กลายเป็นประเด็นร้อนที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ สำหรับตำแหน่ง “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” ระหว่าง พรรคก้าวไกล และ พรรคเพื่อไทย
การประชุม 8 พรรคร่วมรัฐบาล ในวันที่ 3 กรกฎาคมนี้ ที่พรรคก้าวไกล เป็นเจ้าภาพ ไม่ได้มีกาหารือเรื่องนี้ในวงประชุมแต่อย่างใด มีแจ้งเพียงแค่ว่าอยู่ระหว่างคณะเจรจา 2 พรรคกำลังพูดคุยกันอยู่ และต้องรอพรรคเพื่อไทยกลับไปหารือกันภายในพรรคอีกครั้ง
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงถึงข้อสรุปเรื่องตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ระหว่างพรรคก้าวไกล กับ พรรคเพื่อไทย ว่า ที่ประชุม 8 พรรค มีการพูดคุยกันบ้างเล็กน้อย ซึ่งทุกอย่างเป็นไปด้วยดีและมีความคืบหน้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ต้องให้เกียรติพรรคที่ยังต้องมีการพูดคุยกันอยู่
ส่วน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า คณะเจรจา 2 ฝ่าย ได้แจ้งความคืบหน้าในการหารือกันอย่างไม่เป็นทางการให้ที่ประชุมรับทราบ แต่เนื่องจากพรรคเพื่อไทยมีกระบวนการทำงานหลากหลายของคนที่มาทำงานร่วมกันมากมาย และมีความเห็นต่างมากกับการทำงานภายในพรรคที่ต้องอาศัยข้อบังคับพรรค ซึ่งเป็นกระบวนการภายใน และเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องฟังความเห็นของสมาชิกพรรค เราจึงแจ้งต่อที่ประชุมในวันเดียวกันนี้ว่าจะต้องมีการเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของพรรคเพื่อไทย เป็นการภายในในวันที่ 3 ก.ค.นี้
พท.ต้องได้ประธานสภา
ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2566 พรรคเพื่อไทย (พท.) ได้มีการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) และประชุม ส.ส.ของพรรค ก่อนที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค จะออกมาแถลงว่า ที่ผ่านมาคณะเจรจาได้นำเสนอหลักการ 14+1 ต่อกก.บห. โดยสรุปคือ คณะกรรมการเจรจาจะไปหารือกับพรรคก้าวไกล ถึงตำแหน่งประธานสภาฯ ร่วมกับตำแหน่งรัฐมนตรี
“ที่ผ่านมาเรายืนยันสูตร 14+1 คือ พรรคก้าวไกลได้ 14+1 คือ นายกฯ ส่วนพรรคเพื่อไทย 14+1 คือ ประธานสภาฯ เราเห็นควรยืนสูตร 14+1 เหมือนเดิม ให้คณะเจรจาของพรรคไปเจรจาตามหลักการเดิมที่เคยเสนอตอนแรก โดยพรรคเพื่อไทยควรได้ตำแหน่งประธานสภาฯ” นพ.ชลน่าน ระบุ
ก้าวไกลไม่ปล่อยปธ.สภา
ต่อมาวันที่ 29 มิ.ย. 2566 พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ออกมากล่าวถึงการต่อรองเก้าอี้ ครม.สูตรพรรคก้าวไกล 15+1 กับ พรรคเพื่อไทย 13+1 เพื่อแลกกับเก้าอี้ประธานสภา ว่า เป็นสูตรที่พูดกัน เท่าที่ตนทราบส่วนตัว
“เรามุ่งมั่นเรื่องการดำเนินนโยบายให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชนเป็นส่วนใหญ่ เรื่องตำแหน่งแห่งหน เราพร้อมที่จะผลักดันประเด็นที่เราต้องการสู่ประชาชนให้มากที่สุด ถึงแม้เราอาจจะได้โควต้าน้อยกว่าก้าวไกลก็พร้อมที่จะเดินทางไปด้วยกัน”
เมื่อถามว่ายืนยันว่าต้องได้ตำแหน่งประธานสภา ก่อนใช่หรือไม่ พล.ต.ต.สุพิศาล กล่าวว่า “ใช่ ตำแหน่งประธานสภาเราเปิดตัว และเราพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงสภาให้ดูดี และเปิดเผย ตามที่นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก เขต 1 พรรคก้าวไกล ได้พูดไว้ เราเตรียมงานนี้มานานแล้ว ไม่ใช่เราเพิ่งมาเตรียม”
ส่วนที่มีกระแสข่าวว่าถ้าพรรคก้าวไกลได้ตำแหน่งประธานสภา หากโหวตเลือก นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ไม่ได้ ก็จะโหวตต่อไปจน ส.ว.หมดวาระในเดือน พ.ค. 2567 เรื่องนี้เป็นไปได้หรือไม่ พล.ต.ต.สุพิศาล กล่าวว่า ก็เป็นไปตามข้อบังคับ อยู่ที่ข้อบังคับ เพราะว่าการเป็นประธานสภานั้น คือการจัดวาระและเรียกประชุมบรรดาสมาชิกรัฐสภา ในแต่ละวงรอบและเป็นการควบคุมการทำหน้าที่อย่างเป็นกลางให้กับรัฐสภา ทั้ง 2 ฝ่าย
“เชื่อว่าคนที่เราส่งไปเป็นประธานสภา จะทำหน้าที่เป็นกลางอย่างดีที่สุด เพื่อทำให้เกิดการผลัดเปลี่ยนของการเข้าสู่หลักประชาธิปไตยอย่างเต็มรูปแบบแน่นอน”
เปิดช่องคนกลางเสียบ
รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการด้านกฎหมาย เปิดเผยถึงปัญหาการแย่งชิงตำแหน่งประธานสภา ของ 2 พรรคดังกล่าวว่า ต้องจับตาเรื่องนี้ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไปกับทั้ง พรรคเพื่อไทย และ พรรคก้าวไกล ในฐานะพรรคที่มีคะแนนเสียงข้างมาก โดยส่วนตัวมองว่ากรณีดังกล่าวอาจออกได้ถึง 3 หน้า ดังนี้
หน้าที่ 1 รอข้อสรุป นั่นคือ การคุยกันระหว่างพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ส่วนพรรคร่วมอื่น ๆ ก็คงต้องรอให้ทั้งสองพรรคหาข้อสรุปให้ได้ โดยที่พรรคต่าง ๆ ก็คงของดการออกเสียงเอาไว้ก่อน
หน้าที่ 2 เสนอแข่งกัน นั่นคือ กรณีทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ยืนยันต้องการตำแหน่งเก้าอี้ประธานสภา ก็อาจเสนอแข่งกัน โดยมีแค่ 2 ชื่อ ส่วนพรรคร่วมอื่น ๆ ก็ต้องไปคุยกันในพรรคว่าจะเลือกใคร
หน้าที่ 3 ฟรีโหวต นั่นคือ หากเกิดกรณีขึ้นแต่ละพรรคสามารถเสนอชื่อประธานสภา และไปแข่งกัน โดยกรณีนี้สามารถเสนอใครมาก็ได้ ทั้ง 8 พรรคร่วมเอง หรืออาจจะมีชื่อของพรรคฝั่งตรงข้าม ซึ่งกรณีนี้เคยเกิดขึ้นมาในอดีตแล้ว
รศ.ดร.เจษฎ์ ยอมรับว่า ไม่ว่าจะเป็นการเลือกด้านไหน จะมีความวุ่นวายไปคนละอย่าง และน่าจะเป็นข้อตื่นกลัวของพรรคก้าวไกล ถ้าเกิดการเลือกหน้าที่ 2 หรือที่ 3 ขึ้น เพราะพรรคอื่น ๆ อาจตัดสินใจเลือกให้คนของพรรคเพื่อไทย ส่วนหน้าที่ 3 เชื่อว่าจะกระจัดกระจายมาก จนไม่รู้ใครเลือกใครเสนอใคร ดีไม่ดีอาจออกมาเป็นว่าเสนอคนกลางเข้าไปแทนก็ได้
“จริง ๆ แล้ว ตำแหน่งประธานสภาเป็นผลสะท้อนอย่างหนึ่งว่า เสียงที่จะจับกันเป็นเสียงข้างมากในสภาที่จะเลือกตำแหน่งนายกฯ แต่ไม่ได้แปลว่าประธานสภาจะเป็นคนกำหนด เพราะท้ายที่สุดเสียงข้างมากมาเลือกใครเป็นประธานสภา ก็เป็นเสียงข้างมากชุดเดิมที่จะเลือกนายกฯ ไม่ได้อยู่ที่ประธานสภาว่า เมื่อเป็นประธานสภาเสร็จแล้ว จะมาชี้ว่าต้องเลือกคนนี้เป็นนายกฯ หรือกันไม่ให้เลือกนายกฯ คนนี้ แต่ดันบังเอิญว่าเป็นเสียงชุดเดียวกัน”
12 ก.ค.ต้องได้ปธ.สภา
ขณะที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรอบเวลาการเลือกประธานสภา ว่า การเลือกประธานสภาต้องประชุมเลือกให้ได้ภายใน 10 วัน นับแต่วันเสด็จเปิดรัฐสภา ในวันที่ 3 ก.ค. หรือไม่เกินวันที่ 12 ก.ค. และไม่มีเหตุที่จะเลือกกันไม่ได้ เพราะไม่เหมือนการเลือกนายกฯ ที่ต้องใช้คะแนนเสียงเกิน 376 ของ 2 สภา แต่การเลือกประธานสภาใช้สภาเดียว และใช้เสียงข้างมากของ ส.ส.ก็สามารถทำได้
ส่วนการเสนอชื่อประธานสภาสามารถเสนอชื่อแข่งขันมากกว่า 2 คนได้หรือไม่ นายวิษณุ ตอบว่า จะเสนอแข่ง 5 คนก็ได้ และใช้เสียงข้างมากของ ส.ส.ในการตัดสิน ตนจึงขอย้ำว่าโอกาสที่จะเลือกไม่ได้จึงไม่น่าจะเกิดขึ้น หาก 2 พรรคคะแนนเสียงต่างกันใครชนะก็ได้
ทั้งนี้หากพรรคอันดับ 1 อันดับ 2 เสนอชื่อแข่งกัน และหากมีกลุ่มพรรคขั้วที่ 3 ที่มี 188 เสียง เสนอแข่งมีโอกาสส้มหล่นได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่เห็นเหตุที่จะเกิดขึ้น เพราะตอนนั้นต้องเสนอไปพร้อมกัน พรรคหนึ่งก็เสนอ พรรคสองก็เสนอ และกลุ่มพรรคขั้วที่ 3 อยากจะเสนอก็เสนอไป 3 คน แล้วก็โหวตแข่งกัน เพราะอาจต้องมีการแสดงวิสัยทัศน์ หรือ ไม่ต้องก็ได้ ขึ้นอยู่กับมติสภา แต่หากมีแล้วฟังไม่หมดก็เลื่อนไปโหวตต่อในวันถัดไปก็ได้
เมื่อถามว่าตามหลักการประธานสภาในฐานะประธานรัฐสภาเป็นผู้มีอำนาจควบคุมการเลือกนายกฯ หรือ เป็นเรื่องของมติที่ประชุมรัฐสภา นายวิษณุ กล่าวว่า ประธานสภามีหน้าที่กำหนดวันโหวตนายกฯ ถึงเวลาจะเลือกกันอย่างไร มีกี่ชื่อก็เป็นเรื่องของสมาชิกรัฐสภา
เมื่อถามว่าหากการโหวตนายกฯ ไม่ถึง 376 เสียง จะต้องทำอย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า ก็เป็นเรื่องของประธานสภาที่ต้องดำเนินการ และไม่มีกรอบเวลา จะวันรุ่งขึ้น หรือ 7 วัน หรือ 15 วันก็ได้ โดยให้สมาชิกกลับไปคิด
เมื่อถามว่าสุดท้ายแล้วอำนาจของประธานสภาแค่กำหนดวันในการเลือกนายกฯ ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า สำหรับตอนช่วงเลือกนายกฯ แต่เขาไม่ได้แย่งตำแหน่งกันเกี่ยวกับการเรื่องนายกฯ หรอก เขาต้องการเอาตำแหน่งประธานสภาเพื่อทำหน้าที่อื่นๆ ต่อไปด้วย ทั้งเรื่องกฎหมาย กระบวนการต่างๆ การนัดวันประชุม
เพราะจบเรื่องการเลือกนายกฯ แล้ว ได้นายกฯแล้ว ประธานก็ยังมีอำนาจ แต่ไม่ได้มีอำนาจยิ่งใหญ่ไพศาลอย่างที่ นายชวน หลีกภัย อดีตประธานรัฐสภา พูด ชี้เป็นชี้ตายอะไรไม่ได้ เพราะบางอย่างประธานสภาตัดสินใจเองได้ บางอย่างก็ต้องอยู่ภายใต้เสียงข้างมาก และอำนาจอีกอย่างของประธานสภาคือ เปิด และปิดประชุม
เมื่อถามว่าจึงเป็นเหตุที่พรรคก้าวไกลอยากได้ตำแหน่งประธานสภาใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ ตนไม่ทราบว่าเขาอยากได้เพราะอะไร แต่แน่นอนถ้าใครได้ก็ดีทั้งนั้น