***คอลัมน์ฐานโซไซตี หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3819 ระหว่างวันที่ 18-21 ก.ย.2565 โดย “ว.เชิงดอย” ประจำการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่มีสาระ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเช่นเคย
*** จดใส่ปฏิทินไว้ วันที่ 30 ก.ย.2565 นี้ เวลา 15.00 น. “ศาลรัฐธรรมนูญ” จะชี้ชะตา บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า เป็น “นายกฯ 8 ปี” แล้วหรือยัง หลังจากเมื่อวันที่ 14 ก.ย.2565 ที่ผ่านมา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้ง 9 คน ได้มีการอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยในคำร้องที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำขอของ “พรรคร่วมฝ่ายค้าน” ขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ หรือไม่
*** ศาลรธน.เห็นว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมายและหลักฐานเพียงพอให้พิจารณาวินิจฉัยได้ จึงให้ยุติการไต่สวนตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561มาตรา 58 วรรคหนึ่ง และกำหนดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ ลงมติและอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟังในวันศุกร์ที่ 30 ก.ย.นี้ เวลา 15.00 น.
*** สำหรับคดีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ มติเอกฉันท์รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2565 และมีมติ 5 ต่อ 4 สั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ พร้อมให้ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน รวมไปถึงให้ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการและร่างรัฐธรรมนูญ และ นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขานุการคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ยื่นคำชี้แจงด้วย
*** ขณะที่วันที่ 8 ก.ย. ที่ผ่านมา ศาลได้มีคำสั่งให้สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จัดส่งสำเนาบันทึกการประชุมและรายงานการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่ 501 วันอังคารที่ 11 ก.ย.2561 ซึ่งมีวาระการประชุมรับรองบันทึกการประชุมครั้งที่ 500 วันศุกร์ที่ 7 ก.ย.2561 ที่คณะอนุกรรมการพิจารณาตรวจบันทึกการประชุม และรายงานการประชุมตรวจทานแล้ว โดยไม่มีการแก้ไขให้กับศาลภายในวันที่ 13 ก.ย. ก่อนที่ศาลรธน.จะมีการประชุม และนัดวินิจฉัยในวันศุกร์ที่ 30 ก.ย.2565 ดังนั้น นับแต่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง จนถึงวันที่ศาลนัดวินิจฉัย รวมระยะเวลาในการพิจารณาคดีทั้งสิ้น 38 วัน
*** สำหรับแนวทางการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 14 ก.ย.ที่ผ่านมานั้น มีรายงานว่า คณะตุลาการฯ พิจารณากัน 2 ประเด็น คือ จะวินิจฉัยกันเมื่อไหร่ ซึ่งประธานศาลฯ เสนอให้ลงมติในสัปดาห์หน้าเลย แต่เสียงส่วนใหญ่ส่งสัญญาณให้ยึดระเบียบและวิธีปฏิบัติของศาลรัฐธรรมนูญ ให้ทอดเวลาอออกไป 15 วัน
ส่วนประเด็นที่ 2 จะวินิจฉัยประเด็นอะไรบ้าง ซึ่งที่ประชุมสรุปว่า “วินิจฉัยประเด็นเดียว” คือ วันที่ 24 ส.ค.2565 ที่ผ่านมา เป็น นายกฯ ครบ 8 ปี แล้วหรือไม่ ทั้งนี้มติศาลจะไม่วินิจฉัยว่า หาก 24 ส.ค. ไม่ถือว่าครบ 8 ปีแล้ว และจะครบ 8 ปี เมื่อไหร่ เพราะผู้ร้องไม่ได้ถามว่าจะนับตั้งแต่เมื่อไหร่ ซึ่งคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรธน.จะเขียนไว้ว่าแต่ละคนนับตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ไม่ใช่คำวินิจฉัยกลาง
*** ภายหลังศาลรธน.มีมตินัดวินิจฉัยปม “8 ปี นายกฯ” ในวันที่ 30 ก.ย.นี้ บิ๊กตู่- พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม ได้มอบหมายให้ นายอนุชา บูรพชัยศรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกรัฐบาล ออกมาพูดแทนว่า รับทราบผลการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดนัดอ่านคำวินิจฉัยเรื่องการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันศุกร์ที่ 30 ก.ย. 2565
โดยเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม และยืนยันว่าจะให้ความเคารพต่อผลการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าคำวินิจฉัยจะเป็นเช่นใด “พล.อ.ประยุทธ์ ขอขอบคุณกำลังใจจากประชาชนทุกคนที่มอบให้ และขณะนี้ยังคงปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในการสนับสนุนรัฐบาลอย่างเต็มที่
*** นับถอยหลังจากนี้ไปอีกราว 2 สัปดาห์ ก็จะได้รู้กันว่า “บิ๊กตู่” ยังจะได้ “ไปต่อ” ในตำแหน่งนายกฯ อีกหรือไม่ หรือต้อง "จบลงเพียงเท่านี้" สำหรับการดำรงตำแหน่งนายกฯ ...สมมติศาลชี้ว่า “บิ๊กตู่” เป็นนายกฯ ครบ 8 ปีแล้ว นอกจากบิ๊กตู่จะต้องพ้นเก้าอี้ไปแล้ว ก็จะส่งผลให้ “คณะรัฐมนตรี” ไปทั้งคณะ มีนายกฯ และครม.รักษาการ นำไปสู่การเฟ้นหานายกฯ และ ครม.กันใหม่ เว้นเสียแต่ว่า บิ๊กป้อม- พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ รักษาการนายกฯ จะหาเหตุนำไปสู่การ “ยุบสภา” และให้มีการเลือกตั้งใหม่ ก็จะเป็นการไปเริ่มต้นหารัฐบาลใหม่กัน
*** เป็นอีกคดีหนึ่งที่ “ป.ป.ช.” หน้าแตก เมื่อ “ศาลปกครองสูงสุด” มีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งกระทรวงแรงงานที่ 39/2552 ลงวันที่ 21 ม.ค.2552 ที่ลงโทษปลด นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ปลัดกระทรวงแรงงานในขณะนั้น ออกจากราชการ รวมทั้งเพิกถอนมติการประชุม อ.ก.พ. กระทรวงแรงงาน ครั้งที่ 9/2551 เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2551
คดีนี้ กระทรวงแรงงานมีคำสั่งลงโทษปลด นายสมชาย ออกจากราชการ โดยอ้างว่า เหตุปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จากเหตุขณะดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงยุติธรรม พิจารณาสั่งระงับเรื่องไม่ดำเนินคดี กับ นายประมาณ ตียะไพบูลย์สิน อดีตอธิบดีกรมบังคับคดี และ นายมานิตย์ สุธาพร อดีตรองอธิบดีกรมบังคับคดี ที่ไม่เรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียม 70 ล้านบาท จากการขายทอดตลาดที่ดินของศาลจังหวัดธัญบุรี ทั้งที่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเห็นว่าการคืนเงินดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ทางราชการเสียหาย
*** แต่ที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเพิกถอนโดยชี้ว่า ป.ป.ช. มีอำนาจหน้าที่ไต่สวนและวินิจฉัยเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดการทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมเท่านั้น ไม่รวมถึงการกระทำความผิดฐานประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ซึ่งเป็นความผิดทางวินัยตามพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน 2535
*** อีกทั้ง พ.ร.ป ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2542 มิใช่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และเป็นกฎหมายที่มีลำดับศักดิ์ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ การที่ป.ป.ช.ใช้อำนาจตาม พ.ร.ป ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2542 ชี้มูลว่า นายสมชาย กระทำความผิดฐานประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง จึงไม่มีอำนาจกระทำได้ แต่เมื่อรมว.แรงงาน มีคำสั่งกระทรวงแรงงานลงโทษปลด นายสมชาย ออกจากราชการ ตามมติป.ป.ช.ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยไม่ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน และแจ้งข้อกล่าวหาในความผิดฐานประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง คำสั่งทางวินัยดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย