“กิตติศักดิ์”ฟันธง“พิธา”ชวดเก้าอี้นายกฯ ย้ำส.ว.หนุนไม่เกิน 5 คน

28 มิ.ย. 2566 | 04:34 น.
อัพเดตล่าสุด :28 มิ.ย. 2566 | 04:40 น.

“ส.ว.กิตติศักดิ์”ฟันธง“พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ชวดเก้าอี้นายกฯ ย้ำส.ว.หนุนไม่เกิน 5 คน ส่วนใหญ่จะงดออกเสียง ขอหยุดอ้าง 151 ส.ส.เป็นเสียงข้างมาก ย้ำจุดยืน ส.ว.โหวตให้พรรคไม่แตะ ม.112 ต้องให้บ้านเมืองเดินหน้าได้

วันนี้ (28 มิ.ย. 66) นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ในฐานะคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา กล่าวถึงความเห็นของ ส.ว.ในการโหวต นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ให้เป็นนายกรัฐมนตรี  ว่า ขณะนี้คลื่นลมสงบ ได้ข้อยุติแล้ว และมองว่า กลุ่ม ส.ว.ที่สนับสนุน นายพิธาน่าจะน้อยกว่า 5 คน ซึ่งสิ่งที่ส.ว.ส่วนใหญ่ตัดสินใจน่าจะเป็นการปิดสวิตซ์ตนเอง คือ การงดออกเสียง แต่ย้ำว่า ส.ว.มีเอกสิทธิ์ส่วนตัวในการลงมติอย่างไรก็ได้ 

เมื่อถามย้ำว่าถ้าเสียง ส.ว.ไม่ครบ ฟันธงว่า นายพิธา ไปต่อไม่ได้เลยใช่หรือไม่ นายกิตติศักดิ์ ตอบว่า ในวันเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ตนเชื่อว่าจะมีแคนดิเดตฯ มากกว่า 1 คน เพราะตามกฎหมายพรรคการเมือง พรรคที่ได้ส.ส.เกิน 25 คน สามารถเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีได้ 

เมื่อถามว่ามีพรรคอื่นที่ไม่ใช่พรรคก้าวไกล มาพูดคุยกับ ส.ว. เพื่อขอเสียงโหวตสนับสนุนเลือกนายกรัฐมนตรีหรือไม่ นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า ตอนนี้ไม่มีพรรคใด ที่จะมาเจรจาพูดคุยกับส.ว.แล้ว เพราะส.ว.มีคำตอบในใจแล้ว  แต่สิ่งที่ให้สัมภาษณ์วันนี้  คือ ให้สังเกตพรรคที่จะเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีน่าจะมีมากกว่า 1 พรรค 

เมื่อถามว่าฝ่ายที่เป็นประชาธิปไตย และฝ่ายรัฐบาลรักษาการปัจจุบัน ส.ว.ถูกใจฝั่งไหนมากกว่า นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า “ส.ว.กิตติศักดิ์ อยู่ฝ่ายประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพราะฉะนั้นการอ้างประชาธิปไตย ตนคิดว่าอาจเป็นประชาธิปไตยปลอมก็ได้”

เมื่อถามว่าถ้าพรรคก้าวไกล เสนอชื่อ นายพิธา แล้วไม่ผ่าน และพรรคเพื่อไทยจะมีโอกาสหรือไม่ นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า เดี๋ยวจะหาว่าส.ว.อะไรก็ไม่เอา เรามองแล้วว่าบ้านเมืองต้องเดินไปได้ ตนขอบอกเทปเดิมว่าบ้านเมืองต้องเดินต่อไปได้ ขณะนี้หาก นายพิธา ไปไม่ได้ พรรคอันดับ 2 ก็ต้องขึ้นมา  เพราะเราต้องการให้บ้านเมืองเดินไปได้

เมื่อถามย้ำว่าแสดงว่าพรรคเพื่อไทยจะได้ใช่หรือไม่ นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า ตนตอบตรงนี้ชัดเจนไม่ได้ เพราะ ส.ว.ไม่ก้าวก่ายการจัดตั้งรัฐบาล   แต่บอกได้แค่ว่าจะมีการเสนอแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี มากกว่า 1 พรรค   ส่วนพรรคใดจะได้ หรือ ไม่ได้ ส.ว.ไม่ไปก้าวก่าย  

เมื่อถามว่าจากกระแสข่าวในขณะนี้ การเมืองถึงขั้นพลิกขั้วหรือไม่ เพราะตามที่ระบุว่ามีแคนดิเดตนายกฯเพิ่ม นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า เอาเป็นว่าฝ่ายประชาธิปไตยที่อ้างกันมา  และผมเรียนในขณะนี้ ยังมีฝ่ายประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็เป็นอีกฝ่ายหนึ่ง 

ส่วนที่มีชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอีกคนนั้น นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า ตนไม่ทราบ แต่ถ้ามีชื่อของ พล.อ.ประวิตร ก็ต้องไปดูก่อนว่าเป็นไปได้หรือไม่ ซึ่งเราไม่ก้าวก่ายการจัดตั้งรัฐบาล 

เมื่อถามถึงหลักการของ ส.ว. จะยกมือให้พรรคที่รวมเสียง ส.ว.ได้เกินครึ่งของสภา ไม่ใช่ยกมือให้รัฐบาลเสียงข้างน้อยใช่หรือไม่ นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า “ผมเคยพูดแล้วว่า รัฐบาลเสียงข้างน้อย ไม่น่าจะเกิดขึ้นแล้ว บ้านเมืองก็เดินไปไม่ได้ บริหารประเทศไม่ได้ แต่ถ้าจะเป็นรัฐบาล ต้องไปรวบรวมเสียงให้ได้เกินครึ่ง คือ 376 เสียง แบบนี้บ้านเมืองถึงจะเดินไปได้ แต่หากมี ส.ส. อยู่ 100 กว่าเสียง แล้วไปจัดตั้งรัฐบาล ส่วนตัวไม่เห็นด้วย” 

เมื่อถามย้ำว่าที่ออกมาพูดว่า นายพิธา ไม่น่าจะผ่านการเลือกของ ส.ว.ถือเป็นการพูดแทนของส.ว.ทั้งหมดหรือไม่ นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า “เป็นความเห็นส่วนตัว ซึ่งทัวร์จะมาลงก็ขยายพื้นที่ไว้ มาลงที่กิตติศักดิ์ได้ แต่ไม่ลงที่ส.ว.คนอื่น และที่บอกมีคนโหวตให้ นายพิธา น้อยกว่า 5 คน มันก็คือโลกความเป็นจริง เพราะเราประเมินแล้วว่า ส.ว.ได้รับการโปรดเกล้าฯ ถ้าจะไปสนับสนุนนักการเมืองที่ต้องการแตะสถาบัน ผมก็ไม่ทราบว่าจะตอบสังคม ประชาชนได้อย่างไร”

เมื่อถามว่าการโหวตของส.ว.อาจจะนำไปสู่การลงบนถนน หรือ เกิดความวุ่นวาย นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า ตนพูดมานานแล้ว ไม่ว่าใครจะมาจัดตั้งรัฐบาล ในสถานการณ์แบบนี้ ความวุ่นวายมีแน่นอน ไม่ว่าจะฝ่ายพรรคก้าวไกล หรือ ฝ่ายอื่น ความขัดแย้งก็ยังมี แต่ถ้าเป็นพรรคอื่น ที่ไม่ใช่พรรคก้าวไกล ความขัดแย้งก็ยังมีแต่จะน้อยลง  

เมื่อถามว่า ส.ว.จะตอบกองเชียร์พรรคก้าวไกลอย่างไร เพราะเป็นการโหวตฝืนมติของประชาชนที่เลือกตั้งมา นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า ถ้าพูดเรื่องตัวเลข ก็เป็นทราบกันอยู่ว่า ไม่ได้บ่งชี้ว่า ถ้าพรรคอันดับ 1 ได้ไม่เกินครึ่งของสภา คือ 250 จะบอกว่าได้เสียงข้างมากเลยก็ไม่ได้ ยกตัวอย่างปี 2562 พรรคเพื่อไทย ก็ได้อันดับ 1 แต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ นั่นคือข้อเท็จจริง ดังนั้นปี 2566 ก็อาจกลับไปคล้ายปี 2562 ก็ได้ 

ส่วนที่พรรคเพื่อไทย กับ พรรคก้าวไกล ยังตกลงตำแหน่งประธานสภาไม่ได้ มองว่าจะแตกกันหรือไม่ นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า ตนไม่มีความเห็น เป็นเรื่องของ ส.ส.