มองข้ามช็อต ก้าวไกล-เพื่อไทย เดินเกม ตั้งนายกฯ

29 มิ.ย. 2566 | 09:52 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ก.ค. 2566 | 08:16 น.

รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล มองข้ามช็อต ก้าวไกล-เพื่อไทย หลังเกิดกระแสความไม่ลงตัวเก้าอี้ "ประธานสภา" เมื่อเพื่อไทยประกาศสูตร 14+1 ในขณะที่ก้าวไกลสวนทันควัน เปิดตัว"หมออ๋อง" สู่ภาพวันโหวตนายกฯ

จากกรณีพรรคเพื่อไทย ประกาศมติส.ส.พรรคที่ประสงค์ให้ พรรคเพื่อไทยได้เก้าอี้ประธานสภา พร้อมเก้าอี้รัฐมนตรีอีก14 ตำแหน่ง ตามสูตร 14+1 ตามการแถลงของแกนนำพรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2566 หลังจากนั้นไม่ถึงชั่วโมง พรรคก้าวไกลก็ได้โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก เปิดตัว "หมออ๋อง" ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.เขต1 จ.พิษณุโลก พร้อมโชว์วิสัยทัศน์ เป็นแคนดิเดตประธานสภา 

กลางดึกของคืนวันที่ 27 มิถุนายน 2566 พรรคก้าวไกลได้ประกาศยกเลิกการประชุมคณะเจรจาพรรคเพื่อไทย-ก้าวไกล ในวันที่ 28 มิถุนายนอย่างไม่มีกำหนด รวมถึงยกเลิกการประชุมร่วม 8พรรคในวันที่ 29 มิ.ย.ด้วย กระทั่งช่วงเย็นของวันที่ 28 มิถุนายน แกนนำพรรคเพื่อไทย ได้รับการประสานจากแกนนำพรรคก้าวไกล ขอนัดประชุมระหว่าง 2 พรรคในวันที่ 2 กรกฎาคม เวลาประมาณ 09.00 น. และประชุม 8 พรรคร่วมรัฐบาลต่อในวันเดียวกัน

"หมออ๋อง" ปดิพัทธ์ สันติภาดา

ฐานเศรษฐกิจ ได้สัมภาษณ์พิเศษ รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย ถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน ไปจนถึงการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี โดยอ.ธนพรให้ความเห็นว่า ขณะนี้พรรคก้าวไกลเปิดปฏิบัติการ "กูไม่กลัวมึง" ซึ่งเป็นวาทะประวัติศาสตร์ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี

จะเห็นได้จากการที่พรรคก้าวไกล ประกาศเปิดตัวแคนดิเดตประธานสภา และยกเลิกการนัดประชุมคณะกรรมการเจรจา หลังจากพรรคเพื่อไทยประกาศความต้องการเก้าอี้ประธานสภาเพียงไม่กี่นาที และนัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 2 กรกฎาคม ซึ่งเป็นการไม่เปิดโอกาสใดๆทั้งสิ้น เนื่องจากจะมีรัฐพิธี ในวันที่ 3 กรกฎาคม และเลือกประธานสภาในวันที่ 4 กรกฎาคมแล้ว

"พรรคก้าวไกลพร้อมรับกับทุกเหตุการณ์โดยไม่หวั่นไหว ซึ่งหากพรคก้าวไกลไม่ได้เป็นประธานสภา นั่นหมายความถึงพรรคก้าวไกลจะกลายเป็นฝ่ายค้าน และพรรคเพื่อไทยคือผู้ที่ฉีก MOU" อ.ธนพรกล่าว

โดยตั้งแต่ปี 2531 เป็นต้นมา เรายึดธรรมเนียมที่พรรคอันดับ1 ต้องได้เก้าอี้นายกรัฐมนตรี และประธานสภามาโดยตลอด ซึ่งถือเป็นความชอบธรรม ส่วนกรณีปี 2562 ที่นายชวน หลีกภัย ได้เก้าอี้ประธานสภานั้น ก็เกิดจากความยินยอมของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นอันดับ1

อ.ธนพรมองว่า พรรคเพื่อไทยทำเรื่องนี้เพื่อเป็นเงื่อนไขในการฉีก MOU ไม่สามารถนำเรื่องคะแนนเสียงที่ห่างกัน 10 เสียงมาเป็นข้ออ้างได้ เปรียบเช่นกีฬาฟุตบอล ที่แพ้ก็คือแพ้ ส่วนการที่พรรคเพื่อไทยออกมายืนยันว่า หากคุณพิธาประสบอุบัติเหตุทางการเมือง พรรคเพื่อไทยก็จะยังคงจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคก้าวไกลนั้น คำถามคือจะหาเสียงโหวตของส.ว.มาจากไหน เมื่อวันนี้ ส.ว.ไม่ยอมรับพรรคก้าวไกล

ดังนั้น หากพรรคเพื่อไทยเป็นนายกฯ ถึงอย่างไรก็ต้องข้ามขั้ว และแม้จะต้องเผชิญกับเสียงวิจารณ์แต่พรรคเพื่อไทยเองมีความจำเป็น 2เรื่อง ที่ต้องก้าวเดินเช่นนี้ คือการพานายทักษิณ ชินวัตรกลับบ้าน และ การขึ้นรถไฟขบวนสุดท้ายให้ได้ เนื่องจากหากนายทักษิณได้กลับบ้านแล้ว ตระกูลชินวัตร อาจต้องวางมือทางการเมือง และพรรคเพื่อไทยต้องบริหารจัดการด้วยตัวเองกันต่อไป

 

ฉะนั้นการจัดประชุมของพรรคก้าวไกล และพรรคร่วมในวันที่ 2 ก.ค. หากผลการประชุมออกมาว่าให้ฟรีโหวตประธานสภา หรือพรรคเพื่อไทยไม่ยอมยกเก้าอี้ประธานสภาให้พรรคก้าวไกล อ.ธนพรมองข้ามช็อตไปว่า เมื่อพรรคเพื่อไทยได้เก้าอี้ประธานสภา การโหวตนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯจะไม่ผ่าน

พรรคเพื่อไทยจะมีความชอบธรรมในการเสนอ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ โดยพรรคเพื่อไทยต้องมีความชัดเจนว่า ไม่รวมกับพรรคก้าวไกลจึงจะได้เสียงโหวตจากส.ว. ซึ่งการโหวตเลือกนายกใหม่นี้ สามารถดำเนินการได้ในวันรุ่งขึ้น โดยที่มีกระบวนพูดคุยเพื่อการรวบรวม 376เสียงนอกรอบมาก่อนแล้ว 

นายเศรษฐา ทวีสิน

สูตรจัดตั้งรัฐบาลใหม่ จะประกอบไปด้วยพรรคประชาธิปัตย์ ,พรรคภูมิใจไทย และพรรคพลังประชารัฐ เพื่อให้ได้เสียงสนับสนุนจาก ส.ว. ส่วนพรรคก้าวไกลจะกลายเป็นฝ่ายค้าน แต่แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะยอมยกเก้าอี้ประธานสภาให้พรรคก้าวไกลก็ตาม แต่เส้นทางของนายพิธาก็ยังมีอุปสรรคอีกมาก

สำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้าจะมีความสำคัญ เนื่องจากส.ว.ชุดปัจจุบันก็จะหมดวาระลง และไม่มีอำนาจโหวตนายกฯ ส่วนการดำเนินงานของรัฐบาลใหม่อาจมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปรับเปลี่ยนกฎกติกาหลายอย่าง 

ด้านพรรคก้าวไกลที่เป็นฝ่ายค้านก็ย่อมทำหน้าที่ตรวจสอบอย่างเต็มที่ ทำให้การเลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็นการแข่งขันอย่างเข้มข้น และพรรคที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ไม่ว่าในฐานะฝ่ายค้าน หรือฝ่ายรัฐบาล พรรคนั้นก็จะได้รับชัยชนะเพิ่มมากขึ้นในการเลือกตั้งครั้งหน้า