ด่วน มติศาลรธน.เอกฉันท์“ร่างพรบ.เลือกตั้งส.ส.”ไม่ขัดรธน. สูตรหาร 100 ฉลุย

30 พ.ย. 2565 | 05:23 น.
อัปเดตล่าสุด :30 พ.ย. 2565 | 13:04 น.

ศาลรธน.มีมติเอกฉันท์ “ร่างพร.บ.เลือกตั้งส.ส.” มาตรา 25 และ มติ 7 ต่อ 2 มาตรา 26 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ส่งผลระบบคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ สูตรหาร 100 ฉลุย


วันนี้ (30 พ.ย.65) คณะศาลรัฐธรรมนูญได้มีการอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยในคำร้องที่ประธานรัฐสภา ส่งความเห็นของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จำนวน 105 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 132 ว่าร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. (ฉบับที่.. ) พ.ศ. ....  มาตรา 25 และ มาตรา 26 มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 มาตรา 94 หรือไม่  และตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่แล้ว 


ล่าสุด  คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติวินิจฉัยว่า ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. (ฉบับที่.. ) พ.ศ. ....  มาตรา 25 และ มาตรา 26 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่อย่างใด

โดยผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ วินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ตราขึ้นโดยถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 132

 

และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มาตรา 25 ไม่มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 และมาตรา 94 และมีมติโดยเสียงข้างมาก (7 ต่อ 2) วินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มาตรา 26 ไม่มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 และมาตรา 74

                                         

สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะแจ้งผลการวินิจฉัยกรณีดังกล่าวให้ประธานรัฐสภาได้รับทราบ และประธานรัฐสภาจะส่งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ให้นายกรัฐมนตรี เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ตามขั้นตอนต่อไป
                                       ด่วน มติศาลรธน.เอกฉันท์“ร่างพรบ.เลือกตั้งส.ส.”ไม่ขัดรธน. สูตรหาร 100 ฉลุย

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมอภิปราย และเห็นว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมาย มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวนตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 58 วรรค 1 พร้อมกำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติในวันพุธที่ 30 พ.ย. 2565 เวลา 09.30 น.


นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ในฐานะแกนนำสมาชิกรัฐสภาที่ร่วมกันยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างพ.ร.บ.เลือกตั้งส.ส. มีเนื้อหาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ กล่าวถึงประเด็นที่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ได้ยื่นให้ศาลวินิจฉัยใน 2 ประเด็น คือ

 

ประเด็นแรก เรื่องระบบการคิดคำนวณส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ที่ให้ใช้ระบบ 100 หาร ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 93 และ 94 หรือไม่ ซึ่ง 2 มาตราดังกล่าวให้มีส.ส.พึงมี และให้การคำนวณหาส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ใน 2 กรณี คือ กรณีที่การเลือกตั้งยังไม่แล้วเสร็จทั้งหมด คำนวณอย่างไร กับกรณีที่ภายใน 1 ปี ถ้าเกิดมีการสอบสวนการเลือกตั้งแล้ว กกต.บอกว่า มีการทุจริตการเลือกตั้งจนต้องจัดการเลือกตั้งซ่อมใหม่ ก็ต้องมีการคำนวณส.ส.พึงมีและส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่ 

 

ศาลรัฐธรรมนูญ ก็ต้องวินิจฉัยว่า เมื่อรัฐธรรมนูญมาตรา 93 กับ 94 มีบัญญัติไว้แบบนี้ แล้วระบบหาร 100 ปาร์ตี้ลิสต์ ที่ไม่มีเรื่องของส.ส.พึงมี ที่เขียนไว้ในร่างพรบ.การเลือกตั้ง ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะหาร 100 เป็นการยกเลิกเจตนารมณ์หลักของรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ข้อ คือ ส.ส.พึงมี -ทุกคะแนนเสียงไม่ตกน้ำ -ระบบจัดสรรปันส่วนผสม ระบบหาร 100 ทำลายทั้ง 3 หลักการดังกล่าว


สำหรับประเด็นที่สอง คือ กระบวนการได้มาซึ่งระบบหาร 100 ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ เพราะในช่วงที่รัฐสภากำลังพิจารณาร่างพรบ.การเลือกตั้งส.ส.ฯ ในวาระสอง ทางคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.การเลือกตั้งของรัฐสภา (สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข เป็นประธาน) ตั้งแต่มาตรา 1 จนถึงมาตรา 23 


โดยในมาตรา 23 ฝ่ายตนได้สู้จนชนะ คือเสียงส่วนใหญ่ของสมาชิกรัฐสภา โหวตให้เป็นหาร 500 จากเดิมที่ร่างของกรรมาธิการเป็นหาร 100 ทำให้ต่อจากนั้น จะต้องมีการพิจารณามาตราในลำดับถัดไป คือตั้งแต่มาตรา 24 ไปจนจบประมาณมาตรา 28-29


แต่หลังจากที่ประชุมร่วมรัฐสภาโหวตให้ใช้หาร 500 แล้ว ต่อมาคณะกรรมาธิการฯ ได้มีการประชุมและปรับแก้เนื้อหาในร่างพ.ร.บ.การเลือกตั้งฯ ในมาตราถัดๆ ไปให้สอดคล้องกับมาตรา 23 


จากนั้นกรรมาธิการ ก็ส่งร่างที่มีการปรับแก้ไข ในมาตราที่ 24 เป็นต้นมาจนจบ มาให้รัฐสภาเตรียมพิจารณาในวาระสองต่อ ที่ขั้นตอนทางที่ประชุมรัฐสภา ก็จะนำร่างดังกล่าวมาพิจารณาเรียงรายมาตรา ไปจนครบทั้งฉบับ ภายใต้หลักคือ หาร 500 พอพิจารณาครบหมด ที่ประชุมร่วมรัฐสภาจะต้องโหวตวาระสาม ว่าจะให้ร่างพรบ.การเลือกตั้งฯ ผ่านความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบจากรัฐสภา

 

แต่ปรากฏว่า มีการเล่นเกมกัน ทำให้การประชุมรัฐสภา เพื่อกลับมาพิจารณาร่างพ.ร.บ.การเลือกตั้ง ตั้งแต่มาตรา 24 เกิดขึ้นไม่ได้ ตอนนั้นที่ประชุมร่วมรัฐสภาองค์ประชุมล่มสี่ครั้ง จนเลยเวลา 180 วัน ซึ่งที่ประชุมร่วมรัฐสภาจะต้องพิจารณาร่างพรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จ 


แต่สุดท้าย รัฐสภาพิจารณาไม่เสร็จ เมื่อเลย 180 วันมา กฎหมายบัญญัติว่า ต้องใช้ร่างที่รัฐบาลเสนอเข้ามาที่เป็นร่างหลักในตอนที่รัฐสภาพิจารณาเห็นชอบวาระแรก ก็เลยทำให้มีการใช้ร่างพ.ร.บ.การเลือกตั้งฯ ที่ผ่านวาระแรกมาแทนร่างของคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งร่างดังกล่าว (ร่างของคณะกรรมการการเลือกตั้ง) ให้ใช้ 100 หารปาร์ตี้ลิสต์ โดยตามขั้นตอน นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ก็จะต้องส่งร่างพ.ร.บ.การเลือกตั้งดังกล่าวไปให้นายกรัฐมนตรีเพื่อเตรียมนำขึ้นทูลเกล้าฯ

 

แต่ในช่วงที่กำลังจะรอส่งร่างฯ ให้นายกรัฐมนตรี ทางกลุ่มผู้ร้อง ก็ยื่นให้ศาลวินิจฉัยว่า กระบวนการดังกล่าวข้างต้นที่ทำให้พิจารณาร่างพ.ร.บ.การเลือกตั้งส.ส.ของคณะกรรมาธิการฯ ไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญ ด้วยการทำให้รัฐสภาองค์ประชุมล่มถึงสี่ครั้ง