นายธนวัช ภูเก้าล้วน คณะที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ และ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กระบี่ พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) กล่าวถึงสถานการณ์ราคายางพาราในปีหน้า 2566 ว่า มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่งขึ้นจากสงครามรัสซีย-ยูเครน ขณะที่การผลิตของอินโดนีเซีย และ มาเลเซีย ยังกลับมาไม่เต็มที่
ประกอบกับอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มยานยนต์ หรือ ถุงมือยาง ยังมีทิศทางสดใส แต่ไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลจะละเลยภารกิจการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปลูกพืชทดแทน ตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 ด้วยการปลูกแทนด้วยยางพันธุ์ดี หรือไม้ยืนต้นที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ
รวมถึงการควบคุมปริมาณการผลิต ลดพื้นที่การปลูกยาง สร้างสมดุลและปริมาณยางพาราในประเทศ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางให้อยู่ในระดับที่น่าพอใจ ด้วยการส่งเสริมให้ชาวสวนยางที่ปลูกยางแต่ได้รับผลผลิตน้อย ติดต่อรับสิทธิ์ขอทุนในการปลูกแทนได้ อัตราไร่ละไม่เกิน 16,000 บาท / ไร่ แต่ที่น่าเป็นห่วง คือ กฎเกณฑ์ที่มียังไม่จูงใจให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ
ปัญหาคือ ตามระเบียบการปลูกแทน หากเกษตรกรปลูกแทนก่อนการอนุมัติทุน เมื่อถึงลำดับที่ได้รับทุน จะถูกตัดเงินปลูกแทนตามอายุพืชที่ปลูกนับถึงวันที่ได้รับทุน จึงจะทำให้ได้รับเงินทุนไม่เต็มในอัตรา 16,000 บาท/ไร่ เกษตรกรส่วนใหญ่จึงไม่กล้าปลูกพืชหลักที่ขอทุนปลูกแทน ทำให้เสียโอกาสในการปลูกใหม่ไปประมาณ 2 ปี
“ทีมงานกระบี่ ประชาธิปัตย์ นำโดย ส.ส.สาคร เกี่ยวข้อง ส.ส.ดร.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล และ ผมจึงได้เร่งผลักดันให้ กยท. มีการปรับปรุงระเบียบดังกล่าว เพื่อให้เกษตรกรที่มีความพร้อมสามารถโค่นยางพาราและปลูกพืชอื่นแทนใหม่ได้
โดยได้รับเงินทุน ปลูกแทน เมื่อถึงลำดับได้รับอนุมัติเงินปลูกแทน เต็มจำนวน 16,000 บาท/ไร่ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวสวนยางพารา และจะช่วยให้นโยบายลดพื้นที่การปลูกยาง สร้างสมดุลและปริมาณยางพาราในประเทศ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางบรรลุตามเป้าหมายด้วย” นายธนวัช กล่าว