ฮือฮากันทั้งประเทศ เมื่อหมอชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เปิดประเด็นร้อนเตรียมยื่นยุบพรรคภูมิใจไทย จากนโยบายกัญชา ให้เหตุผลเป็นการใช้นโยบายเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัด พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 นำไปสู่การยุบพรรคได้
แถมย้ำอีกว่า กระบวนการเสนอยุบพรรคภูมิใจไทย ที่ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล เป็นหัวหน้าพรรคนั้น ตอนนี้กำลังพิจารณารายละเอียด คาดว่าจะได้ข้อสรุป และยื่นต่อ กกต.ในวันที่ 1 พ.ย.นี้ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ทำนองพรรคเพื่อไทยงัดเกม “ยุบพรรค”สกัดภูมิใจไทย ในสนามเลือกตั้งหน้า
แม้ว่าในวันถัดมา (19 ต.ค. ) หมอชลน่าน จะออกมาแก้ข่าวว่าการยื่นยุบพรรคภูมิใจไทย เป็นเพียงขั้นตอนเริ่มต้นของคณะทำงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน ยืนยันว่ายังไม่มีมติออกมาชัดเจน ส่วนใหญ่ที่ประชุมไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรคการเมืองพร่ำเพรื่อ โดยใช้เหตุผลที่ไม่เหมาะสม เพราะการยุบพรรคการเมืองควรมีเหตุเดียวคือการล้มล้างการปกครองเท่านั้น
จะเห็นได้ว่า เหตุที่พรรคเพื่อไทย หยิบนโยบาย “กัญชา” อ้างเป็นสาเหตุในการยื่นยุบพรรคภูมิใจไทยหลายฝ่ายมองตรงกันว่า เส้นทางการเมืองทับซ้อนกัน อาจเป็นกำแพงขวางแผนการใหญ่ เพื่อไทย “แลนด์สไลด์” ทั้งแผ่นดิน
แน่นอนว่าเจอเกมยุบพรรค “เสี่ยหนู” ฝากประโยคกรีดนิ่มๆแต่เจ็บปวด ไปยังหมอชลน่านว่า
“ ท่านยังคงไม่มีวุฒิภาวะผู้นำ ตอนนี้เป็นหัวหน้าพรรคแล้ว ต้องทำตัวให้เป็นหัวหน้าพรรค…นักการเมืองด้วยกัน อย่ามาจ้องทำลายอะไรกันเลย ซึ่งไม่ว่าพรรคไหนจะเข้ามาทำหน้าที่ในสภา วันที่ได้ประกาศว่าจะแลนด์สไลด์ ก็จะต้องหมั่นแข่งกันทำความดีให้กับประชาชน นั่นคือ สิ่งที่นักการเมืองควรจะทำ ไม่ใช่มาคุ้ยหาเรื่องเล็กเรื่องน้อย และทำลายกันเอง ไม่มีประโยชน์อะไร”
ขณะที่ ศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย โต้กลับหมอชลน่านผ่านเฟซบุ๊ก ด้วยถ้อยคำเชือดเฉือนว่า
หากย้อนดูประวัติการยุบพรรคการเมืองที่ผ่านมา จะพบว่าพรรคการเมืองที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญ สั่งให้ยุบพรรค ประกอบด้วย
พรรคไทยรักไทย ถูกยุบพรรคเมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2550 จากกรณีให้เงินสนับสนุนแก่พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขต หลีกเลี่ยงการที่จะต้องมีคะแนนเสียงถึงร้อยละ 20
ต่อมาวันที่ 2 ธ.ค. 2551 พรรคมัชฌิมาธิปไตย พรรคชาติไทย และพรรคพลังประชาชน ถูกสั่งยุบพรรค จากกรณีกรรมการบริหารพรรคทุจริตในการเลือกตั้ง
วันที่ 7 มี.ค. 2562 พรรคไทยรักษาชาติ ถูกยุบพรรคกรณีการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
วันที่ 21 ก.พ. 2563 พรรคอนาคตใหม่ ถูกยุบพรรคจากกรณีกู้เงินนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จำนวน 191 ล้านบาท
และล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ต.ค.2565 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติยุบพรรคไทรักธรรม กรณีให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด เพื่อจูงใจบุคคลหนึ่งบุคคลใดสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมือง เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคในระยะเวลา 10 ปี
เมื่อตรวจสอบการยื่นคำร้องยุบพรรคการเมือง จะพบว่าพรรคเพื่อไทย ถูกยื่นให้ยุบพรรคมากถึง 11 ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นการร้องกกต. พุ่งเป้าไปที่นายใหญ่ “ทักษิณ ชินวัตร”
โดยครั้งแรกนายศรีสุวรรณ จรรยา ยื่นยุบพรรคเพื่อไทยคนแรก เมื่อ 16 ธ.ค.63 กรณีนายทักษิณ เขียนจดหมายสนับสนุนผู้สมัครนายกฯอบจ.เชียงใหม่
วันที่ 18 ม.ค. 64 นายศรีสุวรรณ ยื่น กกต.กล่าวหา นายทักษิณ โพสต์เฟซบุ๊ก ช่วยผู้สมัครนายกฯอบจ.เชียงใหม่ หาเสียง
วันที่ 19 ม.ค.64 นายสิระ เจนจาคะ อดีต ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ยื่นคำร้องต่อ กกต.ขอให้พิจารณาสั่งยุบพรรคเพื่อไทย เนื่องจากกระทำการเข้าข่ายเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 92
วันที่ 8 ก.ค.64 นายสนธิยา สวัสดี ร้อง กกต. ให้ข้อมูลเท็จช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน สร้างความเข้าใจเรื่องวัคซีนที่ไม่ถูกต้อง ผิด ม.45 กม.พรรคการเมือง
วันที่ 23 ก.ย. 64 นายสนธิยา ร้องกกต.กรณี นายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธ์ หรือ แอมมี่ บอตทอมบลูส์ ผู้ต้องหาคดี 112 โพสต์เฟซบุ๊กพาดพิงพรรคเพื่อไทย สนับสนุนการเงินในการเคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมือง
วันที่ 15 ต.ค. 64 นายสนธิยา ขับนายศรัณย์วุฒิ ศรัณเกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ และน.ส.พรพิมล ธรรมสาร ส.ส.ปทุมธานี ออกจากพรรคเพื่อไทย เนื่องจากโหวตสวนมติพรรค และกรณีการที่ส.ส.พรรคเพื่อไทย เรียกรับเงินจากอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล
วันที่ 20 ต.ค. 64 ศรีสุวรรณ ยื่นป.ป.ช. กรณีนายทักษิณ วีดีโอคอล ในงานเลี้ยงส.ส. เข้าข่ายครอบงำพรรค
วันที่ 26 ต.ค. 64 นายสนธิยา ร้อง กกต. กรณี ทักษิณ ครอบงำทักษิณวีดีโอคอล พูดคุยกับ "เกรียง กัลป์ตินันท์" รองหัวหน้าเพื่อไทย โดยอ้างเป็นงานเลี้ยงวันเกิด
วันที่ 26 ต.ค. 64 นายเรืองไกร เรืองกิจวัฒนะ ยื่นคำร้องต่อ กกต. กรณี ทักษิณ วิดีโอคอลพูดคุยกับ "เกรียง กัลป์ตินันท์" รองหัวหน้าเพื่อไทย โดยอ้างเป็นงานเลี้ยงวันเกิด ซึ่งเป็นคำร้องเดียวกับนายสนธิยา
วันที่ 8 พ.ย. 64 นายเรืองไกร ร้อง กกต.กรณีพรรคตั้ง นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ที่เคยต้องคำพิพากษา นั่งผอ พรรค และปราศรัยเข้าข่ายชี้นำครอบงำพรรค
และวันที่ 9 พ.ย. 64 นายสนธิยา ร้อง ป.ป.ช. ให้สอบจริยธรรม “อุ้งอิ๊ง”แพทองธาร ชินวัตร เข้าข่ายประพฤติผิดจริยธรรม ไม่เหมาะสมตำแหน่งที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย (ตำแหน่งในขณะนั้น)
นับจากปลายปี 63 จนถึงตลอดทั้งปี 64 พรรคเพื่อไทย ถูกร้องให้ยุบพรรคมากถึง 11 คดี ไม่แปลก ที่หมอชลน่าน ต้องรีบถอยออกมา ก่อนถูกทิงเจอร์ราดลงบนแผลเก่าอีกครั้ง