่องทางการสื่อสารเพื่อสร้างการรับรู้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง
จากนั้น รมช.มหาดไทย ได้ตรวจสถานการณ์น้ำในเขื่อนเจ้าพระยา โดยให้บริหารจัดการน้ำและควบคุมปริมาณการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม สอดคล้องกับปริมาณน้ำฝนที่ตกทางตอนบนอย่างเต็มศักยภาพ และหากมีแนวโน้มปริมาณน้ำจะเพิ่มขึ้นอีก จะมีการแจ้งเตือนประชาสัมพันธ์จากหน่วยงานราชการเพื่อให้ประชาชนเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด
ต่อมา นายนิพนธ์ พร้อมคณะ เดินทางลงตรวจพื้นที่เพื่อติดตามการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมมอบถุงยังชีพแก่ผู้ประสบอุทกภัย จำนวน 120 ชุด
สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จ.พระนครศรีอยุธยา ข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ปัจจุบันเกิดน้ำล้นตลิ่งจากการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเสนา อำเภอผักไห่ อำเภอบางบาล อำเภอบางไทร ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,276 ครัวเรือน
“รัฐบาลห่วงใยในสถานการณ์น้ำครั้งนี้เป็นอย่างมาก ที่ผ่านมาได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระดมกำลังดูแลพี่น้องและประชาชนให้ได้รับความปลอดภัยอย่างเต็มความสามารถ และเร่งฟื้นฟูเยียวยาภายหลังน้ำลด เพื่อให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว
ยืนยันรัฐบาลพร้อมดูแลแก้ไขทุกปัญหาของประชาชน รวมทั้งวางแนวทางในการเพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำ เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง เพราะหากไม่เก็บน้ำไว้อาจจะส่งผลกระทบในช่วงของฤดูแล้ง จึงต้องบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบเพื่อลดผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย”นายนิพนธ์ กล่าว