คอลัมน์ฐานโซไซตี หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3851 ระหว่างวันที่ 8-11 ม.ค. 2566 โดย “ว.เชิงดอย” ประจำการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่มีสาระ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเช่นเคย
*** เข้าสู่โค้งสุดท้ายของ “รัฐบาลประยุทธ์ 2” หลังจากครองเก้าอี้นายกฯ คนที่ 29 มาเป็นเวลายาวนาน นับแต่รัฐประหารเมื่อ 22 พ.ค.2557 ซึ่งวาระของ บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บนเก้าอี้นายกฯ สมัย 2 เหลือเวลาถึงเพียงวันที่ 23 มี.ค.2566 นี้ เท่านั้น (หากไม่ยุบสภาเสียก่อน) และหากสามารถกลับเข้ามาเป็นนายกฯ สมัย 3 ได้ ก็จะมีเวลาบนเก้าอี้นายกฯ เหลืออีกเพียง 2 ปี เท่านั้น คือ เป็นนายกฯ ได้ถึงแค่กลางปี 2568 (ครบ 8 ปี) ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด
*** และเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมไว้สำหรับ “รัฐบาลต่อไป” หรืออาจจะเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับปูทางไปสู่การ “ยุบสภา” เลือกตั้งใหม่ก่อนกำหนด เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2566 ที่ผ่านมาจึงได้เห็นภาพ พล.อ.ประยุทธ์ นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานการประชุมพิจารณากำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ร่วมกับ 4 หน่วยงานด้านเศรษฐกิจประกอบด้วย กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ ธนาคารแห่งประเทศไทย และ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
*** เฉลิมพล เพ็ญสูตร ผอ.สำนักงบประมาณ ชี้แจงว่า กรอบการจัดทำงบประมาณปี 2567 จะเป็นไปตามที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.2566 ที่เห็นชอบกรอบการจัดทำงบประมาณระยะปานกลาง 2567-2570 โดยงบประมาณ 2567 มีกรอบวงเงินงบประมาณรวม 3.35 ล้านล้านบาท ซึ่งการจัดทำงบประมาณจะเริ่มขึ้นในช่วงนี้ เพื่อกำหนดกรอบเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ เพื่อให้สำนักงบฯ นำไปหารือส่วนราชการเพื่อยกร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ
โดยสำนักงบฯ กำหนดปฏิทินเสนอ ครม.พิจารณาในวันที่ 10 ม.ค.2566 หลังจากนั้นสำนักงบฯ จะจัดทำรายละเอียดคำของบประมาณ และเสนอ ครม.เห็นชอบร่าง ในวันที่ 16 พ.ค.2566 แต่อาจมีการปรับเปลี่ยนกรอบเวลา เพราะปีนี้จะมีการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยกรณีไม่มีการยุบสภาจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 7 พ.ค.2566 และคาดว่าจะได้ ครม.ชุดใหม่ในเดือน มิ.ย.2566
*** ผอ.สำนักงบประมาณ บอกด้วยว่า การจัดทำงบประมาณปี 2567 สำนักงบฯ ทำแผนรองรับปัจจัยการเลือกตั้ง ซึ่งการจัดทำงบประมาณอาจล่าช้าออกไปจากที่กำหนดไว้ โดยทำแผนการปฏิบัติงาน และแผนการใช้จ่ายงบประมาณ พ.ศ.2567 ไปพลางก่อน ไว้เป็นเวลา 6 เดือน และหากล่าช้าออกไปก็ขยายระยะเวลาการใช้งบไปพลางก่อนออกไปได้
*** ขณะที่แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ชี้ว่า ครม.อาจต้องอนุมัติกรอบงบประมาณปี 2567 ก่อนที่จะมีการ “ยุบสภา” เพื่อให้สำนักงบประมาณนำกรอบไปหารือกับส่วนราชการเพื่อจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ โดยจะทำให้ส่วนราชการสามารถทำงบประมาณในระหว่างที่มีการเลือกตั้งได้ และเมื่อได้ครม.ชุดใหม่เข้ามาจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณได้เลยไม่ต้องเริ่มต้นใหม่
*** ทั้งนี้มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 ม.ค.2566 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้รายงานกรอบเวลาการจัดการเลือกตั้ง โดยเริ่มนับจากวันที่ 23 มี.ค.2566 ที่อายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง และ กกต.ประกาศกำหนดวันรับสมัครวันที่ 3-7 เม.ย. ส่วนวันที่ 30 เม.ย. เป็นวันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตเลือกตั้งและนอกเขตเลือกตั้ง และวันที่ 7 พ.ค. เป็นวันเลือกตั้ง ส.ส.
โดยหลังจาก กกต.รับรองผลเลือกตั้ง ส.ส. 95% แล้ว ภายใน 15 วัน ให้เรียกประชุมรัฐสภา (รัฐพิธี) คาดว่าอยู่ระหว่างวันที่ 22-25 พ.ค. จากนั้นไม่เกิน 10 วัน (ไม่เกิน 5 มิ.ย.) ต้องเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเลือกประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯ โดยหลังโปรดเกล้าฯ ผู้ดำรงตำแหน่งประธาน และ รองประธานสภาฯ แล้ว ให้เรียกประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกฯ
ทั้งนี้ กกต.ไม่ได้กำหนดระยะเวลาเลือกนายกฯ ว่าต้องดำเนินการภายในกี่วัน แต่ในปี 2562 ใช้เวลาเพียง 10 วัน ครั้งนี้ก็คาดว่าจะได้นายกฯ และ ครม.ชุดใหม่ ภายในเดือน มิ.ย.2566 …นับถอยหลัง “รัฐบาลประยุทธ์ 2” ส่วนจะมี “รัฐบาลประยุทธ์ 3” หรือไม่ ต้องรอลุ้นหลังการเลือกตั้ง ไม่เกินวันที่ 7 พ.ค.2566 ได้รู้กันแน่...