ปิดเทอมไปเกือบ 1 เดือนครึ่ง ในวันที่ 1 พ.ย.2565 นี้ ถือเป็นวันเปิดประชุมรัฐสภาสมัยสามัญครั้งที่ 2 และเป็นสมัยประชุมสภาสุดท้ายของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนครบวาระรัฐบาลในวันที่ 23 มี.ค.2566
โดยในส่วนของ “สภาผู้แทนราษฎร” ได้กำหนดนัดประชุมสภาวันที่ 2-4 พ.ย. ซึ่งมีวาระที่บรรจุไว้แล้ว เป็นเรื่องที่กรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ประกอบด้วย
1.ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ ครม. เป็นเจ้าของร่าง 2.ร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต หรือ สุราก้าวหน้า เสนอโดย พรรคก้าวไกล
3.ร่าง พ.ร.บ.การเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ครม. และ พรรคประชาธิปัตย์ เสนอร่าง 4.ร่าง พ.ร.บ.ขนส่งทางราง ครม.เป็นเจ้าของร่าง และ 5.ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พรรคภูมิใจไทย และ พรรคพลังประชารัฐ เป็นผู้เสนอร่าง
ในจำนวนร่างกฎหมาย 5 ฉบับ ที่กรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว เมื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ดูจะมี 2 ฉบับที่จะเป็นปัญหาข้อขัดแย้งเกิดขึ้นในสภาฯ และเป็นปัญหาในพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง นั่นคือ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต หรือ ร่างพ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ที่เสนอโดย พรรคก้าวไกล และ ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ที่เสนอโดยพรรคภูมิใจไทย และ พรรคพลังประชารัฐ
ครม.สั่งคว่ำสุราก้าวหน้า
สำหรับกรณี “สุราก้าวหน้า” มีรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2565 ที่ผ่านมาว่า ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้เรียกแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค เข้าไปหารือในห้องรับรองที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย อยู่ในห้องด้วย โดยใช้เวลานานถึง 50 นาที ซึ่งเป็นการเรียกไปสอบถามความเห็นของแต่ละพรรคเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า เสนอโดยพรรคก้าวไกล ที่จะมีการพิจารณาวาระ 2, 3 ในวันที่ 2 พ.ย.นี้
โดยวงหารือได้ถกประเด็นนี้กันอย่างเข้มข้น ก่อนจะได้ข้อสรุปว่า ไม่อยากให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ ผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ เนื่องจากกังวลว่าหากกฎหมายผ่านสภาจะไม่มีมาตรการรองรับความปลอดภัย เกรงว่าจะมีปัญหาเรื่องการต้มสุราเถื่อนและการผลิตที่ไม่ได้คุณภาพ แตกต่างจากพวกผู้ผลิตรายใหญ่ในปัจจุบันที่ผลิตถูกต้องตามกฎหมาย มีมาตรฐานสูงและสามารถรับผิดชอบคุณภาพได้
นอกจากนี้ จะมีการขาย “สุราเถื่อน” เกลื่อนเหมือนกับเรื่อง “กัญชาเสรี” ที่ยังคงเป็นปัญหาอยู่ แล้วจะรับผิดชอบกันไม่ไหว ถ้าเกิดมีการต้มเหล้าผิดกฎหมาย
ขณะที่ ในช่วงท้ายของการประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้กล่าวเน้นย้ำเรื่องการพิจารณากฎหมายอีกครั้งว่า ขอบคุณทุกคน ทุกพรรค เรื่องกฎหมายต่างๆ ฝากให้สภาดูแลด้วย ดูแลประชาชนให้เกิดความยั่งยืน กฎหมายบางอย่างถ้าฟรีมากไปก็เกิดปัญหา ต้องหามาตรการควบคุมด้วย
“ก้าวไกล”เตือนประยุทธ์
วันต่อมา คือ เมื่อ 26 ต.ค.2565 นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล ผู้ผลักดันร่างพ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ได้โพสต์จดหมายเปิดผนึก เตือนไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ว่า
“ตอนนี้มีข่าวว่า 3 ป. ได้มีการคุยกันนอกรอบว่าจะคว่ำพ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ที่ผมเสนอนั้น จากใจผมจริง ๆ ก็ไม่ได้แปลกใจอะไรมากนัก หรือพูดอีกอย่างก็คือได้คาดหมายไว้แล้ว ก็เพราะพฤติกรรมที่ผ่านมา 8 ปีของ 3 ป. ประยุทธ์ ประวิตร อนุพงษ์ ก็มีลักษณะในการใช้อำนาจของตนเองทั้งทางตรงและทางอ้อมไปในการเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนโดยตลอด
แต่ผมก็เชื่อมั่นใจว่า พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าของผมนั้น เป็นกฎหมายที่แทบจะไม่มีเหตุผลอื่นใดเลย ที่จะโหวตไม่ให้ผ่าน เพราะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนตัวเล็กตัวน้อยที่จะมีโอกาสเขาทำธุรกิจที่เหมือนกับรายใหญ่”
ที่อ้างว่าสุราที่ผลิตจะไม่มีคุณภาพและสุราเถื่อนจะเกลื่อนเมือง เป็นข้อโต้แย้งที่ตื้นเขินเหลือเกินกับการให้ผลตรงกันข้าม เพราะการเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตรายย่อยผลิตนั้นจะทำให้เขาเข้าสู่ระบบโดยจะมีการตรวจสอบคุณภาพสุราโดยกรมสรรพสามิตตามปกติ แล้วปัญหาสุราเถื่อนที่ทุกคนแอบทำเพราะไม่สามารถขอใบอนุญาตได้นั้นก็ยิ่งจะลดลง
ถึงแม้ 3 ป. โดยเฉพาะคุณประยุทธ์ คิดจะคว่ำกฎหมายฉบับนี้ แต่ผมก็เชื่อว่า ส.ส. จากหลากหลายพรรคการเมืองในสภา ทั้งฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล ที่ผมมีโอกาสได้พูดคุยด้วยนั้น ก็เห็นว่ามันเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนในเขตของตัวเอง ว่าควรผลักดันให้ผ่าน และทราบดีว่าจะไม่สามารถอธิบายได้เลยว่า ทำไมถึงลงคะแนนเป็นอย่างอื่น และด้วยปัจจัยทางการเมืองที่เข้าใกล้ช่วงเวลาเลือกตั้งจะส่งผลอย่างยิ่งในการตัดสินใจในการลงคะแนนครั้งนี้
“ผมก็ขอเตือนคุณประยุทธ์ และบรรดา 3 ป. ว่าถ้าพวกท่านคิดจะเดิมพันอนาคตทางการเมืองในสภาของพวกท่าน กับกฎหมายฉบับนี้ พวกท่านอาจคิดผิด และกฎหมายฉบับนี้เมื่อมันผ่านด้วยเสียงข้างมากในสภา วันนั้นแหละพวกท่านจะรู้ถึงทางตันแล้ว เพราะว่าไม่ได้มีใครสนับสนุนพวกท่านอีกต่อไป”
ส.ส.พรรคก้าวไกลผู้นี้ย้ำว่า หาก “สุราก้าวหน้า” ถูกคว่ำจริง ๆ มันจะเป็นการขีดเส้นความขัดแย้งที่ชัดเจน ระหว่างประชาชน และ นายทุนผูกขาดในประเทศนี้ด้วยตัวของพวกท่านเอง
เส้นทางพรบ.สุราก้าวหน้า
สำหรับ "ร่างพ.ร.บ.สุราก้าวหน้า" จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ในวาระสอง เรียงลำดับรายมาตรา และวาระสาม ลงมติว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบทั้งฉบับ
โดยก่อนหน้านี้ ร่างพ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ถูกรัฐบาลสกัดมาแล้วหนึ่งยก เมื่อวันที่ 9 ก.พ.2565 มติเสียงข้างมากของสภาฯ 408 ต่อ 196 ส่งให้ ครม.รับไปพิจารณาก่อนลงมติรับหลักการวาระแรก ซึ่งผลพิจารณาของรัฐบาลระบุว่า "ไม่ควรให้สภาฯ รับหลักการ” แต่วันโหวต 8 มิ.ย.2565 มติของสภาเสียงออกมา 178 ต่อ 138 เสียง สนับสนุนให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ ได้ไปต่อในชั้นกรรมาธิการ
สำหรับสาระสำคัญของ ร่างพ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ที่พรรคก้าวไกล พยายามผลักดัน เป็นการขอแก้ไขพ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 มาตรา 153 ที่กำหนดให้บุคคลผู้ประสงค์จะผลิตสุรา หรือ มีเครื่องกลั่นสำหรับผลิตสุราไว้ในครอบครองต้องขออนุญาตต่ออธิบดีและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า จะเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้การขออนุญาตผลิตสุราเพื่อการค้าสำหรับผู้ผลิตรายย่อยสามารถทำได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น
ดังนั้น ในวันที่ 2 พ.ย.นี้ ต้องลุ้นว่า “สุราก้าวหน้า” จะผ่านมติของสภาฯ ในวาระสามหรือไม่
กัญชาเสรีพรรคร่วมระอุ
ไปดูอีกร่าง พ.ร.บ.ที่จะเป็นปัญหาในพรรคร่วมรัฐบาล คือ ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ที่พรรคภูมิใจไทย พยายามผลักดันนโยบาย “กัญชาเสรี" ซึ่งขั้วฝ่ายค้าน ทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ แท็กทีมคัดค้าน “กัญชาเสรี” เพราะเห็นถึงกระแสของสังคมที่ไม่เอาด้วย และมองว่าคนนไทยยังไม่มีความพร้อมในเรื่องนี้
ส่วนขั้วพรคร่วมรัฐบาล ก็เกิดเสียงแตก เมื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ประกาศชัดว่าไม่สนับสนุนกัญชาเสรี แต่สนับสนุนแค่กัญชาทางการแพทย์เท่านั้น เพราะรับรู้ได้ถึงแรงต้านเริ่มมีสูง โดยเฉพาะพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และบางพื้นที่ในภาคใต้
“กัญชาทางการแพทย์นั้นเป็นประโยชน์ แต่กัญชาเสรี อย่างน้อยที่สุดมันจะสร้างปัญหาให้กับอนาคตของประเทศระยะยาว อันนี้จึงเป็นที่มาที่เราบอกชัดเจนว่าเราไม่สนับสนุนกัญชาเสรี แต่สนับสนุนกัญชาที่จะไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์” จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุถึงจุดยืนของพรรค เมื่อ 25 ต.ค.2565
ขณะที่ พรรคพลังประชารัฐ ก็ยังไม่กำหนดท่าทีที่ชัดเจนออกมา แต่เล่นบทแทงกั๊ก เพราะเกรงใจพรรคภูมิใจไทย ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล ดังนั้น ในตอนนี้จึงมีเพียงพรรคภูมิใจไทย เจ้าของนโยบายพรรคเดียว ที่เดินเกมผลักดัน “กัญชาเสรี” อย่างเต็มตัว เนื่องจากเคยประกาศเป็นนโยบายหาเสียงไว้ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562
สำหรับร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง การพิจารณาของสภาฯ วาระแรก ในชั้นกรรมาธิการผ่านไปด้วยดี แต่ติดปัญหาก่อนเข้าวาระสอง เมื่อสภาฯ ลงมติเสียงข้างมาก ในญัตติขอให้ถอนร่างกฎหมายออกจากวาระ และให้กรรมาธิการนำไปทบทวน แก้ไขเนื้อหา ด้วยเสียง 198 ต่อ 136 ซึ่งพรรค “ประชาธิปัตย์-เพื่อไทย-พรรคพลังประชารัฐ” ออกเสียงเห็นด้วย
ในช่วงปิดสมัยประชุมสภา กรรมาธิการ โดย ศุภชัย ใจสมุทร แกนนำภูมิใจไทย ในฐานะประธานกรรมาธิการกฎหมายกัญชา ได้พิจารณา แต่ผลคือ ยืนยันเนื้อหาที่เคยเสนอ ส่วนประเด็นที่เป็นปัญหาจะให้สภาฯ พิจารณาแก้ไขเนื้อหาตามข้อบังคับการประชุม
“อนุทิน”โวยถูกเจาะยาง
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.กัญชง กัญชา ว่า ตอนแรกมี 45 มาตรา อันนี้มาจากพรรคภูมิใจไทย ส่วนพรรคการเมืองต่างๆ เข้ามาแล้ว เพิ่มความเห็นได้เลย กมธ.ก็โหวตทีละมาตรา จนขยายไปเป็นกว่า 90 มาตรา อะไรที่เพิ่มเข้ามา คือ ความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ที่เพิ่มมา ก็เป็นข้อเสนอของพรรคอื่นๆ ทั้งนั้น
“การที่มาคว่ำกันกลางสภา กลืนน้ำลายตัวเองทั้งนั้น เพราะท่าน มีส่วนผลักดันข้ามา จนถึงขั้นตอนสุดท้าย ร่างที่ออกมา ถึงวาระพิจารณาไม่ใช่ร่างของพรรคภูมิใจไทย เป็นร่างของผู้แทนราษฎร แล้วมันเกิดช่วงใกล้เลือกตั้ง มันทำให้รู้ว่า นโยบายกัญชา โดนใจประชาชน เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าที่ พรรคภูมิใจไทย หาเสียงไว้ ทำได้จริง พูดแล้วทำ ทำแล้วสำเร็จ มันถูกใจประชาชน มันก็เจาะยางกัน”หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ระบุ
ร่างกฎหมายกัญชา จะก่อให้เกิดปัญหาขึ้นในระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเองหรือไม่ “เปิดสภา” มา เดี๋ยวได้รู้กัน
ทั้ง ร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง และ ร่างพ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ถือเป็น “ระเบิดเวลา” สำหรับโค้งสุดท้ายของ “รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์” ที่น่าจับตา...