ปัจจุบัน ... รัฐบาลได้ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรแล้ว ด้วยแนวโน้มสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ทว่าสถานการณ์ที่ผ่านมา ...ส่งผลให้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อสะสมรวมแล้วกว่า 4 ล้านคน และเสียชีวิตจากโรคระบาดดังกล่าวมากกว่า 3 หมื่นราย สร้างความเสียหายและกระทบต่อการดำรงชีวิต เศรษฐกิจ ตลอดจนโครงสร้างทางสังคมอย่างมาก
ในมุมของรัฐบาลเอง ก็เห็นว่าได้ทำหน้าที่ในการแก้ปัญหาโรคระบาดดังกล่าวอย่างเต็มกำลังความสามารถ ส่วนในมุมของประชาชนจำนวนหนึ่งก็เห็นว่า ยังมีข้อบกพร่องในการทำหน้าที่ดังกล่าวหลายประการ ซึ่งประเด็นหนึ่งที่มักมีการพูดถึงกันก็คือ ปัญหาการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันและลดความรุนแรงของโรคได้
วันนี้ ...นายปกครองมาชวนคุยความรู้เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการด้านการสาธารณสุข ภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาล ในประเด็นวัคซีนป้องกันโรคโควิด-1-19 กรณีที่หากประชาชนเห็นว่า มีการบริหารจัดการไม่ถูกต้อง ไม่ชอบใจ จะต้องฟ้องคดีที่ศาลใด?
คดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองว่า ... นายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ได้ออกประกาศศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ลงวันที่ 8 มิถุนายน 2564 กำหนดแนวทาง หรือ หลักเกณฑ์การบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อเร่งรัดให้การขับเคลื่อนการฉีดวัคซีนมีประสิทธิภาพ และประชาชนได้รับประโยชน์โดยเร็ว
แต่แนวทางตามประกาศดังกล่าวกลับสร้างเงื่อนไขอันเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหา ทำให้วัคซีนขาดแคลน ล่าช้า ไม่ทันต่อสถานการณ์ ส่งผลให้ประชาชนเสียชีวิตและเจ็บป่วยเพิ่มขึ้น
แม้ว่ามีหลายหน่วยงานต้องการนำเข้าวัคซีน แต่ก็ติดขัดกฎระเบียบหลายขั้นตอน นอกจากนี้ โรงพยาบาลเอกชนที่ต้องการนำเข้าวัคซีนจะต้องจ่ายค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่าเก็บรักษา ให้แก่ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) และปลัดกระทรวงสาธารณสุข (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3)
ทั้ง ๆ ที่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคดังกล่าว โดยไม่มีค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชน แต่ประชาชนบางส่วนรวมทั้งผู้ฟ้องคดีที่ 1 ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อวัคซีนทางเลือกเอง เนื่องจากเกรงว่าจะได้รับวัคซีนล่าช้าและไม่เพียงพอ แต่เมื่อจ่ายเงินไปแล้วยังต้องรอการดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ อีกเป็นเวลานาน
ผู้ฟ้องคดีทั้งสองจึงเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 กีดกันการนำเข้าวัคซีน โดยสร้างหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และขั้นตอนอันเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหา ทำให้ไม่สามารถดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ได้
รวมทั้งบริการด้านสาธารณสุขที่ล้มเหลว อันส่งผลกระทบต่อประชาชนและเศรษฐกิจโดยรวม ขอให้ศาลปกครองเพิกถอนหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ทั้งหมดในประกาศดังกล่าว โดยให้เอกชนและหน่วยงานต่าง ๆ สามารถนำเข้าวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดยเสรีได้
คดีมีประเด็นที่น่าสนใจว่า การฟ้องเพิกถอนหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ตามประกาศศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่กำหนดแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองหรือไม่ ?
ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรเพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ได้ออกประกาศศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กำหนดแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19
ทั้งในเรื่องของการจัดหาวัคซีน กำหนดองค์กรที่ทำหน้าที่จัดหาและนำเข้าวัคซีน รวมถึงมาตรการอื่น ๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการเร่งรัดการฉีดวัคซีนตามข้อ 5 ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 23) ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2564 กรณีจึงถือว่าเป็นประกาศที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
มาตรา 16 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว ได้บัญญัติให้บรรดาข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชกำหนดนี้ ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง อันเป็นกรณีที่มีกฎหมายเฉพาะบัญญัติให้การกระทำทางปกครอง ตามพระราชกำหนดดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจตรวจสอบของศาลปกครอง
ดังนั้น กรณีการฟ้องเพิกถอนหลักเกณฑ์ตามประกาศพิพาท จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ คร. 121/2565)
กล่าวโดยสรุปได้ว่า … ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เช่น ประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ หรือ แนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ซึ่งมาตรา 16 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว ได้บัญญัติยกเว้นให้ไม่อยู่ในอำนาจตรวจสอบของศาลปกครอง แม้จะมีลักษณะเป็นคดีปกครองก็ตาม
ฉะนั้น กรณีพิพาทที่เกิดจากประกาศกรณีตามพิพาท จึงไม่อยู่ในอำนาจตรวจสอบของศาลปกครอง หากแต่อยู่ในอำนาจตรวจสอบของศาลยุติธรรม ด้วยเหตุที่มีกฎหมายเฉพาะบัญญัติไว้ครับ ...
(ปรึกษาคดีปกครองได้ที่ สายด่วนศาลปกครอง 1355 และสืบค้นเรื่องอื่น ๆ ได้จาก www.admincourt.go.th เมนูวิชาการ เมนูย่อยอุทาหรณ์จากคดีปกครอง)