วันนอร์ เผยไทม์ไลน์โหวตเลือกนายกฯ 13 ก.ค.นี้

11 ก.ค. 2566 | 07:50 น.
อัพเดตล่าสุด :11 ก.ค. 2566 | 10:15 น.

"วันนอร์" เผยไทม์ไลน์โหวตลงมติเลือกนายกฯ 13 ก.ค.นี้ ก่อน 5 โมงเย็น ระบุ เปิดโอกาสให้ ส.ส.-ส.ว. อภิปราย 6 ชม. พร้อมปัดตอบชงชื่อ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" แคนดิเดตพรรคก้าวไกลรอบ 2 ชี้รอดูโหวตรอบแรกก่อน 

หลังการประชุมร่วมกันกับตัวแทน คณะกรรมาธิการสามัญกิจการวุฒิสภา หรือ วิปวุฒิสภา และตัวแทนจากพรรคการเมือง เพื่อเตรียมความพร้อม และทำความเข้าใจในการประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 13 กรกฎาคมนี้ เพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา เปิดเผยว่า ที่ประชุมฯ มีความเห็นร่วมกันจะทำให้การประชุมดังกล่าว เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ คาดว่า น่าจะมีการลงมติเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีได้ในช่วงเวลาประมาณ 17.00 น. อย่างไรก็ดี ก่อนการจะมีการลงมตินั้นจะมีการเปิดโอกาสให้ ส.ส. และ ส.ว.อภิปรายก่อน

โดยแบ่งเป็นเวลาของ วุฒิสภา 2 ชั่วโมง และ ส.ส.ทุกพรรครวมกัน 4 ชั่วโมง โดยไม่กำหนดเวลาของ ส.ส.ผู้ที่จะอภิปรายแต่ละคน และหากมีการพาดพิง ก็สามารถชี้แจงได้ในกำหนดเวลาที่เหมาะสม 

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา

ส่วนการเปิดโอกาสให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้ที่ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล สนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี แสดงวิสัยทัศน์ก่อนการลงมติหรือไม่นั้น

นายวันมูหะมัดนอร์ ชี้แจงว่า ตามขั้นตอนจะมีการเสนอชื่อบุคคล ที่มีคุณสมบัติตามที่รัฐธรรมนูญ และ กกต.กำหนด และพรรคการเมืองสนับสนุนเป็นนายกรัฐมนตรีต่อที่ประชุมรัฐสภาก่อน จากนั้นจะมีการอภิปรายโดย ส.ส. และ ส.ว. ซึ่งก่อนที่จะมีการลงมติก็สามารถอภิปรายถึงความเหมาะสม คุณสมบัติ และเรื่องต่าง ๆ ได้

เมื่อการอภิปรายเสร็จสิ้นแล้วก่อนมีการลงมติ หากมี ส.ส. หรือ ส.ว.เสนอให้ผู้ได้รับการเสนอชื่อแสดงวิสัยทัศน์ ก็จะต้องขอมติจากที่ประชุมก่อน เนื่องจาก ข้อบังคับการประชุมไม่ได้กำหนดขั้นตอนนี้ไว้

นายวันมูหะมัดนอร์ ยังปฏิเสธที่จะกล่าวถึงกรณีที่หากรัฐสภาไม่สามารถลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีได้ในครั้งแรกในการประชุมเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งถัดไปจะสามารถเสนอชื่อนายพิธาได้อีกหรือไม่ว่า เนื่องจากยังไม่สามารถทราบได้แน่ชัดว่า การลงมติครั้งแรกผลจะเป็นอย่างไรซึ่งหากไม่ผ่านก็จะต้องมาพิจารณาอีกครั้ง โดยยึดรัฐธรรมนูญ ข้อบังคับการประชุม และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ความเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดินในอดีต และหน่วยงานที่เกี่ยวมาพิจารณาว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร

ทั้งนี้ จึงขอให้การประชุมฯ ครั้งแรกผ่านพ้นไปก่อนหากยังไม่ได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ รัฐสภาก็จะต้องดำเนินการหาตัวบุคคลมาเป็นนายกรัฐมนตรีให้ได้เพราะเป็นหน้าที่ของรัฐสภา 

อย่างไรก็ดี นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวยืนยันว่า ไม่รู้สึกกังวลต่อการอภิปรายบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของที่ประชุมรัฐสภา เนื่องจากมีข้อบังคับการประชุมกำกับไว้แล้ว จึงไม่น่าจะมีความวุ่นวายใด ๆ

เช่นเดียวกับการมีมวลชนมาติดตามการประชุมในวันดังกล่าว ซึ่งมีมาตรการในการดูแลรักษาความปลอดภัยของ ส.ส. และ ส.ว. รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐสภา ที่มาปฏิบัติหน้าที่ และในวันนี้ (11 ก.ค.) ตนได้นัดประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อกำหนดแนวทางการปฏิบัติหลังจะมีการประกาศสถานการณ์การชุมนุมสาธารณะให้ผู้ที่จะมาชุมนุมต้องปฏิบัติตามกติกา และกฎหมาย ซึ่งเจ้าหน้าที่จะช่วยอำนวยความสะดวก และดูแลความปลอดภัยให้

รวมถึงจะมีการถ่ายทอดระบบภาพ และเสียงการประชุมไปยังสถานที่ที่กรุงเทพมหานคร จะจัดไว้รองรับให้ โดยหวังว่า การประชุมในวันที่ 13 กรกฎาคมนี้ เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ รวมถึงยังหวังว่า ทุกพรรคการเมืองที่จะนำมวลชนมาส่วนหนึ่งไปพูดคุยกับมวลชนให้เข้าใจตรงกัน และเชื่อในเจตนาดีของประชาชน ที่ต้องการเห็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และเห็นการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง

พร้อมเชื่อว่าหากเกิดเหตุความวุ่นวายทำให้การประชุมไม่เรียบร้อย ก็จะทำให้การได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ล่าช้า และกระทบต่อความเชื่อถือของประเทศ กระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศด้วย จึงขอให้มวลชนคิดให้หนัก 

ส่วนกรณีที่มีสมาชิกวุฒิสภาเสนอให้มีการเลื่อนการประชุมรัฐสภา เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีออกไปก่อนนั้น มองว่ายังไม่สามารถให้คำตอบได้เพราะจะต้องรอดูในวันประชุมจริงก่อนว่าจะมีการเสนอหรือไม่

วันนอร์ เผยไทม์ไลน์โหวตเลือกนายกฯ 13 ก.ค.นี้