ภายหลังพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล 14 พรรค 314 เสียง และได้รับคะแนนโหวตสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภา ให้นายเศรษฐา ทวีสิน ได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ด้วยคะแนน 482 เสียง
"รัฐบาลเศรษฐา" โดยพรรคเพื่อไทยครั้งนี้ เป็นส่วนผสมของหลายพรรคการเมือง และเป็นการสลายขั้ว เกิด"รัฐบาลปรองดอง" บ้างมองว่านี่คือจุดเริ่มต้นอันดีของการยุติความขัดแย้งที่เคยสะสมมาถึง 17 ปี นับจากเหตุการณ์รัฐประหารนายทักษิณ ชินวัตร เมื่อ 19 กันยายน 2549
ฐานเศรษฐกิจ สัมภาษณ์พิเศษ รศ.ดร.โคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชน และสันติศึกษา ต่อปรากฎการณ์ "รัฐบาลปรองดอง" ในครั้งนี้ อ.โคทมให้ความเห็นว่า แม้จะมีการจัดตั้งรัฐบาลสลายขั้วเช่นนี้ แต่ก็ยังไม่ได้ทำให้ประเทศเกิดความปรองดองขึ้นแต่อย่างใด
เนื่องจากเป็นเพียงการประกาศด้วยวาจาเท่านั้น หากไม่มีการพิสูจน์ความจริงใจ ไม่มีกิจกรรมหรือการกระทำ รวมทั้งการพูดคุยกับผู้ที่ควรต้องพูดคุย การปรองดองย่อมไม่สามารถเกิดขึ้นได้
ที่ผ่านมาประเทศไทยเคยผ่านการประกาศเจตนารมณ์เรื่องการปรองดองมาหลายครั้งแล้ว หากจะมีการประกาศอีกครั้งก็ไม่เป็นอะไร แต่หากครั้งนี้สามารถทำตามที่พูดได้ก็จะเป็นนิมิตรหมายที่ดีต่อไป
หากจะเกิดการปรองดองได้จริงนั้น จะต้องมีการคลี่คลายในสถานการณ์ต่างๆ เริ่มต้นจากกรณีนายทักษิณ ที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และอาจมีการขอพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งนายทักษิณ ควรทำตามที่เคยกล่าวไว้ว่า ต้องการกลับมาเลี้ยงหลานเนื่องจากอายุมากแล้ว และควรวางมือทางการเมือง
แต่นอกจากนั้นยังมี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของนายทักษิณที่ยังอยู่ในต่างประเทศ ซึ่งอาจจะรอกลับประเทศไทย รวมถึงอดีตรัฐมนตรีและบุคคลอื่นๆ ซึ่งหากต้องโทษอยู่ อาจต้องการได้รับการอภัยโทษ หรือผู้ที่พ้นโทษมาแล้วก็อาจต้องการการล้างมลทินเนื่องจากมองว่าตนเองได้รับโทษเพราะสาเหตุทางการเมือง
กระบวนการเหล่านี้ หากทำได้ดีก็อาจช่วยลดความตึงเครียดของสถานการณ์ลงได้ โดยต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง พร้อมทั้งต้องมีการอธิบายต่อมวลชนทุกฝ่าย เพื่อให้เกิดความเข้าใจในเหตุผลของการดำเนินการ
อ.โคทม ยังได้กล่าวถึง การตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า อาจเป็นอีกชนวนเหตุของความขัดแย้ง หากไม่สามารถจัดสรรตำแหน่งได้อย่างเหมาะสมลงตัว ซึ่งสิ่งสำคัญควรพิจารณาถึงความสามารถของบุคคลที่เหมาะสมกับงาน และสามารถขับเคลื่อนนโยบายสำคัญให้ประสบความสำเร็จ
ต้องเกิดความปรองดองระหว่างรัฐมนตรีด้วยกัน สามารถทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ และหน้าตาของคณะรัฐมนตรีต้องทำให้ประชาชนยิ้มออก ไม่ควรมีรัฐมนตรีที่ประชาชนร้องยี้ และเพื่อให้เกิดความปรองดองควรต้องมีการพูดคุยกันถึงการขับเคลื่อนนโยบาย
ตัวอย่างเช่น นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ว่าจะจัดสรรงบประมาณอย่างไร หรือนโยบายค่าแรง 600 บาท ภายในปี 2570 และเงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท สิ่งเหล่านี้ต้องพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาล ว่าจะดำเนินการตามที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงได้อย่างไร
สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อ.โคทม มีความเห็นว่า ควรต้องแถลงให้ประชาชนรับทราบถึงรายละเอียดอย่างชัดเจน ว่าจะเป็นการแก้ไขทั้งฉบับ หรือเว้นไว้ในบางมาตรา
ซึ่งมีผลต่อความจำเป็นในการทำประชามติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อนหน้า ในเรื่องนี้ควรต้องมีความชัดเจนเพื่อ ให้ประชาชนเกิดความไว้วางใจในรัฐบาลว่า พูดจริงทำจริง พูดเช่นไรทำเช่นนั้น ก็จะช่วยให้ความกินแหนงแคลงใจต่อรัฐบาลลดลง
อ.โคทม กล่าวทิ้งท้าย ถึงความหวังในการสร้างความปรองดองครั้งนี้ว่า ดังที่นายเศรษฐาได้กล่าวถึงการสร้างความปรองดองก้าวข้ามความขัดแย้ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นับเป็นเรื่องที่ดี และหวังว่า
จะไม่ใช่เป็นเพียงโวหาร อันไพเราะเท่านั้น
รวมถึงการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้ประกาศว่าจะทำให้ประสบความสำเร็จ เพื่อไม่ให้ประชาชนต้องรู้สึกว่าผิดหวังแล้วผิดหวังอีก ขอให้ประชาชนได้สมหวังบ้าง