ศาลกลับคำสั่ง ไม่คุ้มครองชั่วคราว “สืบพงษ์ ปราบใหญ่” อธิการบดี ม.รามคำแหง

03 พ.ค. 2566 | 11:32 น.
อัปเดตล่าสุด :03 พ.ค. 2566 | 11:42 น.

ศาลปกครองสูงสุดกลับคำสั่งเป็นให้ยกคำขอ “สืบพงษ์”ปราบใหญ่”ขอคุ้มครองชั่วคราว ชี้เบื้องต้นยังฟังไม่ได้ว่าคำสั่งถอดถอนพ้นอธิการบดีม.รามคำแหง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

วันนี้ (3 พ.ค.66)  ศาลปกครองสูงสุดกลับคำสั่งศาลปกครองกลางเป็นยกคำขอของ นายสืบพงษ์ ปราบใหญ่ ที่ขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาในคดีที่นายสืบพงษ์ ยื่นฟ้อง สภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ศาสตราจารย์ สมบูรณ์ สุขสำราญ อุปนายกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ทำหน้าที่แทนนายกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ,นายกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง และผู้ช่วยศาสตราจารย์บุญชาล ทองประยูร  เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่1-4 กรณี สภามหาวิทยาลัยรามคำแหง มีคำสั่งถอนถอนนายสืบพงษ์ ออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง และแต่งตั้ง  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ บุญชาล ทองประยูร เป็นผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง  

ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุด พิเคราะห์แล้วเห็นว่า กรณีที่สภามหาวิทยาลัยฯ  อ้างเหตุถอดถอนว่า นายสืบพงษ์ ใช้คุณวุฒิปริญญาเอกที่ไม่ได้รับการรับรองจากสำนักงาน ก.พ. มาสมัครเข้าเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ตำแหน่งอาจารย์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จึงเป็นผู้ที่ขาดคุณสมบัติไม่มีฐานะเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยมาแต่แรก และแสดงถึงความไม่ซื่อสัตย์สุจริต ขาดจริยธรรมนั้น 

สภามหาวิทยาลัยฯ  ได้มีการบรรจุเรื่องดังกล่าวเป็นวาระเพื่อพิจารณาในการประชุมของสภามหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 24 ส.ค.65 โดยที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้ นายสืบพงษ์ ชี้แจงและแสดงพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง และสภามหาวิทยาลัยฯ  ได้พิจารณาข้อมูลจากสำนักงาน ก.พ. อีกครั้ง ในการประชุมเมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2565

โดย นายสืบพงษ์ ได้เข้าร่วมประชุมด้วย และได้ชี้แจงต่อที่ประชุมเกี่ยวกับคุณวุฒิการศึกษาระดับปริญญาเอกของตนเอง กรณีจึงยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า สภามหาวิทยาลัยฯ ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้ในการมีมติถอดถอน นายสืบพงษ์ ออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง 

ส่วนที่สภามหาวิทยาลัยฯ อ้างเหตุถอดถอนว่า นายสืบพงษ์ มีพฤติการณ์ให้ความช่วยเหลือ  แก่ นาย ส. ซึ่งถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ โดยการรับโอนที่ดินจาก นาย ส. จำนวน 2 แปลง และกล่าวอ้างว่า เงินของนาย ส. ที่ถูกยึดเป็นของกลางส่วนหนึ่ง จำนวน 4.5 ล้านบาท เป็นเงินของนายสืบพงษ์ 

และเมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้อง นายสืบพงษ์ จนกระทั่งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้ที่ดินและเงินที่ นายสืบพงษ์ กล่าวอ้างตกเป็นของแผ่นดิน นายสืบพงษ์ ก็ไม่ได้รายงานให้มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งเป็นต้นสังกัดทราบ การกระทำของ นายสืบพงษ์ เป็นการประพฤติผิดจรรยาบรรณของผู้บริหารตามที่กฎหมายกำหนด 

กรณีที่สภามหาวิทยาลัยฯ อ้างเหตุถอดถอนว่า นายสืบพงษ์ ยื่นหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายฎีการ้องทุกข์ โดยบิดเบือนข้อเท็จจริง เป็นการกระทำที่ขาดไร้จริยธรรมและประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงนั้น

ศาลปกครองสูงสุดไม่จำต้องพิจารณาว่า การดำเนินการของสภามหาวิทยาลัยฯ ก่อนมีมติถอดถอนนายสืบพงษ์ ในทั้งสองกรณีดังกล่าว มีปัญหาความชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะไม่มีผลทำให้ขั้นตอนในการดำเนินการของสภามหาวิทยาลัยฯ ก่อนที่จะมีมติถอดถอน นายสืบพงษ์ ออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง 

ด้วยเหตุพฤติการณ์การกระทำของ นายสืบพงษ์ ในกรณีที่เกี่ยวกับคุณสมบัติของ นายสืบพงษ์ เปลี่ยนแปลงไป ในชั้นนี้จึงยังฟังไม่ได้ว่า มติและคำสั่งที่ถอดถอน นายสืบพงษ์ ออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง และที่แต่งตั้งผู้ช่วยศาสตราจารย์บุญชาล เป็นผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่ครบองค์ประกอบตามกฎหมาย ที่ศาลจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติ และคำสั่งดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราวในระหว่างพิจารณาคดีได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2566 ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษา สั่งเพิกถอนมติสภา ม.รามคำแหง ปลด นายสืบพงษ์ พ้นตำแหน่งอธิการบดี ม.ราม โดยเห็นว่า เป็นมติไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เปิดโอกาสนำพยานหลักฐานชี้แจ้งก่อนลงมติ ซึ่งเป็นคนละสำนวนกับคดีในวันนี้