หลังจาก “ฐานเศรษฐกิจ” นำเสนอประเด็นคณะทำงานประสานงานช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลด้านเศรษฐกิจ ของ 8 พรรคที่ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตัวแทนจากพรรคก้าวไกลได้เสนอแนวคิดให้ที่ประชุมพิจารณาแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีของรัฐบาล ที่เป็นอุปสรรคต่อการนำเงินมาใช้ในการดำเนินนโยบายที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชน
ด้วยการยกเลิกการกำหนดสัดส่วนงบลงทุนที่กฎหมายกำหนดว่าจะต้องมีสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 20% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อนำเงินมาใช้สำหรับการจัดทำนโยบายสวัสดิการที่พรรคก้าวไกลได้หาเสียงไว้กับประชาชนนั้น
ล่าสุด น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ทวิตข้อความว่า ขอยืนยันว่าไม่มีตัวแทนพรรคใดเลยในคณะทำงานด้านความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจและสังคมเสนอ transition team ให้ยกเลิกสัดส่วนงบลงทุน มีเพียงเสนอแก้นิยามรายจ่ายลงทุนให้รวมการลงทุนในมนุษย์ เช่น งบศึกษา/วิจัย และสวัสดิการจะจัดสรรโดยคำนึงถึงความยั่งยืนทางการคลังตามที่ระบุไว้ใน MOU
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากการประเมินการดำเนินนโยบายของพรรคก้าวไกล เกี่ยวกับจัดสวัสดิการเฉพาะการดูแลกลุ่มเด็กตั้งแต่เด็กเล็กและจนถึงเด็กโต รวมทั้งผู้สูงอายุ จะใช้เงินงบประมาณสูงถึง 5.3-5.5 แสนล้านบาท หรือประมาณ 3% ต่อจีดีพี
ก่อนหน้านี้กระทรวงการคลัง ยังได้หารือร่วมกับสำนักงบประมาณพบว่า งบสวัสดิการภาครัฐที่จัดสรรให้กับกลุ่มต่าง ๆ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2557 - 2567) เพิ่มขึ้น 116% จาก 549,967 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2557 เพิ่มเป็น 1,186,183 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2567 หรือเพิ่มขึ้น 636,200 ล้านบาท
เมื่อพิจารณาในรายละเอียดพบว่า งบประมาณที่ใช้เพื่อเป็นสวัสดิการสูงสุด อันดับ 1 ได้แก่ การจัดสวัสดิการสำหรับการออม เพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมสูงวัยให้กับประชาชน 30 ล้านคน ประกอบด้วย การจัดสรรเงินสมทบของทุนประกันสังคม กองทุนการออมแห่งชาติ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และค่าใช้จ่ายบำเหน็จบำนาญราชการ วงเงินรวมกว่า 5.1 แสนล้านบาทต่อปี
อันดับที่ 2 ได้แก่ การจัดสวัสดิการรักษาฟรีทั่วไทย หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ให้คนไทยทุกคน รวมค่ารักษาพยาบาลบุคลากรภาครัฐ วงเงิน 3 กว่าแสนล้านบาทต่อปี
อันดับ 3 ได้แก่ การจัดสวัสดิการเพื่อสนับสนุนค่าครองชีพประชาชน 14-15 ล้านคน เช่นบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เบี้ยยังชีพสำหรับกลุ่มเปราะบาง เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ/คนพิการ วงเงิน 182,263 ล้านบาทต่อปี
อันดับ 4 ได้แก่ การจัดสวัสดิการสำหรับเด็กตั้งแต่แรกเกิด และนโยบายเรียนฟรี ค่าอาหารหลางวันเด็ก โครงการนมโรงเรียน การสนับสนุนเด็กด้อยโอกาสผ่านกองทุนเสมอภาคเพื่อการศึกษา ไม่รวมเงินกู้ กยศ. กว่า 1.8 แสนล้านบาท