ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2566 นี้ วันหยุดยาว แต่มักจะมีบรรดาพวกมิจฉาชีพกลับอาศัยโอกาสนี้ ก่อเหตุหลอกลวงเอาเงินจากประชาชน เรื่องดังกล่าว พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พร้อมด้วยคณะทำงาน ได้ร่วมกันนำเสนอสถิติการรับแจ้งความออนไลน์รอบสัปดาห์ ภัยที่เกิดขึ้นใหม่และภัยที่เกี่ยวข้องกับเทศกาลสงกรานต์ 2566 เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้มีภูมิป้องกันภัยออนไลน์ ไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2566 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 2-8 เม.ย.2566 รวมทั้งสัปดาห์มีผู้แจ้งความ 5,269 เคส / 312,510,656.69 บาท สถิติการรับแจ้งเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 1,224 เคส ความเสียหายลดลง 307,208,129.81 บาท
โดยสถิติการรับแจ้งความคดีออนไลน์มากที่สุดยังเป็นคดีเดิมๆ 5 อันดับ ได้แก่ อันดับ 1.คดีหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 2,600 เคส/34,066,584.28 บาท
2.คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ 719 เคส/61,185,905.30 บาท 3.คดีหลอกลวงให้กู้เงิน 539 เคส/22,793,579.46 บาท
4.คดีหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ 286 เคส/72,795,550.02บาท
และ 5.คดีข่มขู่ทางทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน (Call Center) 276 เคส/47,917,957.49 บาท
สำหรับภัยออนไลน์ที่น่าสนใจและเกิดขึ้นมากในรอบสัปดาห์ มีจำนวน 3 เรื่อง ดังนี้
1. “สั่งซื้อของคลายร้อน ไม่ได้ของ แถมหัวร้อน” คดีนี้มิจฉาชีพทำการปลอมเพจเฟซบุ๊กให้คล้ายของจริง นำภาพ ซึ่งคัดลอกมาจากเพจอื่น มาโพสต์เพื่อหลอกขายเสื้อสงกรานต์ ปืนฉีดน้ำ และสินค้าอื่นๆ ก่อนช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยมิจฉาชีพได้หลอกให้ผู้เสียหายโอนเงินก่อน โดยไม่ส่งสินค้าให้
2. “การลงทุนมีความเสี่ยง ควรปรึกษา 1441” คดีนี้มิจฉาชีพทำการปลอมเพจเฟซบุ๊ก โดยใช้รูปโปรไฟล์บุคคลที่มี ชื่อเสียง อาชีพ และฐานะที่น่าเชื่อถือ แล้วชักชวนผู้เสียหายลงทุนเทรดหุ้น ในแอปพลิชั่น โดยนำผลตอบแทนจำนวนมากมาเป็นเหยื่อล่อ เมื่อผู้เสียหายลงทุนครั้งแรกๆ ผู้เสียหายจะได้รับค่าตอบแทน แต่ผู้ต้องสงสัยได้เก็บทุนไว้อ้างว่าจะเก็บไว้เพื่อลงทุนต่อให้ สุดท้ายได้หลอกให้ผู้เสียหายลงทุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รู้ตัวอีกทีเสียเงินไปจำนวนมาก
3. “อยากกู้เงินง่ายๆ แต่ได้เงื่อนไขยากๆ” คดีนี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมิจฉาชีพสร้างเว็บไซต์ปลอม แอบอ้างเป็น บริษัท คันทรี่กรุ๊ปโฮลดิ้งส์ (CGH) หลอกให้กู้เงินออนไลน์ดอกเบี้ยต่ำ สำหรับสัปดาห์นี้คนร้ายได้แอบอ้างเป็น บริษัท ฉัตรชัย ลิสซิ่ง จำกัด เพื่อหลอกให้กู้เงินดอกเบี้ยต่ำอีกเช่นกัน
โดยจะส่งลิงค์ปลอมเพื่อให้เห็นว่า ยอดเงินกู้ได้รับการอนุมัติแล้ว จากนั้นจะอ้างว่าผู้เสียหายเป็นลูกค้าใหม่ ต้องโอนเงินค้ำประกันก่อน เพื่อแสดงว่ามีความสามารถผ่อนชำระได้ และในการโอนจะตั้งเงื่อนไขเข้มงวด เพื่อหลอกให้ผู้เสียหายโอนเงินใหม่ทุกๆ ครั้งที่ทำผิดพลาด กรณีนี้อ้างว่าไม่ใส่เศษสตางค์ในการโอน และโทษว่าเป็นความผิดของผู้เสียหายที่กรอกข้อมูลผิด สุดท้ายข่มขู่และหลอกให้โอนเพิ่ม
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความห่วงใยประชาชน จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่เดินทางกลับไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ที่บ้าน ช่วยกันแจ้งเตือนว่า กรณีสั่งซื้อของออนไลน์ ต้องตรวจสอบเพจร้านค้าให้ละเอียดก่อนซื้อขายทุกครั้ง ไม่หลงเชื่อลงทุนกับคนแปลกหน้า และหากต้องการกู้เงินให้ติดต่อขอกู้จากแหล่งที่น่าเชื่อถือเท่านั้น