พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ เลขาธิการพรรคประชาชาติ โพสต์เฟซบุ๊ก กระทุ้ง นายกรัฐมนตรี ต้องร่วมกันรับผิดชอบที่ให้รัฐจ่ายค่ารถไฟฟ้าสายสีส้ม แพงมากกว่า 6.8 หมื่นล้านบาท โดยมีข้อความว่า
ตามที่ท่านนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้สัมภาษณ์เมื่อวานนี้ (28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566) ที่ทำเนียบรัฐบาล กรณีเรื่องร้องเรียนรถไฟฟ้าสายสีส้มนั้น กล่าวว่า อำนาจนายกรัฐมนตรีไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ คณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการดำเนินการ แต่ขั้นตอนการดำเนินการมีคณะกรรมการ ซึ่งมีอำนาจสิทธิ์ขาดของเขาอยู่ข้างล่าง กระทรวงก็รับผิดชอบในระดับกระทรวงเป็นลำดับสายบังคับบัญชา
ท่านนายกรัฐมนตรี อาจจะหลงลืมไปว่าท่านยังมีอีกสถานะหนึ่ง คือ ฐานะเป็นประธานกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 13 พระราชบัญญัติ การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 มีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 20 เรียกให้หน่วยงานของรัฐหรือเอกชน ที่ดำเนินโครงการเข้าร่วมลงทุนเข้าชี้แจง ให้ความเห็น
หรือ จัดส่งข้อมูลหรือเอกสารที่เกี่ยวข้องกับโครงการร่วมลงทุน เพื่อวินิจฉัยกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ มีอำนาจในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อพิจารณา หรือปฏิบัติหน้าที่ ด้วย ดังนั้น เมื่อท่านก็ทราบมาตลอดอยู่แล้ว ก็เชื่อว่า น่าจะทราบด้วยว่า
1. การกำหนดเงื่อนไขคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอ ตามประกาศเชิญชวนปี พ.ศ.2565 มิได้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี ที่กำหนดให้ประมูลในรูปแบบ International Competitive Bidding ให้ผลตอบแทนเหมาะสมเป็นธรรม และมีผู้เข้าแข่งขันได้มากราย
2. คณะกรรมการคัดเลือกไม่ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ บริษัทอิตาเลียนไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ที่ผู้บริหารมีคำพิพากษาถึงที่สุด โทษจำคุก เป็นคุณสมบัติต้องห้าม ประกาศให้ผ่านเป็นผู้มีคุณสมบัติ เพื่อเป็นคู่เทียบแข่งขันราคา เพราะอย่างไรถ้าบริษัทนี้ชนะประมูลก็ต้องถูกยกเลิก เป็นการล็อกให้บริษัทเดียวชัดเจน
3. ราคาที่ผู้ชนะการคัดเลือกในปี พ.ศ. 2565 แตกต่างจากผู้ยื่นข้อเสนอในปี พ.ศ. 2563 มากกว่า 6.8 หมื่นล้านบาท ทั้งที่เนื้องานเท่ากัน ชิ้นงานเดียวกัน รัฐต้องจ่ายแพงไม่ได้ประโยชน์การดำเนินการดังกล่าวจึงไม่ได้เป็นไปตาม พระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 มาตรา 6 คือ
ไม่โปร่งใส ไม่รักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐ และรัฐจะไม่ได้ประโยชน์สูงสุด ตามข้อกำหนดในมาตรา 40 ซึ่งเอกชนได้ฟ้องคดีไว้ต่อศาลปกครองกลาง คดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง
กระผมและคณะร่วมกันยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ไต่สวนดำเนินคดี กับนายกรัฐมนตรีกับคณะโดยกล่าวหาว่ามีการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 , พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11 และพระราชบัญญัติความผิดว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 - 13
โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีหน้าที่กำกับการปฏิบัติราชการตามพระราชบัญญัติ ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 11 และในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการ ร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมดูแลโครงการร่วมทุนดังกล่าว ให้เป็นไปโดยสุจริตถูกต้องตามกฎหมายรักษาประโยชน์ของชาติอย่างเที่ยงธรรม
และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมใน ฐานะรัฐมนตรีของหน่วยงานในสังกัดที่มีอำนาจหน้าที่กำกับกิจการของ รฟม. ตามพระราชบัญญัติการ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543 มาตรา 72 และเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ตาม พระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ส่วน รฟม. และ คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562
อนึ่ง รัฐมนตรีคมนาคมอ้างมาโดยตลอดว่า ต้องรอฟังคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดซึ่งที่เป็นคดีพ.ศ. 2563 ที่ “อ้างคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดคนละคดีคนละประเด็น”กับการประมูลครั้งที่สอง ตามประกาศเชิญชวนปี พ.ศ. 2565 ที่จะนำเข้า ครม. ซึ่งยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง
และกว่าศาลปกครองสูงสุดจะตัดสินต้องใช้เวลาในอนาคตไม่น้อยกว่า 3 ปี การอ้างเอา ‘คนละคดีคนละประเด็นกัน’ เสมือน “ฟอกดำให้เป็นดำ” อายุ ครม. เหลือเวลาไม่ถึง 1 เดือน ตามธรรมเนียมประเพณีจะไม่การอนุมัติโครงการที่มีผลกับงบประมาณในอนาคต
รัฐบาลอย่าเอาการบริหารราชการแผ่นดินช่วง 2 สัปดาห์สิ้นสุดอายุ “เป็นเทศกาลเทกระจาด” ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นนายกรัฐมนตรีและ ครม. “ต้องร่วมกันรับผิดชอบที่ให้รัฐจ่ายค่ารถไฟฟ้าสายสีส้มแพงมากกว่า 6.8 หมื่นล้านบาท” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้