วันนี้(8 ธ.ค.65) นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร แถลงข่าวถึงร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง และ ร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ได้ส่งไปยังนายกรัฐมนตรีแล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ที่ผ่านมา และตามกระบวนการของกฎหมาย นายกรัฐมนตรีมีเวลา 5 วัน ก่อนที่จะนำร่างเข้าสู่กระบวนการประกาศบังคับใช้
นายชวน ยังกล่าวถึงร่างกฎหมายที่มีความจำเป็นและสำคัญที่จะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จ เช่น ร่าง พ.ร.บ.ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หรือ ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ว่า เป็นเรื่องด่วนที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) ส่งมา รวมถึงร่างกฏหมายฉบับอื่นอีกกว่า 10 ฉบับ โดยย้ำว่า หากรัฐบาลต้องการให้กฎหมายผ่านต้องดูแลเรื่ององค์ประชุม เพราะไม่เช่นนั้นจะไปไม่ถึง แต่ก็เชื่อว่าเวลาที่เหลือของสภา 2 เดือนนั้น เพียงพอ หากองค์ประชุมไม่มีปัญหา
นายชวน กล่าวว่า ได้นัดประชุมเพิ่มเติมในวันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม จากนั้นก็จะไม่ได้นัดวันศุกร์ไปจนถึงช่วงปีใหม่ และจะหารือวิปทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อเคลียร์วาระการพิจารณา โดยในเรื่ององค์ประชุมนั้นตนได้ปรึกษา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ในฐานะรัฐบาล ให้ขอเป็นคนกลางประสานพรรครัฐบาล ขอความร่วมมือร่วมการประชุมสภาฯ
เพราะการประชุมสภาเป็นหน้าที่ของทุกฝ่าย แต่กลไกระบบนี้รัฐบาลเสียงข้างมากต้องคุมเสียงให้สภาฯ พิจารณาไปได้ โดยอยากให้แจ้ง นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีแต่ละพรรคแจ้งสมาชิกเข้าประชุม
“ขอความร่วมมือทุกฝ่าย ในการให้ความร่วมมือการประชุม เพราะเวลาเป็นของมีค่า ที่จะใช้ระยะเวลาที่เหลือทำงานด้านกฎหมายให้ประชาชน โดยหวังได้รับความร่วมมือระดับดีกว่าที่ผ่านมา เพราะที่ผ่านมายอมรับยากทำให้องค์ประชุมครบ”
อย่างไรก็ตาม การปิดสมัยประชุมสภาก็จะจบแค่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งตอนนี้ ญัตติอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 ของฝ่ายค้าน ก็ยังไม่ได้เสนอมา ก็ต้องเผื่อเวลาให้ส่วนนี้ด้วย
“การที่องค์ประชุมสภาล่มบ่อยในช่วงนี้ ไม่ใช่เกมการเมืองในสภาเพื่อยื้อร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง แต่เป็นเรื่องที่ฝ่ายค้านไม่ร่วมเป็นองค์ประชุม ในการโหวตมาตรา 9/1 ร่าง พ.ร.บ.การเข้าชื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น”
ทั้งนี้ ยอมรับกรณีสภาล่มวันที่ 7 ธันวาคมนั้น ตัวเองก็ลืมกดบัตรแสดงตนเช่นกัน แต่ขอสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่าย่อท้อ เพราะเชื่อว่ายังมีเวลาเพียงพอที่จะทำงาน และในสัปดาห์ต่อๆ ไปขอให้รับผิดชอบมาร่วมประชุม
ขณะเดียวกัน เชื่อว่าปัญหาองค์ประชุมล่มไม่ได้มีเหตุมาจาก ส.ส.โดดประชุม ทำพื้นที่พบชาวบ้านหาเสียง แต่สมาชิกบางคนไปภารกิจต่างประเทศ และก็มีสมาชิกบางคนไม่ทราบหายไปไหนมีทุกพรรค
ทั้งนี้หากมีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาร่างกฏหมายสำคัญและต้องเปิดการประชุมวิสามัญก็สามารถทำได้ ซึ่งจะต้องเปิดในช่วงเดือนมีนาคม 2566 แต่ส่วนตัวประเมินว่าขนาดการประชุมสามัญธรรมดาองค์ประชุมไม่ครบ การเปิดสภาสมัยวิสามัญจึงอาจจะยาก
"สภายุคนี้ต่างจากสมัยก่อนที่นายกฯ เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในฐานะเสียงข้างมาก แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีเลย ผู้ใหญ่ที่เป็นหลักในสภา หมายถึงผู้บริหารระดับสูง ไม่มีนายกฯ ไม่มีรองนายกรัฐมนตรี มอบแต่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ มาดูแล ซึ่งก็ดูแลไม่ทั่วถึง
ในสภาฯ ขณะนี้จึงต้องทำหน้าที่กันเอง ประธานสภาและรองประธานสภาต้องหารือกันเอง แทนที่จะเป็นฝ่ายบริหารเข้ามาดูแล ก็ทำให้ไม่เหมือนสมัยก่อน โดยหวังว่าเมื่อแจ้ง นายวิษณุ ไปแล้ว จะแจ้งต่อนายกฯ รับทราบ เพื่อให้เรียกหัวหน้าพรรคทั้งหลายมาหารือว่าแต่ละพรรคต้องกำชับลูกพรรค" นายชวน กล่าว