วันที่ 2 ก.ค.2566 นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊คไลฟ์ประเทศไทยต้องมาก่อน ตอน "อ่านให้ขาด" โดยระบุว่า พรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลไม่อาจหาข้อยุติในตำแหน่งประธานสภาได้ ดังนั้น หลังวันที่ 4 ก.ค. ข้อตกลงพรรค MOU จำนวน 312 เสียงคงต้องเลิกลา สิ้นสุดพันธะจับมือร่วมตั้งรัฐบาล
"การพบกันของ 8 พรรคการเมืองเมื่อ 2 ก.ค. นี้ อาจเป็นการประชุมกันครั้งสุดท้ายก็ได้ เพราะการหารือในวันดังกล่าวไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง และยังไม่มีข้อยุติกับตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยพรรคเพื่อไทยขอไปหารือกับ ส.ส.ของพรรคก่อน และวันที่ 3 ก.ค. ก่อนเที่ยงจะส่งผลสรุปให้พรรคก้าวไกล ซึ่งคาดเป็นการแจ้งผลให้ทราบเท่านั้น และไม่มีอะไรเป็นที่ยุติได้แน่ชัดตามเคย"
นายจตุพร กล่าวว่า พรุ่งนี้ (3 ก.ค.) ก่อนเที่ยง พรรคเพื่อไทยบอกจะส่งผลหารือของพรรคให้พรรคก้าวไกล แต่คาดว่าผลลัพธ์ยังไม่เปลี่ยนแปลงอะไรทั้งสิ้น ดังนั้น เพื่อไทยคงต้องบอกให้ก้าวไกลรู้ว่า 4 ก.ค.ต้องเสนอชื่อประธานสภาเข้าแข่งขันกับก้าวไกล โดยอาจเสนอนายชูศักดิ์ ศิรินิล หรืออาจเป็นคนอื่นก็ได้
"แต่พรรคเล็กจะเสนอนายสุชาติ ตันเจริญ เข้าแข่งขันร่วมด้วย ผลลัพธ์ที่ออกมาก็ยังเหมือนเดินคือ นายสุชาติ เป็นประธานสภา"
นายจตุพร กล่าวว่า การเสนอชื่อนายสุชาตินั้น จะมีผลต่อการตรวจสอบเสียงงูเห่าที่จะแยกตัวไปลงเสียงให้นายสุชาติ เมื่อนำไปรวมกับฝ่าย 188 เสียงแล้วจะเกิน 251 เสียงในการตั้งรัฐบาลหรือไม่ เพราะการตรวจสอบเสียงจำนวนนี้จะส่งผลต่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพลังประชารัฐ ต้องเข้าชิงในตำแหน่งนายกฯ ด้วย
"แม้เพื่อไทยจะหาทางออกที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด เนื่องจากไม่เสนอนายสุชาติ แข่งชิงประธานสภาก็ตาม แต่การไม่ยอมกันของเพื่อไทยกับก้าวไกลนั้น นำไปสู่การโหวตลับได้นายสุชาติ จากการเสนอของพรรคเล็ก ซึ่งผลลัพธ์ไม่เปลี่ยนเลย เมื่อสองพรรคลงเอยกันไม่ได้ ดังนั้น หลังวันที่ 4 ก.ค.ย่อมเป็นวันแยกตัวของพรรค MOU”
นายจตุพร กล่าวว่า การหารือทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยนั้น ยึดมั่นแต่กิเลสทางการเมืองล้วนๆ จึงเท่ากับเป็นการหักล้างหลักการทางการเมืองให้กระจุยกระจายไป ด้วยเหตุนี้ พรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทยจึงยากที่จะรอมชอมจับมือกันร่วมรัฐบาลได้อีกต่อไป
“การแสดงออกของนักการเมืองนั้น มักโชว์หลักการการเมืองเสมอ แต่พฤติกรรมกลับยึดมั่นกิเลสที่เจ้าของพรรคสั่งการมา ดังนั้น จึงทำให้ผลลัพธ์ไม่เปลี่ยนไปจากนายสุชาติ ในตำแหน่งประธานสภา”