จากกรณีที่ นายสยามราช ผ่องสกุล ผู้มีส่วนได้เสียและเป็นผู้ถือหุ้นของปตท. , GGC ได้ทำหนังสือถึง ประธานบอร์ด ปตท. และประธานบอร์ด PTTOR ให้ตั้งกรรมการตรวจสอบ ขอให้ความสะดวก และให้ความร่วมมือแก่เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) , ก.ล.ต. และหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐในการสืบสวนสอบสวนผู้กระทำผิด ห้ามมิให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดเข้าไปเกี่ยวข้องกับพยานหลักฐาน ห้ามเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจในเรื่องที่ถูกกล่าวหา และดำเนินคดีกับ ผู้บริหาร PTTOR และ GGC ใน 3 เรื่องหลักๆ คือ
เรื่องแรก มีการแทรกแซงครอบงำองค์กร และเข้าข่ายการฮั้วหรือสมยอมราคาในการกำหนดราคาน้ำมัน B100 การยินยอมลดราคาน้ำมัน B 100 การกดดันผู้ค้ารายอื่นยินยอมขาย B100 ในราคาที่ต่ำและขาดทุน ทำให้ PTT.OR ได้กำไรจากส่วนต่างเป็นเงินจำนวนมาก
เรื่องที่สอง ผู้บริหารของ บริษัท ไทยโอลีโอเคมี จำกัด (TOL) (บริษัท GGC ก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์ ) ร่วมกันกระทำความผิด กับบริษัทเอกชน และร่วมกันปกปิดการกระทำความผิด (ระหว่างปีพ.ศ. 2550 – 2552) ปรากฏหลักฐานรายงาน/บันทึกข้อความเรื่อง การจัดซื้อวัตถุดิบ และการขายผลิตภัณฑ์ในปี 2550 – มีนาคม 2552 ของบริษัท ปตท.เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ลงวันที่ 5 พฤษภาคม 2552
มีผลขาดทุนจากการซื้อวัตถุดิบที่มีราคาสูงกว่าราคาประกาศกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ 172 ล้านบาท มีการขายผลิตภัณฑ์ที่มีราคาขายต่ำกว่าราคาตลาดประมาณ 142 ล้านบาท รวมผลขาดทุนประมาณ 314 ล้านบาท ซึ่งผู้บริหารของ GGC กับบริษัทเอกชน เป็นกลุ่มเดียวกันที่เคยทำผิดเมื่อปี พ.ศ.2550 – 2552
เรื่องที่สาม เป็นเรื่อง ปตท. ร่วมกับ GGC จ่ายเงินค่าน้ำมันทิพย์ หรือน้ำมันล่องหน หลายร้อยล้านบาทโดยไม่มีการส่งสินค้า แม้แต่หยดเดียว ระหว่างเดือนมีนาคม 2561 ถึงเดือนพฤษภาคม 2561
มีการทำสัญญาซื้อขายน้ำมันน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ในเดือนมีนาคม พ.ศ.2561 มีการวางบิลช่วงเดือนเมษายน พ.ศ. 2561 ครบกำหนดจ่ายเงินเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2561 ปรากฏว่า ไม่ได้ส่งน้ำมันให้ เนื่องจากคุณภาพของสินค้าไม่ได้มาตรฐาน
การกระทำดังกล่าว ทำให้ บริษัท ปตท.ได้รับความเสียหาย และอาจมีการกระทำเช่นว่านี้หลายครั้งหลายหน และอาจเข้าข่ายเป็นการฉ้อโกง
และกรณีที่มีการจ่ายเงินโดยไม่มีการส่งสินค้า มีการปลอมเอกสาร และใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264 , 268 อีกด้วย และจนกระทั่งถึงปัจจุบันผู้บริหารได้ร่วมกันปกปิดการกระทำความผิดช่วยเหลือผู้กระทำความผิดไม่ให้ต้องได้รับโทษ และปกปิดข้อเท็จจริงผู้ถือหุ้น อันเป็นความผิดตามกฎหมาย
แหล่งข่าวในปตท. เปิดเผยว่า ในเรื่องดังกล่าวมีการฟ้องร้องดำเนินคดีแพ่งเพื่อตัดตอนคดีอาญา ซึ่งในกรณีนี้การกระทำความผิดทางอาญาได้เกิดขึ้นแล้ว และเป็นความผิดสำเร็จแล้ว การฟ้องร้องในคดีแพ่งไม่อาจทำให้คดีอาญาระงับได้
ทั้งมีการกระทำในลักษณะเช่นว่านี้อีกหลายครั้งหลายหน ต่างกรรมต่างวาระทำให้ ปตท. ได้รับความเสียหายกว่า 600 ล้านบาท ระหว่างปี 2560 -2562 และสามารถตรวจสอบได้โดยง่าย
ต้องจับตาดูให้ดีว่าผู้บริหารคนปัจจุบันมีใคร มีความเกี่ยวพันกับคดีฉ้อโกง หรือ คดีฟอกเงินหรือไม่ และมีการกระทำใด ๆ อันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับ GGC และผู้บริหาร GGC หรือไม่